คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7650/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยจะไม่ยกข้อต่อสู้ว่าจำเลยกระทำโดยป้องกันสิทธิของตนพอสมควรแก่เหตุขึ้นว่ากล่าวมาแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยจะยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
จำเลยขึงเส้นลวดและปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้บริเวณหน้าต่างห้องพักของจำเลยเพื่อป้องกันขโมยเข้ามาลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลย จึงเป็นเหตุให้เด็กชาย ก. บุตรเลี้ยงของจำเลยซึ่งลักลอบปีนหน้าต่างเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลยถูกกระแสไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย แม้การกระทำของผู้ตายจะถือเป็นการประทุษร้ายอันเป็นละเมิดต่อกฎหมายและต่อทรัพย์สินของจำเลยที่จำเลยมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงถึง 220 โวลต์ ไปตามเส้นลวดที่ไม่มีฉนวนหุ้มนั้นย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพที่สามารถทำให้ผู้อื่นที่ไปสัมผัสถูกถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น แม้จะเป็นการป้องกันคนร้ายที่จะเข้ามาลักทรัพย์สินในห้องพักของจำเลยและทำร้ายจำเลยกับภรรยาได้ แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นการเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ตาม ป.อ. มาตรา 69

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2543 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีเจตนาฆ่าเด็กชายกองสินธิ์ (ที่ถูก กองสินธ์) สนม โดยใช้เส้นลวด 1 เส้น ต่อปลายด้านหนึ่งของเส้นลวดเข้ากับสายไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในบ้านเลขที่ 73 หมู่ที่ 5 ซึ่งสายไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในบ้านดังกล่าวมีแรงดันของกระแสไฟฟ้า 220 โวลต์ สามารถทำอันตรายแก่ชีวิตมนุษย์ได้ และจำเลยใช้ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งของเส้นลวดดังกล่าว ซึ่งไม่มีฉนวนห่อหุ้มจี้ไปที่เนื้อตัวร่างกายของเด็กชายกองสินธ์ เป็นเหตุให้กระแสไฟฟ้าแล่นเข้าร่างกายของเด็กชายกองสินธ์ ทำให้เด็กชายกองสินธ์ถูกกระแสไฟฟ้าช็อตระบบการทำงานของอวัยวะสำคัญภายในร่างกาย เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิดดังกล่าวแล้วจำเลยนำศพของเด็กชายกองสินธ์บรรจุใส่ไว้ในกระสอบ 1 ใบ แล้วนำกระสอบบรรจุศพเด็กชายกองสินธ์ไปทิ้งไว้ภายในถังเก็บสิ่งปฏิกูลซึ่งอยู่ภายในอาณาเขตบ้านเลขที่ดังกล่าว แล้วจำเลยปิดฝาถังสำหรับเก็บสิ่งปฏิกูลนั้นไว้อันเป็นการลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้าย ทำลายศพ ส่วนของศพเพื่อปิดบังการตาย เหตุแห่งการตายของเด็กชายกองสินธ์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 199, 288
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 290 (ที่ถูก มาตรา 290 วรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย จำคุก 4 ปี ฐานซ่อนเร้น ทำลายศพ จำคุก 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 4 ปี 6 เดือน คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 12 เดือน (ที่ถูก ต้องระบุว่า คำขอนอกจากนี้ให้ยก)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยในข้อ 3 ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิของตนพอสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะไม่ได้ยกข้อต่อสู้นี้ขึ้นว่ากล่าวกันมาแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยจะยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยได้ขึงเส้นลวดและปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้บริเวณหน้าต่างห้องพักของจำเลยเพื่อป้องกันขโมยเข้ามาลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลย จึงเป็นเหตุให้เด็กชายกองสินธ์ บุตรเลี้ยงของจำเลยซึ่งลักลอบปีนหน้าต่างเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลยถูกกระแสไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย และหลังเกิดเหตุจำเลยได้นำศพของเด็กชายกองสินธ์ใส่ไว้ในกระสอบป่านแล้วนำไปซุกซ่อนไว้ในบ่อสิ่งปฏิกูล (ถังส้วม) หลังบ้าน เห็นว่า แม้การกระทำของผู้ตายจะถือเป็นการประทุษร้ายอันเป็นละเมิดต่อกฎหมายและต่อทรัพย์สินของจำเลยที่จำเลยมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้ก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงถึง 220 โวลต์ ไปตามเส้นลวดที่ไม่มีฉนวนหุ้มนั้นย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพที่สามารถทำให้ผู้อื่นที่ไปสัมผัสถูกถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นการป้องกันคนร้ายที่จะเข้ามาลักทรัพย์สินในห้องพักของจำเลยและทำร้ายจำเลยกับภรรยาได้ก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยก็เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69 ที่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ฎีกาของจำเลยจึงฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 69 จำคุก 2 ปี 6 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 8 เดือน เมื่อรวมกับโทษความผิดฐานซ่อนเร้นทำลายศพแล้ว เป็นจำคุก 1 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share