แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การสืบพยานในคดีแรงงาน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ในการสืบพยานไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลแรงงานเรียกมาเองให้ศาลแรงงานเป็นผู้ซักถามพยาน ตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เฉพาะศาลแรงงานเท่านั้นเป็นผู้ซักถามพยานของฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยหรือพยานที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง ฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยไม่มีสิทธิซักถามพยานที่ตนอ้างมาหรือพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างหรือพยานที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง เว้นแต่ศาลแรงงานจะอนุญาตให้ซักถามได้เท่านั้น ทั้งการถามพยานฝ่ายที่ตนอ้างหรือพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างนั้น ตามมาตรา 45 วรรคสอง กำหนดให้เป็นการซักถามทั้งสิ้น การซักถามพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างจึงไม่เป็นการถามค้าน การสืบพยานดังกล่าวจึงแตกต่างจากการสืบพยานในคดีแพ่งทั่วไป
การที่จำเลยเบิกความเกี่ยวกับพยานโจทก์จึงหาจำต้องซักถามหรือถามค้านพยานดังกล่าวไว้ก่อนถึงข้อความที่ตนจะนำสืบภายหลังไม่ ที่ศาลแรงงานกลางรับฟังคำเบิกความของจำเลยเป็นพยานหลักฐานในสำนวนคดี จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างเป็นเงิน 10,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเบิกความในลักษณะว่านายอภิวุฒิ ทองคำ กรรมการโจทก์ใช้ให้จำเลยไปติดต่อรับจ้างนางศิริชัยให้ทวงหนี้จากนายจอห์น เฮนรี่ มอร์แกน โดยนายอภิวุฒิได้ปรึกษากับนายบัณฑูร ชุณหสวัสดิกุล กรรมการโจทก์อีกคนหนึ่งก่อนแล้วนั้นจำเลยไม่ได้ถามค้านไว้ในชั้นที่นายอภิวุฒิและนายบัณฑูรได้เบิกความไว้ล่วงหน้าเพื่อให้พยานโจทก์ทั้งสองปากได้อธิบายข้อเท็จจริง เป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำพยานมาสืบภายหลังถามค้านพยานฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบก่อนถึงข้อความที่ตนจะนำสืบภายหลังเพื่อหักล้างคำพยานของฝ่ายที่นำสืบก่อนในข้อความทั้งหลายที่พยานฝ่ายที่นำสืบก่อนเป็นผู้รู้เห็น หรือเพื่อพิสูจน์ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวด้วยการกระทำซึ่งพยานฝ่ายที่นำสืบก่อนได้กระทำนั้น และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31จะได้กำหนดให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานด้วยก็ตาม แต่ให้นำมาใช้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งในการสืบพยานในคดีแรงงานพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ในการสืบพยานไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง ให้ศาลแรงงานเป็นผู้ซักถามพยาน ตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ศาลแรงงานเท่านั้นเป็นผู้ซักถามพยานของฝ่ายโจทก์หรือของฝ่ายจำเลยหรือพยานที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง ฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยไม่มีสิทธิซักถามพยานที่ตนอ้างมาหรือพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างหรือพยานที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง เว้นแต่ศาลแรงงานจะอนุญาตให้ซักถามได้เท่านั้น ซึ่งศาลแรงงานไม่อนุญาตให้ฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยซักถามพยานแล้ว การซักถามพยานโดยฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยต่อพยานที่ตนอ้างมาหรือต่อพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งการถามพยานฝ่ายที่ตนอ้างหรือพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างนั้น มาตรา 45 วรรคสอง กำหนดให้เป็นการซักถามทั้งสิ้น การซักถามพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างจึงไม่เป็นการถามค้านดังจำเลยอ้าง และการสืบพยานดังกล่าวแตก ต่างจากการสืบ พยานในคดีแพ่งทั่วไปที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 117 กำหนดให้ฝ่ายที่อ้างพยานต้องซักถามพยานที่ตนอ้างก่อนเสมอแล้วจึงให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งถามค้านพยาน และเป็นสิทธิของคู่ความทั้งสองฝ่ายที่จะซักถามและถามค้านตามลำดับได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน การสืบพยานในคดีแพ่งทั่วไปในส่วนที่เกี่ยวกับการซักถามพยานจึงขัดหรือแย้งกับการสืบพยานในคดีแรงงาน ไม่อาจจะนำบทบัญญัติตามประมวกลฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 มาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานในศาลแรงงานได้และคู่ความที่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานให้ซักถามพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนอ้างมาก็หาจำต้องซักถามหรือถามค้านพยานดังกล่าวไว้ก่อนถึงข้อความที่ตนจะนำสืบภายหลังดังจำเลยอ้างไม่ที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่าคำเบิกความจำเลยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพยานหลักฐานในสำนวนคดี จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน