คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8492/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยกับพวกเคยยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบล ก. ต่อศาลปกครองขอให้พิจารณาหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระ และศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า อธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้ลงนามออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของเจ้าหน้าที่เป็นเพียงการดำเนินการเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองเท่านั้น ในขณะฟ้องคดียังไม่มีคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบสิทธิของจำเลยกับพวก จำเลยกับพวกจึงยังไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือนร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณา ดังนี้ จึงเป็นเพียงความเห็นของศาลปกครองชั้นต้นเกี่ยวกับหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระว่ายังไม่เป็นคำสั่งทางปกครองเท่านั้น หาได้วินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมเพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่สาธารณประโยชน์โคกภูพระและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและรั้วลวดหนามออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโคกภูพระตามแผนที่พิพาทและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและรั้วลวดหนามออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระตั้งอยู่ที่บ้านหินโหง่น หมู่ที่ 10 ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ไว้ให้ประชาชนใช้เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์เมื่อปี 2491 มีเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ อาณาเขตทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจดป่าทั้งสี่ด้าน ยาวด้านละ 10 เส้น 10 เส้น 15 เส้น และ 15 เส้น โดยลำดับ เมื่อปี 2526 มีการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยสภาตำบลกุดแห่และคณะกรรมการหมู่บ้านกุดแห่นำชี้แนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระในบริเวณที่ดินซึ่งชาวบ้านเรียกว่าหนองหญ้าข้าวนกให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดได้เนื้อที่ 233 ไร่ 1 งาน 43 ตารางวา แต่จำเลยและบุคคลอื่นรวม 4 คน คัดค้านว่านำชี้รังวัดรุกล้ำที่ดินของตนและไม่รับรองแนวเขต ที่ดินพิพาทคือที่ดินส่วนที่จำเลยคัดค้านมีเนื้อที่ 29 ไร่ 3 งาน 18 ตารางวา
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระกับที่ดินหนองหญ้าข้าวนกเป็นที่ดินแปลงเดียวกันหรือไม่ และที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระกับที่ดินหนองหญ้าข้าวนกเป็นที่ดินคนละแปลงอยู่ห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร ทั้งจำเลยกับพวกเคยเป็นผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลกุดแห่ผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุดรับฟังข้อเท็จจริงตามคำรับขององค์การบริหารส่วนตำบลกุดแห่ ผู้ถูกฟ้องคดีกับเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร สาขาเลิงนกทาแล้วว่าที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 155 และ 363 ของจำเลยผู้ฟ้องคดีไม่ได้อยู่ในที่สาธารณประโยชน์โคกภูพระตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 467/2549 ที่แนบท้ายฎีกา ที่ดินพิพาทจึงมิได้อยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระนั้น ในปัญหานี้โจทก์มีนายขาว นายก่าน นายพินันท์ นายเมฆ นายหนูกัน นายวิง นายอดิศร นายสมคิด นายธงชัย นายประมุข นายโดเวิ๊ต และนายเคน หรือพระภิกษุเคน เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันได้ความว่า โคกภูพระหรือโคกภูถ้ำพระ เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงสัตว์และเก็บหาของป่า มีหนองน้ำอยู่กลางที่ดิน ชาวบ้านจึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าหนองหญ้าข้าวนก ซึ่งทางราชการได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ไว้เมื่อปี 2491 โดยใช้ชื่อว่า โคกภูพระ มีเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ ทิศเหนือจดทางสาธารณประโยชน์เป็นทางขึ้นภูถ้ำพระ ส่วนทิศอื่น ๆ เดิมจดป่าแต่ปัจจุบันทิศใต้จดที่ดินของนายเคน และนายวิง ทิศตะวันออกจดที่ดินของนายไกร และทิศตะวันตกจดที่ดินของจำเลยและนางบัวบาน ที่ดินพิพาทอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระหรือหนองหญ้าข้าวนกซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน นอกจากนี้พระภิกษุเคนซึ่งมีที่ดินด้านทิศเหนืออยู่ติดกับที่ดินของจำเลยยังเบิกความยืนยันว่า เห็นจำเลยล้อมรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระ ซึ่งขณะพยานบวชเมื่อปี 2538 มีการรุกล้ำเข้าไปเพียงเล็กน้อยไม่เท่ากับปัจจุบันคาดว่ารุกล้ำเข้าไปประมาณ 30 ไร่ ลักษณะการรุกล้ำที่ดินคล้ายรูปสามเหลี่ยม เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวเกิดและอาศัยอยู่ในตำบลกุดแห่ที่เกิดเหตุ บางคนเป็นกำนันเป็นผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ปกครองท้องที่ เป็นพระภิกษุ ต่างเคยนำสัตว์ไปเลี้ยงในที่เกิดเหตุย่อมรู้ความเป็นมาของที่ดินพิพาทได้เป็นอย่างดี ทั้งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน คำเบิกความจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ จำเลยอ้างว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่จำเลยก็นำสืบรับฟังไม่ได้แน่ชัดดังที่อ้าง ทั้งสภาพที่ดินพิพาทที่จำเลยอ้างว่าได้ทำประโยชน์โดยทำไร่ก็ขัดกับสภาพที่ดิน ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าโปร่งยังไม่มีการทำประโยชน์ดังที่อ้าง คำเบิกความของจำเลยจึงไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ นายคำใส พยานจำเลยเองเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยทำกินอยู่บริเวณหนองหญ้าข้าวนก เดิมโคกภูถ้ำพระเป็นป่าสงวน ทางราชการต้องการประกาศเป็นที่ดินสาธารณะ แต่เนื่องจากมีชาวบ้านเข้าไปทำกินจนเป็นที่นาหมดแล้ว คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจึงประชุมกันให้เอาที่ดินหนองหญ้าข้าวนกประกาศเป็นที่ดินสาธารณะแทน แต่ยังคงใช้ชื่อว่าโคกภูถ้ำพระเจือสมพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระกับที่ดินหนองหญ้าข้าวนกเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน และที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลปกครองสูงสุดรับฟังข้อเท็จจริงตามคำรับขององค์การบริหารส่วนตำบลกุดแห่ผู้ถูกฟ้องคดีกับเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร สาขาเลิงนกทาแล้วว่า ที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 155 และ 363 ของจำเลยผู้ฟ้องคดีไม่ได้อยู่ในที่สาธารณประโยชน์โคกภูพระตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 467/2549 นั้น เห็นว่า ศาลปกครองสูงสุดหาได้รับฟังข้อเท็จจริงดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกาไม่ เพราะศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยในปัญหานี้เพียงว่า คดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจศาลว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิในที่ดินอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่มีข้อคัดค้านคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นในเรื่องอำนาจศาล จึงมีคำสั่งยกอุทธรณ์ ดังนั้น คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 467/2549 จึงไม่มีผลต่อการรับฟังพยานหลักฐานในคดีนี้แต่ประการใด ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เพราะศาลปกครองชั้นต้นในคดีดังกล่าวข้างต้นวินิจฉัยว่า การประกาศออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระยังไม่ใช่คำสั่งทางปกครองแสดงว่าการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีดังกล่าวผู้ฟ้องคดีทั้งสามขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระ และศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า อธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้ลงนามออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าว การรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของเจ้าหน้าที่เป็นเพียงการดำเนินการเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองเท่านั้น ในขณะฟ้องคดียังไม่มีคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงยังไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตาม มาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ดังนี้ จึงเป็นเพียงความเห็นของศาลปกครองชั้นต้นเกี่ยวกับหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระว่ายังไม่เป็นคำสั่งทางปกครองเท่านั้น หาได้วินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีที่ศาลนี้เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน สรุปแล้วฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share