คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7824/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์เรือระหว่างจำเลยทั้งสองต้องจดทะเบียนต่อสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานดำเนินการรับจดทะเบียนได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเรื่องที่โจทก์แจ้งสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคขอให้ระงับการทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์เรือก่อนจดทะเบียน ต้องถือว่าขณะทำนิติกรรมจำเลยที่ 2 รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 237 โจทก์จึงใช้สิทธิขอเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์เรือระหว่างจำเลยทั้งสองได้
ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์เรือระหว่างจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมกลับมามีชื่อเป็นเจ้าของเรือ ตามเดิมโดยไม่ต้องให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อีก ศาลจึงไม่จำเป็นต้องพิพากษาให้บังคับตามคำขอในส่วนนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2540 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ต่อเรือซีเมค 1 จำนวน 1 ลำ โจทก์ต่อเรือเสร็จและส่งมอบเรือซีเมค 1 ให้จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระค่าจ้างต่อเรือ 1,662,933 บาท ครั้นวันที่ 11 มีนาคม 2542 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลจังหวัดภูเก็ตเพื่อเรียกร้องค่าจ้างต่อเรือ ภายหลังยื่นฟ้อง ทนายความโจทก์มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขากระบี่ พร้อมแนบสำเนาคำฟ้องคดีของศาลจังหวัดภูเก็ตไปเพื่อแจ้งเรื่องที่โจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีจำเลยที่ 1 ขอให้ระงับการทำนิติกรรมเกี่ยวกับเรือซีเมค 1 ไว้ก่อน ต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน 2542 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอโอนกรรมสิทธิ์เรือซีเมค 1 ต่อสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขากระบี่ให้จำเลยที่ 2 และทำหนังสือสัญญาโอนกรรมสิทธิ์เรือในวันที่ 11 มิถุนายน 2542 ซึ่งเจ้าพนักงานผู้ทำนิติกรรมแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบว่า จำเลยที่ 1 ถูกโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดภูเก็ต แต่จำเลยทั้งสองยืนยันให้เจ้าพนักงานทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เรือซีเมค 1 ให้จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต อันเป็นการฉ้อฉลโจทก์และทำให้โจทก์เสียหาย ต่อมาศาลจังหวัดภูเก็ตพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 1 แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอที่จะนำมาชำระหนี้ค่าจ้างต่อเรือให้โจทก์ได้นอกจากเรือซีเมค 1 ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เรือซีเมค 1 เลขทะเบียนที่ 39 – 81 – 0114 – 4 ขนาด 144.67 ตันกรอสส์ จดทะเบียนเรือไทย ณ เมืองท่ากระบี่ ซึ่งได้ทำนิติกรรมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและศาลไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อเรือซีเมค 1 จากจำเลยที่ 1 ด้วยความสุจริตใจโดยจำเลยที่ 2 ไม่เคยทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ จำเลยที่ 2 ซื้อเรือโดยสุจริตเปิดเผยและชำระเงินค่าเรือให้จำเลยที่ 1 เรียบร้อย การซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองได้ดำเนินการต่อนายทะเบียนเรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขากระบี่ ถูกต้องตามระเบียบ ขณะจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์เรือซีเมค 1 ให้จำเลยที่ 2 นายทะเบียนเรือไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์และไม่เคยมีใครแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เรือซีเมค 1 เลขทะเบียนที่ 39 – 81 – 0114 – 4 ขนาด 144.67 ตันกรอสส์ ซึ่งจดทะเบียนเรือไทย ณ เมืองท่ากระบี่ระหว่างจำเลยทั้งสองที่ทำนิติกรรมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนของจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 3,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์จะขอเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์เรือซีเมค 1 ระหว่างจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาสรุปได้ว่าการที่ทนายความโจทก์มีหนังสือแจ้งสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขากระบี่ ขอให้ระงับการทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์เรือซีเมค 1 ตามเอกสารหมาย จ.9 จะนำมาเป็นเหตุให้โจทก์ใช้สิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยทั้งสองมิได้ เพราะจำเลยที่ 2 ตกลงซื้อและเข้าครอบครองเรือ ก่อนทราบเรื่องตามเอกสารหมาย จ.9 เห็นว่า การทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์เรือซีเมค 1 ระหว่างจำเลยทั้งสองต้องจดทะเบียนต่อสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขากระบี่ ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการรับจดทะเบียนได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเรื่องตามเอกสารหมาย จ.9 ก่อนจดทะเบียน ก็ต้องถือว่าขณะทำนิติกรรมจำเลยที่ 2 รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์จึงใช้สิทธิขอเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์เรือซีเมค 1 ระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ส่วนปัญหาอื่นตามฎีกาของจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาไม่เป็นสาระที่จะพิจารณา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาตามคำขอของโจทก์ในส่วนที่ขอให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ และหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนานั้น เห็นว่า เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์เรือซีเมค 1 ระหว่างจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยที่ 3 ย่อมกลับมามีชื่อเป็นเจ้าของเรือซีเมค 1 ตามเดิมโดยไม่ต้องให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อีก จึงไม่จำเป็นต้องพิพากษาให้บังคับตามคำขอดังกล่าวของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เรือซีเมค 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนของจำเลยทั้งสองนั้นเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share