แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 นั้น คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน แต่สำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีใจความเพียงว่า “ค่าเสียหายในการนี้ คู่กรณีทั้งสองตกลงกันเองได้และจะนำไปซ่อมกันเอง” ไม่มีสาระสำคัญแสดงว่าจำเลยเจรจาตกลงกับ ส. คนขับรถบรรทุกหกล้อที่โจทก์รับประกันภัยไว้ในเรื่องการชำระค่าเสียหายให้ชัดแจ้งแต่อย่างใด จึงไม่มีผลเป็นการประนีประนอมยอมความตามกฎหมาย มูลหนี้ละเมิดจึงไม่ระงับสิ้นไปเมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยนำรถยนต์บรรทุกหกล้อคันดังกล่าวไปซ่อมจนมีสภาพดีดังเดิม โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 63,668.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 61,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ในประเด็นเรื่องค่าเสียหายตามรูปคดีต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาล ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัย “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหกล้อหมายเลขทะเบียน 85 – 0619 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายสมพร โกวิทวราพรผู้เอาประกันภัย มีอายุการคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2534 ถึงวันที่ 22มกราคม 2535 ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2534 เวลากลางวัน จำเลยขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ – 6006 นครสวรรค์ด้วยความประมาทโดยใช้ความเร็วสูงมาตามถนนสายเอเชียมุ่งหน้าไปจังหวัดนครสวรรค์เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยไม่สามารถควบคุมรถได้ทำให้ล้ำเข้าไปในช่องเดินรถสวนซึ่งขณะนั้นมีรถยนต์บรรทุกหกล้อซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้แล่นสวนทางมา ทำให้รถที่จำเลยขับเฉี่ยวชนกับรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนมาตรวจที่เกิดเหตุและเห็นว่าจำเลยเป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพ จึงเปรียบเทียบปรับจำเลย ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.4 คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า บันทึกข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายในสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.4 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ได้ความว่าภายหลังเกิดเหตุ จำเลยกับนายสมจิตร สุขสงวน คนขับรถยนต์บรรทุกหกล้อได้ตกลงกันตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.4 ระบุว่า ค่าเสียหายในการนี้คู่กรณีทั้งสองตกลงกันเองได้และจะนำไปซ่อมกันเองนั้น เห็นว่า การประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 นั้น คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน แต่สำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.4 ดังกล่าวมีใจความเพียงว่า “ค่าเสียหายในการนี้ คู่กรณีทั้งสองตกลงกันเองได้และจะนำไปซ่อมกันเอง” ไม่มีสาระสำคัญแสดงว่าจำเลยเจรจาตกลงกับนายสมจิตรคนขับรถบรรทุกหกล้อที่โจทก์รับประกันภัยไว้ในเรื่องการชำระค่าเสียหายให้ชัดแจ้งแต่อย่างใด จึงไม่มีผลเป็นการประนีประนอมยอมความตามกฎหมาย มูลหนี้ละเมิดจึงไม่ระงับสิ้นไป เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยนำรถยนต์บรรทุกหกล้อคันดังกล่าวไปซ่อมจนมีสภาพดีดังเดิม โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้ แต่ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องมานั้นมีจำนวนเพียง 63,668.75 บาท และจำเลยให้การว่าค่าเสียหายของโจทก์เป็นเงิน 8,000 บาท คดีนี้จึงมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง และศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยในเรื่องค่าเสียหาย แม้คู่ความจะได้นำสืบข้อเท็จจริงมาเสร็จสิ้นเป็นการเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปได้ก็ตาม แต่เนื่องจากคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังที่วินิจฉัยข้างต้น จึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาปัญหาดังกล่าวใหม่ เพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นเรื่องค่าเสียหายนั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ