แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในชั้นพิจารณาผู้เสียหายเบิกความในตอนแรกระบุว่าคนร้ายคือจำเลยและ จ. ซึ่งเป็นคนรู้จักกันมาก่อนเพราะมีบ้านอยู่ใกล้กับบ้านพักของผู้เสียหาย หลังเกิดเหตุผู้เสียหายชี้ยืนยันบุคคลตามภาพถ่ายที่เจ้าพนักงานตำรวจให้ดู แต่ต่อมากลับเบิกความว่าจำเลยไม่ใช่คนร้ายแล้วเบิกความต่อไปว่า ในกระต๊อบที่เกิดเหตุมืดจึงไม่เห็นหน้าและรูปพรรณของคนร้าย ตอนท้ายเบิกความในทำนองว่าคนร้ายชื่อ ก. แต่เป็นคนละคนกับจำเลย ผู้เสียหายไม่รู้จักและไม่เคยเห็นหน้าจำเลย ที่อ้างว่าไม่เห็นหน้าคนร้ายเพราะในกระต๊อบมืดนั้นขัดแย้งกับที่ยืนยันว่าจำเลยไม่ใช่คนร้ายแต่เป็น ก. อีกคนหนึ่งที่มีชื่อซ้ำกัน ทั้งไม่สมเหตุสมผลเพราะคนร้ายเข้าประชิดตัวผู้เสียหายขณะกระทำชำเราอีกทั้งผู้เสียหายเบิกความว่าออกจากกระต๊อบมาทันได้เห็นคนร้ายเดินไปที่วงสุราข้างนอกกระต๊อบน่าจะมีแสงสว่างพอให้มองเห็นหน้าคนร้ายได้ ที่อ้างว่าคนร้ายเป็นคนละคนกับจำเลย เพียงแต่ชื่อเหมือนกันก็มีพิรุธ เพราะในชั้นสอบสวนผู้เสียหายระบุตัวจำเลยชัดเจนทั้งชื่อ รูปพรรณ ทั้งระบุว่าจำเลยพักอยู่บ้านใกล้ ๆ ห่างบ้านของผู้เสียหายเพียง 50 เมตร และรู้จักมารดาของจำเลยด้วย นอกจากนี้หลังเกิดเหตุเพียง 3 วัน ฉ. บิดาจำเลยก็ตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย จึงแสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้เสียหายระบุตัวจำเลยเป็นคนร้ายตั้งแต่แรก ไม่ใช่เรื่องผิดตัวที่ผู้เสียหายเบิกความในชั้นพิจารณา จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงไปเพื่อช่วยเหลือจำเลยเพราะไม่ติดใจเอาความแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงใช้ดุลพินิจวินิจฉัยรับฟังคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนเป็นความจริงมากกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 277
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 จำคุกตลอดชีวิต จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายเป็นการบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดและผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลย 33 ปี 4 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีชายคนร้ายกระทำชำเราเด็กหญิงภรณ์ทิพย์ ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นคนร้ายกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าควรรับฟังคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาที่ว่าจำเลยไม่ใช่คนร้ายนั้น เห็นว่า ในข้อที่ว่าผู้เสียหายจำได้หรือไม่ว่าคนร้ายเป็นใครนั้น ในชั้นพิจารณาผู้เสียหายเบิกความขัดแย้งกันไปมา ไม่อยู่กับร่องกับรอย ในตอนแรกเบิกความระบุว่าคนร้ายคือจำเลยและนายเจี๊ยบซึ่งเป็นคนรู้จักกันมาก่อนเพราะมีบ้านอยู่ใกล้บ้านพักของผู้เสียหาย หลังเกิดเหตุผู้เสียหายชี้ยืนยันบุคคลตามภาพถ่ายที่เจ้าพนักงานตำรวจให้ดู แต่ต่อมากลับเบิกความว่าจำเลยไม่ใช่คนร้ายแล้วเบิกความต่อไปว่า ในกระต๊อบที่เกิดเหตุมืดจึงไม่เห็นหน้าและรูปพรรณของคนร้าย ตอนท้ายเบิกความในทำนองว่าคนร้ายชื่อนายโก๋ แต่เป็นคนละคนกับจำเลย ผู้เสียหายไม่รู้จักและไม่เคยเห็นหน้าจำเลย ที่อ้างว่าไม่เห็นหน้าคนร้ายเพราะในกระต๊อบมืดนั้น ขัดแย้งกับที่ยืนยันว่าจำเลยไม่ใช่คนร้ายแต่เป็นนายโก๋ อีกคนหนึ่งที่มีชื่อซ้ำกัน ทั้งไม่สมเหตุสมผลเพราะคนร้ายเข้าประชิดตัวผู้เสียหายขณะกระทำชำเรา อีกทั้งผู้เสียหายเบิกความว่าออกจากกระต๊อบมาทันได้เห็นคนร้ายเดินไปที่วงสุรา ข้างนอกกระต๊อบน่าจะมีแสงสว่างพอให้มองเห็นหน้าคนร้ายได้ ที่อ้างว่าคนร้ายเป็นคนละคนกับจำเลย เพียงแต่ชื่อเหมือนกันก็มีพิรุธ เพราะในชั้นสอบสวนผู้เสียหายให้การระบุตัวจำเลยชัดเจนทั้งชื่อ รูปพรรณ ทั้งระบุว่าจำเลยพักอยู่บ้านใกล้ ๆ ห่างบ้านของผู้เสียหายเพียง 50 เมตร และรู้จักมารดาของจำเลยด้วย นอกจากนี้หลังเกิดเหตุเพียง 3 วัน นายฉลวย บิดาของจำเลยก็ตกลงชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 20,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายและนายสมศักดิ์ บิดาของผู้เสียหาย จึงแสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้เสียหายระบุตัวจำเลยเป็นคนร้ายตั้งแต่แรก ไม่ใช่เรื่องผิดตัวที่ผู้เสียหายเบิกความในชั้นพิจารณา จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงไปเพื่อช่วยเหลือจำเลยเพราะไม่ติดใจเอาความแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยรับฟังคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนเป็นความจริงมากกว่าคำเบิกความต่อศาลนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจริง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม แต่จำเลยกับพวกใช้อาวุธขู่บังคับจนผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้นั้น เห็นว่า คำเบิกความของผู้เสียหายในพฤติการณ์แห่งคดีมีพิรุธไม่สมเหตุสมผลหลายประการ ตั้งแต่การที่ผู้เสียหายกับเพื่อนไปที่กระต๊อบที่เกิดเหตุโดยไม่ปรากฏเหตุผลที่น่ารับฟังทั้ง ๆ ที่เห็นจำเลยกับพวกดื่มสุราอยู่ก่อนถึงกระต๊อบเป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ แทนที่จะรีบกลับบ้านหรือนั่งรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ อยู่หน้ากระต๊อบ ผู้เสียหายกลับเข้าไปนอนในกระต๊อบเพียงคนเดียวที่อ้างว่าไม่กล้ากลับบ้านนี้ยิ่งไม่สมเหตุสมผล เพราะกระต๊อบที่เกิดเหตุอยู่ห่างบ้านพักของผู้เสียหายไม่เกิน 200 เมตร และมีเพื่อนร่วมเดินทางกลับหลายคน หลังเกิดเหตุผู้เสียหายออกจากกระต๊อบมาพบเพื่อนยังอยู่ เมื่อคนร้ายไปหมดแล้วผู้เสียหายก็น่าจะกลับบ้าน กลับพากันเข้าไปนอนในกระต๊อบอีกจนเช้า เป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัย ทั้งไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนสอบปากคำเพื่อนของผู้เสียหายที่รออยู่นอกกระต๊อบและน่าจะรู้เห็นเหตุการณ์ไว้เป็นพยานแม้แต่คนเดียว จึงไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนคำของผู้เสียหาย หากเป็นดังผู้เสียหายอ้างว่ามีการกอดปล้ำบังคับถอดกางเกงและผู้เสียหายดิ้นรนต่อสู้จริง ก็น่าจะมีรอยฟกช้ำตามร่างกายของผู้เสียหาย รวมทั้งร่องรอยที่อวัยวะเพศบ้างไม่มากก็น้อย กลับไม่มีเลย ผู้เสียหายอาจเกรงว่าบิดาจะดุด่าลงโทษหากเป็นเรื่องผู้เสียหายร่วมประเวณีกับจำเลยโดยสมัครใจ ที่ผู้เสียหายอ้างว่าไม่ยินยอมให้จำเลยกระทำชำเราก็ดี จำเลยกับพวกใช้อาวุธขู่บังคับก็ดี จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่าในขณะที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายนั้น จำเลยกับพวกใช้อาวุธขู่บังคับข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม การที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิดและต้องใช้บังคับแก่คดี เนื่องจากกฎหมายที่แก้ไขในภายหลังไม่เป็นคุณแก่จำเลย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยรวมทั้งกำหนดโทษเสียใหม่ให้ถูกต้องเหมาะสมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) ลงโทษจำคุก 6 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี