คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8537/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

นาย ก. สามีชอบด้วยกฎหมายของนาง ล. ผู้ตาย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นาง ล. ถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา 291 นาง ล. จึงเป็นผู้เสียหายซึ่งถูกทำร้ายถึงตาย และโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการแทนผู้จัดการแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) และมาตรา 5 (2) เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องแล้วตายลงระหว่างการพิจารณาสืบพยานโจทก์ของศาลชั้นต้น การพิจารณาของศาลชั้นต้นก่อนโจทก์ถึงแก่ความตายย่อมไม่เสื่อมเสียไปเพราะความตายของโจทก์ และถือว่าโจทก์ฟ้องนั้นเป็นกระทำการแทนรัฐด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่จากพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยได้สืบไว้แล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงชอบแล้ว
โจทก์เป็นเพียงผู้จัดการแทนผู้เสียหาย มิใช่ผู้เสียหายที่แท้จริงที่ยื่นฟ้องแล้วตายลงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง แม้ผู้ร้องจะเป็นผู้สืบสันดานของผู้เสียหายกับโจทก์ ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป – 2607 มหาสารคาม วิ่งไปตามถนนสายร้อยเอ็ด – ธวัชบุรี มุ่งหน้าไปทางอำเภอธวัชบุรีด้วยความเร็วสูงและปราศจากความระมัดระวัง เมื่อจำเลยขับรถยนต์คันดังกล่าวไปถึงที่เกิดเหตุ นางละม้าย ภริยาโจทก์กำลังขับรถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องเดินรถจากช่องเดินรถที่ 1 ไปช่องเดินรถที่ 3 เพื่อเลี้ยวกลับรถบริเวณเกาะกลางถนน จำเลยมองเห็นรถจักรยานยนต์ของนางละม้ายอยู่ข้างหน้า ต้องเว้นระยะพอสมควรเพื่อหยุดรถได้ทัน แต่จำเลยหาได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอไม่ จำเลยกลับขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงในลักษณะมึนเมา เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยชนท้ายรถจักรยานยนต์ของนางละม้าย ทำให้นางละม้ายถึงแก่ความตายทันที และคนซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนางละม้ายได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่ความตาย นายรัตติกรหรือรัตติกรณ์ ผู้ร้อง บุตรโจทก์ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีต่างผู้ตาย ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งเดิมแล้วพิพากษายกฟ้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยได้นำสืบไว้ต่อไปตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
ผู้ร้องและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า นายโกศล สามีชอบด้วยกฎหมายของนางละม้าย ผู้ตาย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นางละม้ายถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 นางละม้ายจึงเป็นผู้เสียหายซึ่งถูกทำร้ายถึงตาย และโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการแทนผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 (2) และมาตรา 5 (2) เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องแล้วตายลงเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2543 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาสืบพยานโจทก์ของศาลชั้นต้น การพิจารณาของศาลชั้นต้นก่อนโจทก์ถึงแก่ความตายย่อมไม่เสื่อมเสียไปเพราะความตายของโจทก์ และถือว่าโจทก์ฟ้องนั้นเป็นกระทำการแทนรัฐด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่จากพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยได้สืบไว้แล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 นั้น จึงชอบแล้ว เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการแทนผู้เสียหายเท่านั้น มิใช่ผู้เสียหายที่แท้จริงที่ยื่นฟ้องแล้วตายลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 29 วรรคหนึ่ง แม้ผู้ร้องจะเป็นผู้สืบสันดานของผู้เสียหายกับโจทก์ก็ตาม ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์นั้นจึงไม่ชอบ ดังนี้ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยใหม่โดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลย ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยและผู้ร้องที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฎีกาของผู้ร้องและจำเลย

Share