แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำพูดและการกระทำของจำเลยทั้งสามที่เป็นเพียงการอวดเบ่งท้าทายชวนทะเลาะวิวาท ไม่เป็นการขู่เข็ญทำให้ผู้เสียหายกับพวกเกิดความกลัวหรือความตกใจอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 392
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2543 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยที่ 3 มีอาวุธปืนสั้น ไม่ทราบชนิดและขนาด 1 กระบอก ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปที่ถนนสายบุรี และร้านอาหารครัวคุณพ่อ ตำบลตะลุบัน อันเป็นเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและไม่มีเหตุสมควร จำเลยที่ 2 พาอาวุธปืนสั้น ขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก หมายเลข บี เอส วาย 4929 หมายเลขโล่ 3717078 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งมอบให้จำเลยที่ 2 ไว้ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ติดตัวไปตามถนนสายบุรี และร้านอาหารครัวคุณพ่อ ตำบลตะลุบัน อันเป็นเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและไม่มีเหตุสมควร และจำเลยทั้งสามร่วมกันขู่เข็ญนายสืบพงษ์ ผู้เสียหายกับพวก โดยการพูดในทำนองว่าจะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับพวก พร้อมกับเปิดชายเสื้อให้เห็นอาวุธปืนที่พาติดตัวมา และจับด้ามอาวุธปืนดึงขึ้นดึงลง จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายกับพวกเกิดความกลัวหรือความตกใจเดินออกจากร้านอาหารที่เกิดเหตุไป ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 371, 392
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม อีกบทหนึ่ง (ที่ถูกอีกกระทงหนึ่ง) การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญ จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 เดือน และปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 1,000 บาท ฐานมีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่น จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 8 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 3 เดือน จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แต่จำเลยที่ 2 กลับพาอาวุธปืนติดตัวไปนอกเวลาราชการภายในร้านอาหารที่เกิดเหตุด้วยโดยแต่งกายนอกเครื่องแบบในเวลากลางคืนแล้วพูดจาข่มขู่หาเรื่องทะเลาะวิวาทและใช้กำลังประทุษร้ายกระชากคอผู้เสียหายลงจากเบาะรถจักรยานยนต์ ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานกลับมาก่อความเดือดร้อนเป็นภัยต่อสุจริตชนโดยตรงอันเป็นการไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองเอง ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจอยู่ในเหตุการณ์กับจำเลยที่ 2 มาแต่ต้นไม่เข้าห้ามปราม กลับแสดงอาวุธที่พาติดตัวและใช้คำพูดแสดงอำนาจบาตรใหญ่หลังจากจำเลยที่ 2 ข่มขู่ผู้เสียหาย พฤติการณ์แห่งคดีไม่สมควรให้เจ้าพนักงานอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 สำหรับจำเลยที่ 1 อยู่ในเหตุการณ์แต่ต้น แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าหลังจากจำเลยที่ 1 พูดจาขู่เข็ญให้ผู้เสียหายตกใจกลัวแล้ว จำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อเหตุร้ายแก่ผู้เสียหาย พฤติการณ์แห่งคดีและสภาพความผิดไม่ร้ายแรง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 4 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพาอาวุธปืนจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท ความผิดฐานมีอาวุธปืนในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้ลงโทษปรับ 2,000 บาท อีกสถานหนึ่งรวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 12 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนดคนละ 1 ปี และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ภายในกำหนดเวลาที่รอการลงโทษไว้ ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยกและยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย นางสาวประยงค์ นายกำธร และนางเกษร เบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลา 2 นาฬิกา ผู้เสียหายและนางสาวประยงค์กับลูกน้องของผู้เสียหายอีก 6 ถึง 7 คน ไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้านอาหารครัวคุณพ่อ จำเลยที่ 1 นั่งดื่มสุราอยู่อีกโต๊ะหนึ่ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้ามานั่งที่โต๊ะม้าหินส่วนใกล้โต๊ะผู้เสียหาย ผู้เสียหายกับพวกเข้าไปนั่งในร้านอาหารได้ประมาณ 30 นาที ขณะกำลังรับประทานอาหารจำเลยที่ 1 ลุกขึ้นเดินไปที่โต๊ะของผู้เสียหายและชี้ไปที่ผู้เสียหายพร้อมกับพูดว่า “ใครใหญ่ออกมากูจะยิงหัวให้” ผู้เสียหายสังเกตเห็นจำเลยที่ 1 มีอาการมึนเมาสุรา ผู้เสียหายกับพวกไม่ได้สนใจ จำเลยที่ 1 จึงกลับไปที่โต๊ะของจำเลยที่ 1 สักครู่จำเลยที่ 1 เดินไปที่โต๊ะผู้เสียหายและชี้ไปที่ผู้เสียหายอีกครั้งพร้อมกับพูดว่า “ใครใหญ่ออกมากูจะยิงหัว” แต่ผู้เสียหายกับพวกก็ไม่ได้ตกใจ จำเลยที่ 1 จึงเดินกลับไปนั่งที่โต๊ะของจำเลยที่ 1 สักครู่จำเลยที่ 1 เดินกลับไปที่โต๊ะของผู้เสียหายพร้อมกับชี้ไปที่ผู้เสียหายและพูดเช่นเดิม จำเลยที่ 1 ทำเช่นนี้ประมาณ 3 ครั้ง แต่ผู้เสียหายกับพวกไม่ได้สนใจจำเลยที่ 1 จึงกลับไปนั่งที่โต๊ะของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 เดินไปนั่งที่โต๊ะที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั่ง สักครู่หนึ่งได้โต้เถียงกัน จำเลยที่ 3 ชักอาวุธปืนสั้นออกมา จำเลยที่ 2 ห้ามปราม ผู้เสียหายจึงโทรศัพท์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจชักอาวุธปืนในร้านอาหารที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพราะผู้เสียหายรู้จักกับภรรยาของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 มีคนรักอยู่ที่ร้านอาหารของผู้เสียหายประมาณ 5 นาที มีเจ้าพนักงานตำรวจ 4 คน ขับรถจักรยานยนต์มาพูดคุยกับจำเลยทั้งสามแล้วขับรถจักรยานยนต์ออกไป จำเลยทั้งสามเดินไปนั่งที่โต๊ะของจำเลยที่ 1 ผู้เสียหายจึงโทรศัพท์เรียกนายกำธรพี่ชายของผู้เสียหายไปที่ร้านอาหารที่เกิดเหตุเพราะกลัวว่าจะมีเรื่องภายในร้านอาหาร จำเลยที่ 1 ยังคงพูดที่โต๊ะของจำเลยที่ 1 ว่า “ใครใหญ่ออกมากูจะยิงหัว” หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที นายกำธรและนางเกษรกับเพื่อนอีก 1 คน ไปที่ร้านอาหารที่เกิดเหตุแล้วเข้าไปนั่งที่โต๊ะผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 พูดว่า “โต๊ะนี้ใครใหญ่กูจะยิงให้หมด” นายกำธรจึงพูดขึ้นว่า “น้องใจเย็นๆ มีเรื่องอะไรจะเคลียร์ให้” หลังจากนั้นสักครู่จำเลยที่ 1 พูดอีกว่า โต๊ะนี้ใครใหญ่จะยิงให้หมด” นายกำธรจึงให้นางเกษรไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรสายบุรี แต่ไม่พบเจ้าพนักงานตำรวจจึงกลับไปนั่งที่โต๊ะผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 พูดกับจำเลยที่ 1 ว่า “ให้จำเลยที่ 1 เรียกนางเกษรไปนั่งที่โต๊ะของจำเลยที่ 1” จำเลยที่ 1 เรียกนางเกษรว่า “น้องๆ มานั่งโต๊ะพี่” นายกำธรหันไปถามจำเลยที่ 1 กับพวกว่า “มึงพูดอะไร” จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลุกขึ้นเดินไปยังโต๊ะผู้เสียหาย นายกำธรและผู้เสียหายลุกขึ้นเดินออกไปจากโต๊ะไปยังโต๊ะจำเลยที่ 1 และยืนประจันหน้ากันอยู่ระหว่างโต๊ะผู้เสียหายกับโต๊ะจำเลยที่ 1 ขณะที่ยืนประจันหน้ากันผู้เสียหายใช้มือจับที่เอวของจำเลยที่ 2 เพื่อรู้ว่าจำเลยที่ 2 มีอาวุธปืนหรือไม่ จำเลยที่ 3 ซึ่งนั่งอยู่อีกโต๊ะหนึ่งเพียงคนเดียวพูดว่า “ใครทำเพื่อนกู กูยิง” ขณะที่พูดจำเลยที่ 3 ชักอาวุธปืนที่เหน็บที่เอวเข้าออก ผู้เสียหายกับนายกำธร และจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ต่างเดินกลับไปที่โต๊ะของตน ส่วนจำเลยที่ 3 ยังนั่งอยู่ที่โต๊ะของตน สักครู่จำเลยที่ 2 พูดว่าจะเอาปืนสั้นหรือปืนยาวเอามาได้ทั้งนั้น นายกำธรให้นางเกษรไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรสายบุรี แต่ไม่พบเจ้าพนักงานตำรวจจึงกลับไปที่ร้านอาหารที่เกิดเหตุ ระหว่างทางพบกับนายธีรศักดิ์ นายธีรศักดิ์ได้ให้หมายเลขโทรศัพท์ของรองผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรสายบุรี นางเกษรโทรศัพท์พูดกับรองผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรสายบุรีว่าจำเลยทั้งสามจะยิงนางเกษรกับพวก รองผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรสายบุรีบอกว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่แต่จะให้เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจ 191 ไปจัดการให้ จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ออกจากร้านไปสักครู่หนึ่งแล้วขับรถจักรยานยนต์กลับมา จำเลยที่ 2 เดินเข้าไปในร้านอาหารที่เกิดเหตุโดยเหน็บอาวุธปืนสั้นที่เอวด้านหน้าใช้ชายเสื้อปิดอาวุธปืน สักครู่หนึ่งมีเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจ 191 ไปที่ร้านอาหารที่เกิดเหตุเรียกจำเลยทั้งสามไปพูดคุยแล้วกลับไป จำเลยที่ 2 กลับไปนั่งที่โต๊ะจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 นั่งอยู่ที่โต๊ะเดิม จำเลยที่ 2 พูดว่า “คนบ้านเดียวกับกูทำอะไรกูไม่ได้” ส่วนจำเลยที่ 1 พูดซ้ำๆ เช่นเดิม สักครู่หนึ่งจำเลยที่ 2 พูดว่า “กูจะยิงคนแล้วกลับไปนอนบ้านสบาย กูจะออกจากราชการแล้ว” ผู้เสียหายกับพวกนั่งอยู่เฉยๆ สักครู่นายธีรศักดิ์เดินมาที่โต๊ะผู้เสียหายแล้วพูดว่า “กลับได้แล้วใจเย็นๆ ไม่ต้องกลัว” ผู้เสียหายจึงให้พนักงานเก็บเงิน ขณะที่ผู้เสียหายกำลังติดเครื่องรถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 2 เดินเข้ามากระชากคอเสื้อ ผู้เสียหายหันกลับไปล็อกตัวจำเลยที่ 2 นายธีรศักดิ์เข้าไปห้ามผู้เสียหายกับจำเลยที่ 2 เห็นว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 พูดว่า “ใครใหญ่ออกมากูจะยิงหัว” จำเลยที่ 1 มีอาการเมาสุราโดยพูดซ้ำหลายครั้ง ผู้เสียหายกับพวกไม่ได้เกิดความกลัวหรือความตกใจเพราะไม่ได้สนใจการกระทำของจำเลยที่ 1 ผู้เสียหายยังโทรศัพท์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจชักอาวุธปืนในร้านอาหารที่เกิดเหตุ หลังจากที่ได้ยินจำเลยทั้งสามโต้เถียงกันและจำเลยที่ 3 ชักอาวุธปืนสั้นออกมา และผู้เสียหายยังโทรศัพท์เรียกนายกำธรพี่ชายผู้เสียหายมาที่ร้านอาหารที่เกิดเหตุ ทั้งผู้เสียหายกับนายกำธรลุกขึ้นจากโต๊ะเดินไปที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 พูดกับนางเกษรภรรยานายกำธรว่า “น้องๆ มานั่งโต๊ะพี่” และเมื่อยืนประจันหน้ากับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้เสียหายยังใช้มือจับที่เอว จำเลยที่ 2 เพื่อตรวจสอบว่ามีอาวุธปืนหรือไม่ อันเป็นการแสดงว่าผู้เสียหายและนายกำธรไม่ได้เกิดความตกใจหรือความกลัวจำเลยทั้งสามดังที่ผู้เสียหายเบิกความว่าผู้เสียหายและนายกำธรลุกขึ้นเดินไปที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายเป็นคนพื้นที่มิได้เกรงกลัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่อย่างใด และขณะนั้นผู้เสียหายก็ทราบว่าจำเลยที่ 3 มีอาวุธปืนและนั่งอยู่อีกโต๊ะหนึ่งต่างหาก เมื่อผู้เสียหายกับนายกำธรและจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ต่างกลับไปนั่งที่โต๊ะของตน ผู้เสียหายกับพวกและนายกำธรก็ยังไม่ได้ออกไปจากร้านอาหารที่เกิดเหตุ แต่นายกำธรกลับให้นางเกษรไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรสายบุรี และนางเกษรยังโทรศัพท์แจ้งรองผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรสายบุรี ทั้งเมื่อจำเลยที่ 2 เดินเข้ามากระชากคอเสื้อผู้เสียหาย ผู้เสียหายก็หันกลับไปล็อกตัวจำเลยที่ 2 และกอดรัดตัวจำเลยที่ 2 จนกระทั่งมีผู้เข้ามาห้าม พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้เสียหายกับนายกำธรไม่ได้เกิดความกลัวจำเลยทั้งสาม คำพูดและการกระทำของจำเลยทั้งสามดังที่พยานโจทก์ทั้งสี่เบิกความเป็นเพียงการอวดเบ่งท้าทายชวนทะเลาะวิวาทไม่เป็นการขู่เข็ญทำให้ผู้เสียหายกับพวกเกิดความกลัวหรือความตกใจ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน