คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1366/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสิบเอ็ด โดยกล่าวอ้างว่า การทำสวนยางพาราเป็นกิจการอย่างหนึ่งของโจทก์ และโจทก์ใช้ที่ดินพิพาทบางแปลงทำสวนยางพารา เมื่อต้นยางพาราซึ่งเป็นไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทรวมทั้งต้นยางพารา การที่โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสิบเอ็ด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 11 ให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ มีผลเท่ากับเป็นการโต้เถียงสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและต้นยางพารา ถือได้ว่าต้นยางพาราในที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่พิพาทกันในคดีด้วย เมื่อในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 2 ดำเนินการให้บุคคลภายนอกเข้ามาตัดต้นยางพาราในที่ดินพิพาทเพื่อนำออกขายอันเป็นการกระทำให้เปลืองไปเปล่าหรือบุบสลายหรือโอนไปยังผู้อื่นซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 255 (2) หากภายหลังโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีย่อมจะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ จึงมีเหตุสมควรสั่งห้ามไม่ให้จำเลยที่ 2 เข้าตัดฟันต้นยางพาราในที่ดินพิพาทระหว่างพิจารณาคดีไว้เป็นการชั่วคราวตามมาตรา 254 (2)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทหลายแปลงเพื่อนำมาใช้ในกิจการเหมืองแร่ สวนยางพารา และประกอบธุรกิจอย่างอื่นของโจทก์ โดยจดทะเบียนใส่ชื่อนายชัยสิน นายเกรียงไกร จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 11 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองแทนโจทก์รวม 109 แปลง โจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยใช้ปลูกต้นยางพารากับให้บุคคลในตระกูลอยู่อาศัยบ้าง ปลูกบ้านพักคนงานหรือใช้เป็นสถานที่ทำงานบ้าง บางแปลงก็ให้บุคคลภายนอกเช่า รวมทั้งปลูกอาคารในที่ดินเพื่อแบ่งขายและให้เช่าบ้าง ต่อมานายชัยสินและนายเกรียงไกรถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของนายชัยสินและนายเกรียงไกร โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกันของนายชัยสินและนายเกรียงไกรกับจำเลยอื่นที่ถือกรรมสิทธิ์และถือสิทธิครอบครองแทนโจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งหมดคืนแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสิบเอ็ดเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดจดทะเบียนโอนที่ดินคืนแก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันพิพากษาโดยให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสิบเอ็ด
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 11 ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนายชัยสิน นายเกรียงไกร จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 11 นายชัยสิน นายเกรียงไกร จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 11 มิได้ถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินแทนโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การจำเลยที่ 4
ก่อนสืบพยาน โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยยื่นคำร้องขอในกรณีมีเหตุฉุกเฉินว่า จำเลยที่ 2 ขายต้นยางพาราที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1337 และ 1338 ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีชื่อนายชัยสินถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ แก่นายปรารถนา ต่อมานายปรารถนาให้คนงานเข้าไปตัดต้นยางพาราในที่ดินพิพาทดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ คิดเป็นเงิน 1,800,000 บาท และจะเข้าตัดต้นยางพาราที่เหลือประมาณ 40 ไร่ ต่อไป ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้มีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยที่ 2 หรือผู้จัดการมรดกของนายชัยสินและนายปรารถนากับพวกเข้าไปตัดต้นยางพาราในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1337 และ 1338 และห้ามเข้าไปกระทำการใด ๆ ในที่ดินทั้งสองแปลงจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง และให้จำเลยที่ 2 กับนายปรารถนาร่วมกันหรือคนใดคนหนึ่งนำเงินค่าไม้ยางพารา 1,800,000 บาท มาวางศาลเพื่อให้ผู้ชนะคดีในที่สุดรับไปจากศาล
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 2 ตัดต้นยางพาราที่ปลูกในที่ดินโฉนดเลขที่ 1337 และ 1338 ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่ให้โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหาย 200,000 บาท ก่อนออกหมาย คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นตัวการฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสิบเอ็ด โดยกล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า การทำสวนยางพาราเป็นกิจการอย่างหนึ่งของโจทก์ และโจทก์ใช้ที่ดินพิพาทบางแปลงทำสวนยางพารา ดังนี้ ต้นยางพาราซึ่งเป็นไม้ยืนต้นย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทรวมทั้งต้นยางพาราอันเป็นส่วนควบของที่ดิน เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสิบเอ็ด แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 11 ให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ มีผลเท่ากับเป็นการโต้เถียงสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและต้นยางพาราอันเป็นส่วนควบของที่ดิน ถือได้ว่าต้นยางพาราในที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่พิพาทกันในคดีด้วย ข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวนว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ดำเนินการให้บุคคลภายนอกเข้ามาตัดต้นยางพาราในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1337 และ 1338 ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อนำออกขายอันเป็นการกระทำให้เปลืองไปเปล่าหรือบุบสลายหรือโอนไปยังผู้อื่นซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255 (2) หากภายหลังโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีย่อมจะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ จึงสมควรสั่งห้ามไม่ให้จำเลยที่ 2 เข้าตัดฟันต้นยางพาราในที่ดินพิพาทระหว่างพิจารณาคดีไว้เป็นการชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำร้องของโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share