คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9139/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

กรณีที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน ตามขอซึ่งน้อยกว่าสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน แม้ตามกฎหมายแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลแรงงานกลางจะต้องพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้” เมื่อปรากฏในคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องว่า โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน แต่โจทก์ไม่ได้ขอบังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่จะได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน ตามขอจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นกรณีที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยตามสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันไม่ใช่กรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ
ส่วนกรณีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเหตุดังกล่าวเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ ดังนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการแผนกปล่อยปละละเลยไม่วางระเบียบการตรวจสอบให้ดีปล่อยให้มีการปลอมเอกสารและลายมือชื่อในการดำเนินการเสียภาษีนำเข้าตู้สินค้าในนามจำเลยไม่ถูกต้องจนทำให้เกิดความผิดพลาดในแผนกอาจเกิดความเสียหายแก่จำเลย เป็นการกระทำที่ผิดพลาดอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจึงมีเหตุให้นายจ้างไม่ไว้วางใจให้ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร จึงมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นดังกล่าวเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหาย 5,081,425.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าชดเชย 124,209 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายจากการนำเข้าตู้สินค้าและเสียภาษีอย่างผิดวิธีเป็นเงิน 139,000 บาท ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงทางการค้าทำให้จำเลยขาดรายได้จากการค้าเป็นเงิน 3,000,000 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าชดเชยจำนวน 124,209 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 กรกฎาคม 2547) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการเป็นตัวแทนในการนำเข้าและส่งออกสินค้าต่างประเทศ กรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.15 โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2544 ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้จัดการแผนกซ่อมและบำรุงตู้คอนเทนเนอร์ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 41,403 บาท กำหนดจ่ายทุกวันที่ 25 ของเดือน ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2547 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไป โดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์เป็นผู้บริหารคนไทยสูงสุดในแผนกซ่อมและบำรุงตู้คอนเทนเนอร์ มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและพนักงานในแผนกทั้งหมด อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้บริหารซึ่งเป็นคนญี่ปุ่น คือผู้จัดการใหญ่ฝ่ายคอนเทนเนอร์เดิมคือนายมูราโอกะ เมื่อนายมูราโอกะย้ายกลับไปประเทศญี่ปุ่นในปลายปี 2546 มีนายโอชิมาทำหน้าที่แทนนายมูราโอกะ ผู้บริหารเหนือขึ้นไปคือนายอาราชิมาผู้อำนวยการ เดิมแผนกตู้คอนเทนเนอร์รับทำการตรวจสภาพซ่อมและบำรุงรักษาตู้คอนเทนเนอร์ ต่อมาปี 2545 โจทก์เสนอให้มีการซื้อและขายตู้คอนเทนเนอร์เก่าที่ยังสามารถใช้ได้ภายในประเทศเพื่อเป็นการหารายได้เพิ่มให้แก่แผนกและได้รับความเห็นชอบจากนายมูราโอกะให้ดำเนินการ ดังนั้น เมื่อจะทำการซื้อขายตู้คอนเทนเนอร์ โจทก์จะให้นางรัชนกพนักงานประสานงานด้านเอกสารทำการสำรวจตู้ที่ยังสามารถใช้งานได้แล้วรายงานให้โจทก์ทราบ จากนั้นโจทก์จะแจ้งให้นายมูราโอกะติดต่อซื้อตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทเอ็น วาย เค ลาย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของจำเลยตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ที่ได้บรรทุกสินค้าเข้ามาในประเทศไทยโดยติดต่อผ่านตัวแทนซึ่งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ โดยจดหมายอีเล็กทรอนิกส์หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่าอีเมล์ เมื่อตกลงซื้อขายกันแล้ว ตัวแทนในประเทศสิงคโปร์จะแจ้งมายังบริษัทเอ็น วาย เค ชิปปิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนบริษัทแม่ในประเทศไทยให้ทราบ เพื่อส่งเอกสารการซื้อขายให้จำเลยดำเนินการเสียภาษีผ่านพิธีการทางศุลกากรเอง โดยส่งเอกสารต่างๆ มาที่แผนกของโจทก์ ซึ่งจำเลยมีแผนกนำเข้าทางเรือทำหน้าที่พิธีการทางศุลกากรนำสินค้าเข้าโดยจำเลยมอบอำนาจให้นายไพโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ของแผนกดังกล่าวเป็นผู้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทในใบขนสินค้าและเอกสารต่าง ๆ ในการทำพิธีการทางศุลกากร โดยกรมศุลกากรได้ออกบัตรประจำตัวผู้รับมอบอำนาจให้นายไพโรจน์ไว้ เมื่อผ่านการดำเนินการของนายไพโรจน์แล้ว นายไพโรจน์จะมอบให้พนักงานคนใดคนหนึ่งในแผนกไปดำเนินการต่อกรมศุลกากรรวมทั้งนายสมบูรณ์ด้วยคนหนึ่ง ซึ่งกรมศุลกากรได้ออกบัตรผ่านพิธีการทางศุลกากรให้นายสมบูรณ์ไว้ เดิมเมื่อตกลงซื้อขายกันแล้ว บริษัท เอ็น วาย เค ชิปปิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด จะส่งเอกสารต่าง ๆ มาที่นางรัชนก จากนั้นนางรัชนกจะส่งเอกสารเหล่านั้นไปให้แผนกนำเข้าทางเรือทำพิธีการทางศุลกากรเนื่องจากตู้คอนเทนเนอร์มี 2 ชนิด คือชนิดแห้งและชนิดเย็น ซึ่งแต่ละตู้จะมีหมายเลขกำกับไว้ ตู้ที่ขึ้นด้วยหมายเลข 7 จะเป็นตู้ชนิดเย็น การเสียภาษีในการทำพิธีการทางศุลกากรจะต้องชำระทั้งค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าอากรขาเข้า ส่วนตู้อีกชนิดหนึ่งคือตู้แห้งหมายเลขที่กำกับไว้จะขึ้นต้นด้วยเลขอื่นทั้งหมด เว้นแต่หมายเลข 7 จะต้องชำระเฉพาะค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น เมื่อชำระค่าภาษีแล้วก็จะต้องนำเอกสารผ่านจุดตรวจปล่อยเพื่อตรวจความถูกต้อง เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้วเจ้าหน้าที่ก็บันทึกการตรวจปล่อย หลังจากทำพิธีการทางศุลกากรดังกล่าวแล้วแผนกนำเข้าทางเรือจะส่งเอกสารที่ผ่านพิธีการและใบปะหน้าเรียกเก็บเงินค่าดำเนินการและค่าภาษีมาที่นางรัชนก นางรัชนกจะถ่ายสำเนาเอกสารที่ผ่านพิธีการดังกล่าวเพื่อส่งไปให้บริษัทเอ็น วาย เค ชิปปิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อยืนยันว่าการซื้อขายได้ผ่านพิธีการทางศุลกากรถูกต้องแล้ว จากนั้นบริษัทดังกล่าวก็จะให้จำเลยรับตู้สินค้าไปเพื่อขายให้ลูกค้าต่อไป ในขณะเดียวกันนางรัชนกก็จะส่งเอกสารที่แผนกนำเข้าทางเรือทำพิธีการทางศุลกากรนั้นไปให้นางลักขณา ผู้รับผิดชอบการเงินของแผนก เพื่อรวบรวมเอกสารเสนอนายมูราโอกะหรือนายโอชิมาแล้วแต่ช่วงเวลาการทำหน้าที่เพื่อลงลายมือชื่ออนุมัติการจ่ายเงิน เมื่อมีการลงลายมือชื่ออนุมัติแล้ว นางลักขณาก็จะส่งเอกสารทั้งหมดไปให้แผนกบัญชีและการเงินของบริษัทตัดจ่ายการชำระเงินโดยวิธีภายใน แผนกของโจทก์ได้ให้แผนกนำเข้าทางเรือทำพิธีการทางศุลกากรหลายครั้ง ต่อมาตั้งแต่ประมาณปลายปี 2546 แผนกโจทก์ได้ปรึกษากันว่าในการให้แผนกนำเข้าทางเรือทำพิธีการทางศุลกากรจะเสียค่าภาษีสูงขึ้น ประกอบกับก่อนหน้านั้นนายประพันธ์ เคยเป็นพนักงานของจำเลยในแผนกตู้คอนเทนเนอร์นี้ แต่ในปี 2543 หรือ 2544 พนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาของนายประพันธ์ถูกกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยจึงได้ตั้งกรรมการสอบสวนนายประพันธ์และพนักงานผู้นั้น นายประพันธ์จึงขอลาออกไป และในปี 2546 นายประพันธ์ก็เคยติดต่อขอซื้อตู้คอนเทนเนอร์จากแผนกของโจทก์แต่ได้ขอนำไปทำพิธีการทางศุลกากรเอง มีการตรวจสอบแล้วปรากฏว่าการดำเนินการของนายประพันธ์เสียภาษีถูกกว่าแผนกของโจทก์จึงตกลงให้นายประพันธ์เป็นผู้ทำพิธีการทางศุลกากรตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมารวม 4 ครั้ง จำนวน 15 ตู้ โดยตกลงเหมาจ่ายค่าดำเนินการและค่าภาษีทั้งหมด ตู้ชนิดแห้งตู้สั้นราคาตู้ละ 6,000 บาท ตู้ยาวราคาตู้ละ 8,500 บาท และตู้ชนิดเย็นราคาตู้ละ 16,000 บาท ขั้นตอนการดำเนินการก็เช่นเดียวกับที่ให้แผนกนำเข้าทางเรือดำเนินการทั้งหมด เมื่อนางรัชนกได้รับเอกสารจากบริษัทเอ็น วาย เค ชิปปิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด แล้ว แทนที่จะส่งไปให้แผนกนำเข้าทางเรือดำเนินการพิธีการทางศุลกากร ก็จะส่งมอบเอกสารทั้งหมดไปให้นายประพันธ์ดำเนินการแทน ปรากฏว่านายประพันธ์ได้มอบให้นายฉัตรชัย ไปดำเนินการ เมื่อนายฉัตรช้ยดำเนินการแล้วก็จะส่งเอกสารให้นายประพันธ์ นายประพันธ์จะนำเอกสารที่ผ่านพิธีการทางศุลกากรแล้วนั้นมามอบให้นางรัชนกเพื่อถ่ายสำเนาส่งไปให้บริษัทเอ็น วาย เค ชิปปิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตรวจให้จำเลยรับตู้ไปขายต่อไปและนางรัชนกส่งเอกสารที่ผ่านพิธีการนั้นไปให้นางลักขณา แต่เนื่องจากนายประพันธ์ไม่ได้ทำเอกสารใบปะหน้าเพื่อขอเบิกเงินมา นางลักขณาจึงขออนุญาตจ่ายเป็นเงินสดโดยใช้แบบฟอร์มการจ่ายเงินสดของบริษัทให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่ออนุมัติจ่ายตามลำดับ เริ่มจากนายธเนศ ผู้ช่วยผู้จัดการแผนก โจทก์ นายโอชิมา และนายอาราชิมาตามลำดับ และนายประพันธ์ทำเอกสารลงลายมือชื่อรับเงินไว้ แล้วนางลักขณารวบรวมเอกสารส่งไปให้แผนกการเงินและบัญชีของบริษัท สำหรับเงินที่นายประพันธ์รับไปนั้นนายประพันธ์จะเก็บค่าตอบแทนในการดำเนินการส่วนของตนไว้เป็นเงินตู้ละ 2,000 บาท ที่เหลือมอบให้นายฉัตรชัยไป เอกสารที่นายประพันธ์ให้นายฉัตรชัยดำเนินการพิธีการทางศุลกากรทั้ง 15 ตู้ โดยบริษัทเอ็น วาย เค ชิปปิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 15 ตู้ ให้จำเลยรับไปหมดแล้ว และจำเลยได้ขายไปให้แก่บุคคลภายนอกแล้วเป็นส่วนมาก ต่อมาประมาณเดือนพฤษภาคม 2547 ความจึงปรากฏข้อเท็จจริงที่ฟังได้จากการรายงานของนายไพโรจน์ต่อนายรังสรรค์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลและธุรการว่า ที่มอบให้นายประพันธ์ไปดำเนินการพิธีการทางศุลกากรแก่ตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 15 ตู้ นั้นเป็นไปโดยไม่ชอบ โดยมีการปลอมลายมือชื่อของนายไพโรจน์และตราประทับในใบขนส่ง มีการระบุอ้างว่านายสมบูรณ์เป็นผู้ไปดำเนินการต่อกรมศุลกากร และการเสียภาษีสำหรับตู้ชนิดเย็นก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่มีการเสียค่าอากรขาเข้าอีกทั้งการดำเนินการทั้ง 15 ตู้ ไม่มีเอกสารแสดงการตรวจปล่อยของเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ให้ดำเนินคดีอาญาแก่นายประพันธ์และบุคคลที่เกี่ยวข้อง และจำเลยได้มอบให้นายรังสรรค์เป็นกรรมการสอบสวนโจทก์ นายรังสรรค์ได้ทำการสอบสวนนางลักขณา โจทก์ นายธเนศ และนายประพันธ์ไว้ ระหว่างสอบสวนนายฉัตรชัยได้ยอมรับว่าตราประทับในใบขนสินค้าในเอกสารหมาย ล.10 ถึง ล.13 เป็นตราประทับปลอมและได้ส่งตรายางดังกล่าวให้จำเลยไว้ ต่อมาจำเลยได้ไปทำเรื่องดำเนินการพิธีการทางศุลกากรสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 15 ตู้ ที่ให้นายประพันธ์ไปดำเนินการนั้นให้ถูกต้องใหม่ทั้งหมด ผลการสอบสวนจำเลยเห็นว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่และปฏิบัติงานด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเสียหายอย่างร้ายแรง และเป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จึงมีหนังสือลงวันที่ 29 มิถุนายน 2547 เลิกจ้างโจทก์โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไป การที่โจทก์มอบให้นายประพันธ์ไปดำเนินการทำพิธีการทางศุลกากรแทนแผนกนำเข้าทางเรือของจำเลยนั้น ได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาโดยชอบแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีส่วนร่วมรู้เห็นให้นายประพันธ์หรือนายฉัตรชัยไปดำเนินการ โจทก์ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและโจทก์ไม่ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบสามปีแต่ไม่ครบหกปี จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน แต่โจทก์ขอคิดเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน จึงกำหนดให้เท่าที่โจทก์ขอ โจทก์เป็นผู้จัดการแผนกได้รับเงินเดือนสูง มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและพนักงานในแผนกทั้งหมด แต่ปล่อยปละละเลยไม่วางระเบียบการตรวจสอบให้ดี จนทำให้เกิดความผิดพลาดในแผนกจนอาจเกิดความเสียหายแก่จำเลย เป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ย่อมทำให้ไม่เป็นที่ไว้วางใจแก่จำเลยต่อไป จึงเป็นเหตุสมควรที่จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้ทันที โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยได้รับตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 15 ตู้ ที่นายประพันธ์ไปดำเนินการพิธีการทางศุลกากรครบถ้วนจนจำเลยได้ขายไปเป็นส่วนมากซึ่งจำเลยย่อมได้กำไรจากการขาย และไม่มีผู้ใดกล่าวอ้างอันจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงในทางการค้า การที่จำเลยไปดำเนินการพิธีการทางศุลกากรสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 15 ตู้ ให้ถูกต้องใหม่ ทั้ง ๆ ที่ตู้คอนเทนเนอร์ส่วนมากจำเลยได้ขายไปแล้วเป็นการสมัครใจกระทำเพื่อป้องกันชื่อเสียงของจำเลยเอง โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามที่จำเลยฟ้องแย้ง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน ตามขอซึ่งน้อยกว่าสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้โจทก์จะฟ้องเรียกให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน แต่กฎหมายแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลแรงงานกลางจะต้องพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่า หรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้” บทบัญญัติดังกล่าวให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิเศษที่จะพิพากษาเกินคำขอได้ เพราะคดีแรงงานเป็นคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ลูกจ้างมีความรู้น้อย บางครั้งก็ดำเนินคดีด้วยตนเอง แต่ต้องเป็นกรณีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความ เมื่อปรากฏในคำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้องว่า โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 124,209 บาท โจทก์เป็นพนักงานจำเลยระดับผู้จัดการแผนกซ่อมและบำรุงตู้คอนเทนเนอร์ เป็นผู้บริหารคนไทยสูงสุดในแผนก เป็นผู้มีความรู้ โจทก์ย่อมรู้ถึงสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามสิทธิ หลังจากจำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง โจทก์แต่งตั้งทนายความและทนายความโจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งโจทก์ก็ไม่ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องทั้งที่มีทนายความและสามารถดำเนินการได้ ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 124,209 บาท ตามขอพร้อมดอกเบี้ยจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นกรณีที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยตามสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันไม่ใช่กรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาในประเด็นนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การเลิกจ้างเป็นธรรมต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งการที่จะพิจารณาว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 นั้น จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างอันแท้จริงของนายจ้างว่า มีเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่ และเหตุดังกล่าวเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ เห็นว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการแผนกปล่อยปละละเลยไม่วางระเบียบการตรวจสอบให้ดีปล่อยให้มีการปลอมเอกสารและลายมือชื่อในการดำเนินการเสียภาษีนำเข้าตู้สินค้าในนามจำเลยไม่ถูกต้อง จนทำให้เกิดความผิดพลาดในแผนกอาจเกิดความเสียหายแก่จำเลย เป็นการกระทำที่ผิดพลาดอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จึงมีเหตุให้นายจ้างไม่ไว้วางใจให้ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไปเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์เป็นผู้จัดการแผนกได้รับเงินเดือนสูง มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและพนักงานในแผนกทั้งหมดแต่ปล่อยปละละเลยไม่วางระเบียบการตรวจสอบให้ดี จนทำให้เกิดความผิดพลาดในแผนกอาจเกิดความเสียหายแก่จำเลย เป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ย่อมทำให้ไม่เป็นที่ไว้วางใจแก่จำเลยต่อไป จึงเป็นเหตุสมควรให้จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้ทันที โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตตามระเบียบประเพณีปฏิบัติตลอดมา จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นดังกล่าว เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้บริหารคนไทยสูงสุดตำแหน่งผู้จัดการแผนกซ่อมบำรุงมีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและพนักงานในแผนกทั้งหมดไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่ทำให้นายประพันธ์ไปดำเนินการเสียภาษีนำเข้าตู้สินค้าในนามจำเลย มีการหลบเลี่ยงการเสียภาษีและปลอมลายมือชื่อนายไพโรจน์ผู้รับมอบอำนาจของจำเลยในการเสียภาษีและตราประทับ ทำให้จำเลยเสียภาษีไม่ถูกต้องต่ำกว่าความเป็นจริงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนจำเลยต้องเสียภาษีผ่านพิธีการทางศุลกากรอย่างถูกต้องใหม่ ต้องเสียภาษีอีกเป็นเงิน 139,000 บาท และทำให้จำเลยเสียชื่อเสียงในการค้า ขาดรายได้จากการค้าขายกับนายประพันธ์ เป็นเงิน 3,000,000 บาท เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงแล้ว โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลย และจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ นั้น เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน”
พิพากษายืน

Share