แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยทั้งสามทำบันทึกคำมั่นจะให้รางวัลแก่โจทก์อีกร้อยละ 5 ของเงินส่วนที่จำเลยทั้งสามได้รับเกินกว่า 80,000,000 บาท มีมูลเหตุมาจากปัญหาการกำหนดจำนวนทรัพย์มรดกที่โจทก์รับจะฟ้องให้จำเลยทั้งสาม โดยโจทก์ต้องการกำหนดค่าตอบแทนในการว่าความเพิ่มเติม ซึ่งมีเงื่อนไขที่โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม 2 ข้อ กล่าวคือ จำเลยทั้งสามชนะคดีฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกที่โจทก์รับว่าความให้และเป็นผลให้จำเลยทั้งสามได้รับทรัพย์มรดกเกินกว่า 80,000,000 บาท ค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับดังกล่าวย่อมเกิดจากการว่าความให้จำเลยทั้งสามจนชนะคดี กรณีเป็นการกำหนดค่าจ้างว่าความอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากค่าจ้างว่าความตามปกติ แม้จะเป็นบันทึกข้อตกลงที่จำเลยทั้งสามทำให้โจทก์หลังจากทำสัญญาจ้างว่าความแล้วอีกฉบับหนึ่งต่างหากก็ตาม ก็ไม่มีผลลบล้างลักษณะของนิติกรรมที่จำเลยทั้งสามทำไว้แก่โจทก์ แม้บันทึกที่ทำขึ้นภายหลังจะใช้คำว่า คำมั่นจะให้รางวัล กรณีก็ไม่อาจบังคับตามหลักกฎหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 362 บันทึกคำมั่นจะให้รางวัลดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงเกี่ยวกับค่าจ้างว่าความอีกส่วนหนึ่งเท่านั้น
บันทึกข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่า ค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยทั้งสามขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสามจะได้รับทรัพย์มรดกเกินกว่า 80,000,000 บาทหรือไม่ หากจำเลยทั้งสามไม่ได้รับทรัพย์มรดกหรือได้รับไม่เกินกว่า 80,000,000 บาท โจทก์จึงจะไม่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมจากจำเลยทั้งสาม ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียทางทรัพย์สินในผลแห่งคดีของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกความ แม้ไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย แต่เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพทนายความ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยทั้งสามจะไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้โดยชัดแจ้ง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 166,787,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 60,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นนี้แทนจำเลยทั้งสามจำนวน 20,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยทั้งสามได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้เป็นทนายความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของนายแผน บิดาของจำเลยทั้งสามจากผู้จัดการมรดกของนายแผนเป็นเงินค่าจ้าง 3,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยทั้งสามได้ทำบันทึกว่า จำเลยทั้งสามขอให้คำมั่นต่อโจทก์ว่า หากคดีดังกล่าวชนะและเป็นผลให้จำเลยทั้งสามได้รับเงินมรดกของนายแผนเกินกว่า 80,000,000 บาท โดยคำนวณจากราคาขณะนั้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่จากราคาที่กำหนดไว้ในบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องคดีนี้ไปเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยทั้งสามตกลงจะให้รางวัลแก่โจทก์อีกร้อยละ 5 ของส่วนที่เกินจากจำนวนเงิน 80,000,000 บาท โจทก์ได้ยื่นฟ้องผู้จัดการมรดกของนายแผนต่อศาลชั้นต้น ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2536 ให้จำเลยทั้งสามชนะคดีโดยได้รับส่วนแบ่งมรดกคนละหนึ่งในสิบเจ็ดส่วนของทรัพย์มรดกของนายแผน คู่ความในคดีดังกล่าวมิได้อุทธรณ์ โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 1 เมษายน 2537 ถึงจำเลยทั้งสามระบุว่าโจทก์และคณะทนายได้ใช้ความสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเป็นเวลานาน 4 ปีเศษจนทำให้คดีของจำเลยทั้งสามได้รับชัยชนะและได้รับส่วนแบ่งจากทรัพย์มรดกของนายแผน หากจำเลยทั้งสามได้รับส่วนแบ่งเกินกว่าจำนวน 80,000,000 บาท โดยคำนวณราคาขายตามความเป็นจริงในปัจจุบันไปเป็นจำนวนเท่าใด ขอให้จำเลยทั้งสามแจ้งและติดต่อให้โจทก์ทราบด้วย เพื่อโจทก์จะขอรับเงินรางวัลตามคำมั่นของจำเลยทั้งสามที่ให้แก่โจทก์ไว้ โจทก์จึงขอแจ้งยืนยันมายังจำเลยทั้งสามเพี่อสนองรับคำมั่นของจำเลยทั้งสามที่จะให้รางวัลแก่โจทก์ดังกล่าวมาแล้ว นับตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นต้นไป และโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 17 มกราคม 2538 ถึงจำเลยทั้งสามยืนยันว่าคดีของจำเลยทั้งสามถึงที่สุดและอยู่ระหว่างการบังคับคดี และขอรับเงินรางวัลร้อยละ 5 ของส่วนที่เกินจากจำนวน 80,000,000 บาท โดยจำเลยทั้งสามมีสิทธิได้รับสามในสิบเจ็ดส่วนซึ่งทรัพย์มรดกมีราคาสูงขึ้นเกินกว่า 80,000,000 บาท ต่อมาผู้จัดการมรดกของนายแผนได้โอนทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยทั้งสามโดยโอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2540 ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2541 จำเลยทั้งสามชำระค่าจ้างว่าความให้แก่โจทก์แล้ว 3,000,000 บาท แต่ยังไม่ได้จ่ายเงินรางวัลอีกร้อยละ 5 ของเงินส่วนที่จำเลยทั้งสามได้รับเกินกว่า 80,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า คำมั่นจะให้รางวัลตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับค่าจ้างว่าความอีกส่วนหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ระบุว่า เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับการผิดสัญญาจ้างว่าความ ส่วนเนื้อหาของคำฟ้องก็ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยทั้งสามทำสัญญาจ้างให้โจทก์เป็นทนายความฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกทุนทรัพย์ประมาณ 590,000,000 บาท โดยจ่ายค่าทนายความเป็นเงิน 3,000,000 บาท ต่อมาโจทก์ทราบว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสามมีสิทธิได้รับมีมูลค่ามากกว่าที่จำเลยทั้งสามแจ้งและทำสัญญาจ้างให้โจทก์ว่าความ โจทก์จึงขอให้จำเลยทั้งสามและมารดามาตกลงเรื่องค่าทนายความกันใหม่ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยทั้งสามทำบันทึกให้คำมั่นต่อโจทก์ว่า หากโจทก์ว่าความชนะและเป็นผลให้จำเลยทั้งสามได้รับทรัพย์มรดกรวมกันเกินกว่า 80,000,000 บาท ตามราคาซื้อขายกันจริงในขณะนั้น จำเลยทั้งสามจะให้รางวัลแก่โจทก์อีกร้อยละ 5 ของจำนวนเงินส่วนที่เกินจาก 80,000,000 บาท โจทก์ยื่นฟ้องและว่าความให้จำเลยทั้งสามจนชนะคดีเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2536 และจำเลยทั้งสามมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกเกินกว่า 80,000,000 บาท โจทก์จึงมีหนังสือลงวันที่ 1 เมษายน 2537 ถึงจำเลยทั้งสามสนองรับการแสดงเจตนารับคำมั่นจะให้รางวัล ต่อมาโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระเงินดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการผิดสัญญาจ้างว่าความ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 166,787,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ในชั้นพิจารณาโจทก์เบิกความตอบทนายโจทก์ซักถามว่า หลังจากจำเลยทั้งสามทำสัญญาจ้างให้โจทก์ว่าความแล้ว โจทก์ทราบว่าที่ดินทรัพย์มรดกมีมูลค่าสูงกว่า 590,000,000 บาท โจทก์จึงโทรศัพท์แจ้งให้มารดาจำเลยทั้งสามทราบ วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมมารดามาสอบถามโจทก์ว่าจะตกลงค่าจ้างว่าความกันอย่างไร และจะทำสัญญาใหม่หรือไม่ โจทก์เสนอแนะว่า ได้มีการทำสัญญากันไปแล้ว จึงให้ระบุเป็นคำมั่นจะให้รางวัลกัน วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมมารดาไปพบโจทก์และจัดทำบันทึกคำมั่นจะให้รางวัลลงลายมือชื่อจำเลยทั้งสาม มอบให้โจทก์ ทั้งในชั้นฎีกาโจทก์ก็ฎีกาว่า โจทก์ได้โทรศัพท์แจ้งให้มารดาของจำเลยทั้งสามทราบว่าที่ดินพิพาทมีราคาสูงกว่าที่จำเลยทั้งสามและมารดาแจ้งให้โจทก์ทราบเป็นจำนวนมาก ขอให้จำเลยทั้งสามและมารดามาตกลงค่าจ้างว่าความกันใหม่ ดังนี้ แสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสามทำบันทึกให้คำมั่นต่อโจทก์ว่า หากโจทก์ว่าความชนะและเป็นผลให้จำเลยทั้งสามได้รับทรัพย์มรดกรวมกันเกินกว่า 80,000,000 บาท ตามราคาซื้อขายกันจริงในขณะนั้น จำเลยทั้งสามจะให้รางวัลแก่โจทก์อีกร้อยละ 5 ของจำนวนเงินส่วนที่เกินจาก 80,000,000 บาท มีมูลเหตุมาจากปัญหาการกำหนดจำนวนทรัพย์มรดกที่โจทก์รับจะฟ้องแบ่งให้จำเลยทั้งสาม โดยขณะทำสัญญาจ้างว่าความ กำหนดทุนทรัพย์มรดกประมาณ 590,000,000 บาท แต่ต่อมาปรากฏว่าทรัพย์มรดกน่าจะมีมูลค่านับพันล้านบาท โจทก์จึงต้องการกำหนดค่าตอบแทนในการว่าความเพิ่มเติม ด้วยการให้จำเลยทั้งสามทำบันทึกคำมั่นจะให้รางวัล ให้แก่โจทก์ โดยมีเงื่อนไขที่โจทก์จะได้ค่าตอบแทนร้อยละ 5 อยู่ 2 ข้อ คือ
(1) จำเลยทั้งสามชนะคดีฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกที่โจทก์รับว่าความให้ และ
(2) เป็นผลให้จำเลยทั้งสามได้รับทรัพย์มรดกเกินกว่า 80,000,000 บาท
ค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับ ย่อมเกิดจากการว่าความให้จำเลยทั้งสามจนชนะคดี กรณีเป็นการกำหนดค่าจ้างว่าความอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากค่าจ้างว่าความปกติจำนวน 3,000,000 บาท แม้จะเป็นบันทึกข้อตกลงที่จำเลยทั้งสามทำให้โจทก์หลังจากทำสัญญาจ้างว่าความ แล้วอีกฉบับหนึ่งต่างหากก็ตาม ก็ไม่มีผลลบล้างลักษณะของนิติกรรมที่จำเลยทั้งสามทำไว้แก่โจทก์ คำมั่นจะให้รางวัล กรณีก็ไม่อาจบังคับตามหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 362 ดังที่โจทก์ฎีกา เพราะคดีที่จำเลยทั้งสามตกลงจะจ่ายเงินให้โจทก์อีกร้อยละ 5 ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ หาใช่กรณีที่บุคคลผู้ออกโฆษณาให้คำมั่นว่าจะให้รางวัล ต้องให้รางวัลแก่บุคคลใด ๆ ที่กระทำการตามที่โฆษณาไว้สำเร็จตามบทบัญญัติดังกล่าว อันจะมีผลทำให้ข้อตกลง กลายเป็นการโฆษณาให้คำมั่นจะให้รางวัลแทนข้อตกลงเกี่ยวกับค่าจ้างว่าความเพิ่มเติมไปได้ จึงฟังได้ว่า คำมั่นจะให้รางวัล เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับค่าจ้างว่าความอีกส่วนหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อต่อมาว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับค่าจ้างว่าความที่โจทก์จะได้รับอีกร้อยละ 5 ในกรณีที่โจทก์ว่าความชนะและเป็นผลให้จำเลยทั้งสามได้รับทรัพย์มรดกเกินกว่า 80,000,000 บาท ตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อตกลงดังกล่าว แสดงว่าค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยทั้งสามขึ้นอยู่กับจำเลยทั้งสามจะได้รับทรัพย์มรดกเกินกว่า 80,000,000 บาท หากจำเลยทั้งสามไม่ได้รับทรัพย์มรดกหรือได้รับไม่เกินกว่า 80,000,000 บาท โจทก์ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสาม ข้อตกลงเกี่ยวกับค่าจ้างว่าความเช่นนี้มีลักษณะที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียทางทรัพย์สินในผลแห่งคดีของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกความ ไม่เหมือนกับสัญญาจ้างว่าความที่ทนายความพึงได้รับค่าจ้างเป็นจำนวนเงินตายตัวหรือร้อยละของทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลของคดีว่าจะชนะคดีหรือแพ้คดีอย่างไร ข้อตกลงเกี่ยวกับค่าจ้างว่าความที่โจทก์จะได้รับอีกร้อยละ 5 ดังกล่าว แม้ไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย แต่เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพทนายความ เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 คำพิพากษาของศาลฎีกาที่โจทก์อ้างถึงซึ่งวินิจฉัยว่า สัญญาจ้างว่าความพิพาทไม่เป็นโมฆะเพราะเป็นการกำหนดค่าทนายความเป็นร้อยละของยอดทุนทรัพย์ที่กำหนดไว้ชัดเจนนั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยทั้งสามจะไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้โดยชัดแจ้ง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ทั้งศาลอุทธรณ์ก็ได้ยกขึ้นวินิจฉัยไว้บ้างแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่น ๆ อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ