แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ (จำเลยในคดีนี้) ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ บ. ซึ่งเป็นบุตร น. เพื่อยุติข้อพิพาทเกี่ยวกับมรดกของ น. โดยตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีการตกลงแบ่งทรัพย์สินกันหลายรายการ และมีข้อตกลงให้โจทก์ (จำเลยในคดีนี้) รับผิดชอบชำระหนี้สินที่มีต่อธนาคาร และหนี้สินการค้าผลไม้ซึ่งหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่ารวมหนี้ที่มีต่อโจทก์ด้วย อันเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งในการยุติข้อพิพาท และ บ. ตกลงยอมรับและยุติข้อพิพาทด้วยข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ (จำเลยในคดีนี้) กับ บ. ดังกล่าวจึงมีส่วนหนึ่งที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามป.พ.พ. มาตรา 374 รวมอยู่ด้วย เมื่อจำเลยตกลงยอมรับผิดชอบชำระหนี้การค้าผลไม้ซึ่งรวมหนี้ที่มีต่อโจทก์ด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้และการที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เท่ากับเป็นการแสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว
สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามป.พ.พ. มาตรา 374 ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยและนายเนี้ยว สามีร่วมกันซื้อผลไม้จากโจทก์หลายครั้ง คิดถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2542 เป็นหนี้ค่าผลไม้โจทก์ 201,035 บาท หลังจากนั้นนายเนี้ยวชำระหนี้บางส่วน คงมีหนี้ค้างชำระ 140,000 บาท ต่อมาจำเลยกับนายบัญญัติ หลิมเปีย มีคดีพิพาทกันตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 580/2544 หมายเลขแดงที่ 2219/2544 ของศาลชั้นต้น ในวันที่ 23 สิงหาคม 2544 จำเลยส่งหลักฐานแสดงหนี้สินของจำเลยกับนายเนี้ยวที่มีต่อบุคคลภายนอกเกี่ยวกับหนี้ค่าผลไม้ รวมเป็นเงิน 876,918 บาท วันที่ 12 พฤศจิกายน 2544จำเลยกับนายบัญญัติทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลโดยตกลงว่าจำเลยจะเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้ค่าผลไม้และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวแล้วแต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2542 จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 34,556 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 174,556 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 140,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญาประนีประนอมระหว่างจำเลยกับนายบัญญัติไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ จำเลยสั่งซื้อผลไม้จากโจทก์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2542 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 เกินกว่า 2 ปี คดีขาดอายุความแล้วโจทก์ไม่เคยทวงถามจึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลในอนาคตที่โจทก์เสียเกินมาในชั้นศาลชั้นต้น 100 บาท ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยกับนายเนี้ยว สามีเป็นหนี้ค่าซื้อผลไม้จากโจทก์เป็นเงิน 140,000 บาท จำเลยกับนายบัญญัติ บุตรของนายเนี้ยวทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีที่พิพากษากันเกี่ยวกับมรดกนายเนี้ยวและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 580/2544 หมายเลขแดงที่ 2219/2544 ของศาลชั้นต้น ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ. 5 มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 7 มีข้อความระบุว่า “โจทก์ (จำเลยในคดีนี้) ตกลงรับผิดชอบในหนี้สินที่มีต่อธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเชียงราย หนี้สินการค้าผลไม้เป็นเงินจำนวน 1,511,390 บาท แต่ฝ่ายเดียว” และตามบัญชีหนี้สินแนบท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ. 5 ระบุว่า โจทก์ (จำเลยในคดีนี้) กับนายเนี้ยวมีหนี้เงินกู้กับธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเชียงราย เป็นเงิน 634,472 บาท หนี้สินการค้าผลไม้เป็นเงิน 876,918 บาท เมื่อรวมยอดหนี้ทั้งสองจำนวนแล้วเป็นเงิน 1,511,390 บาท เท่ากับจำนวนหนี้ที่โจทก์ (จำเลยในคดีนี้) ตกลงยอมรับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียว และเมื่อพิจารณาบิลส่งของแสดงหนี้สินการค้าผลไม้ตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการไกล่เกลี่ยเพื่อประนีประนอมยอมความ ปรากฏว่ามีบิลส่งของที่รวมบิลส่งของของโจทก์อยู่ด้วยทั้งหมด 7 ฉบับ รวมเป็นหนี้สินการค้าผลไม้ทั้งสิ้น 876,918 บาท เท่ากับบัญชีหนี้สินแนบท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.5 พอดี การที่โจทก์ (จำเลยในคดีนี้) ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายบัญญัติก็เพื่อยุติข้อพิพาทเกี่ยวกับมรดกของนายเนี้ยว ซึ่งตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.5 มีการตกลงแบ่งทรัพย์สินกันหลายรายการ และมีข้อตกลงให้โจทก์ (จำเลยในคดีนี้) รับผิดชอบชำระหนี้สินที่มีต่อธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเชียงราย และหนี้สินการค้าผลไม้ซึ่งหลักฐานบ่งชี้จัดเจนว่ารวมหนี้ที่มีต่อโจทก์ด้วย อันเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งในการยุติข้อพิพาท และนายบัญญัติตกลงยอมรับและยุติข้อพิพาทด้วย เช่นนี้ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ (จำเลยในคดีนี้) กับนายบัญญัติดังกล่าวจึงมีส่วนหนึ่งที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 รวมอยู่ด้วย เมื่อจำเลยตกลงยอมรับผิดชอบชำระหนี้การค้าผลไม้ซึ่งรวมหนี้ที่มีต่อโจทก์ด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้ การที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เท่ากับเป็นการแสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว เมื่อกรณีเป็นเรื่องสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อนับแต่วันที่โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้จนถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยและนายเนี้ยวมีหนี้ค่าซื้อผลไม้ค้างชำระโจทก์เป็นเงิน 140,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545) ไม่เกิน 34,556 บาท ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ