แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ฯ มาตรา 14 และมาตรา 16 กฎหมายมิได้กำหนดเกี่ยวกับการโอนหนังสืออนุญาตให้บุคคลเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามมาตรา 16 ไว้ ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตจึงไม่สามารถโอนสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้ผู้อื่นได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำสวนปาล์มน้ำมันในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวจำเลยที่ 1 เท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ผู้ได้รับอนุญาตจะเปลี่ยนแปลงฐานะผู้ได้รับอนุญาตจากบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคล ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกัน เป็นการเปลี่ยนตัวผู้รับอนุญาตหรือการโอนสิทธิตามที่ได้รับอนุญาตให้แก่บุคคลอื่นนั่นเอง จึงไม่สามารถกระทำได้ ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความรวมทั้งข้อตกลงเพิ่มเติมในรายงานกระบวนพิจารณา เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กระบวนพิจารณาต่าง ๆ ที่ดำเนินมาภายหลังคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมตกไปด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องต่อศาลชั้นต้นให้เลิกห้าง ขอให้จำเลยทั้งสองแบ่งผลกำไรและสวนปาล์มแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมมีใจความว่า จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่พิพาทคดีนี้ให้กับบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยบริษัทดังกล่าวมีโจทก์และจำเลยทั้งสองถือหุ้นฝ่ายละ 50 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาในวันที่ 5 มีนาคม 2544 โจทก์และจำเลยทั้งสองทำข้อตกลงเพิ่มเติมโดยศาลชั้นต้นจดในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยทั้งสองจะดำเนินการเพื่อบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความภายใน 1 ปีนับแต่วันนี้ (5 มีนาคม 2544) หากกรมป่าไม้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกยังไม่พิจารณาอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ต่อสัญญา (ที่ถูกต่ออายุหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ) ยอมให้ศาลตั้งคนกลางเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายโดยนำเงินรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาสวนปาล์มและค่าใช้จ่ายอื่นจากการทำสวนปาล์มพิพาทมาแบ่งปันคนละครึ่งทุกระยะ 3 เดือน จนกว่าจะบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และให้ถือว่าเป็นข้อตกลงเพิ่มเติมจากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวข้างต้น เมื่อครบกำหนด 1 ปี ตามข้อตกลงเพิ่มเติม โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อเป็นคนกลางรักษาผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายต่อมาจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ศาลชั้นต้นยังคงมีคำสั่งให้ตั้งคนกลางเพื่อรักษาผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้ยกคำพิพากษาตามยอมศาลชั้นต้น ให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความฉบับลงวันที่ 15 กันยายน 2543 ข้อตกลงเพิ่มเติมของคู่ความตามรายการกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2544 ตลอดจนกระบวนการพิจารณาที่มีมาภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม ฉบับลงวันที่ 15 กันยายน 2543 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า คำพิพากษายอมและสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 15 กันยายน 2543 ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ ในเรื่องนี้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำสวนปาล์มน้ำมันในเขตป่าสงวนแห่งชาติและตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 15 กันยายน 2543 มีใจความสรุปได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงดำเนินการจดทะเบียนกิจการเป็นบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการสวนปาล์มน้ำมัน โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองฝ่ายละ 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อจำเลยที่ 1ได้รับอนุญาตให้ต่ออายุการรับอนุญาตทำสวนปาล์มแล้ว จำเลยที่ 1 จะยื่นเรื่องราวขอเปลี่ยนชื่อผู้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทดังกล่าวเป็นผู้รับอนุญาตแทน เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2528 กำหนดหลักการไว้ว่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย ฯลฯ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งหลักการของกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ คือกำหนดเขตป่าไม้ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติและห้ามมิให้บุคคลใดเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ส่วนการอนุญาตให้เข้าไปกระทำการใด ๆ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นข้อยกเว้นหลักทั่วไป การพิจารณาจะอนุญาตให้เข้าไปกระทำการใด ๆ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงต้องพิจารณาโดยเคร่งครัดตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้นและมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า”อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจอนุญาตให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ในกรณีดังต่อไปนี้…” เมื่อกฎหมายมิได้กำหนดเกี่ยวกับการโอนหนังสืออนุญาตให้บุคคลเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามมาตรา 16 ไว้ ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตจึงไม่สามารถโอนสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้ผู้อื่นได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำสวนปาล์มน้ำมันในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวจำเลยที่ 1 เท่านั้น ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ผู้ได้รับอนุญาตจะเปลี่ยนแปลงฐานะผู้ได้รับอนุญาตจากบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคลคือบริษัท พีทีเอส. ปาล์มน้ำมัน จำกัด ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกันก็เป็นการเปลี่ยนตัวผู้รับอนุญาตหรือการโอนสิทธิตามที่ได้รับอนุญาตให้แก่บุคคลอื่นนั่นเอง จึงไม่สามารถกระทำได้ ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความรวมทั้งข้อตกลงเพิ่มเติมในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2544 เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 กระบวนพิจารณาต่าง ๆ ที่ดำเนินการมาภายหลังคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมตกไปด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ