คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1558/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจากโจทก์ในวาระต่างๆ แยกเป็นรายสำนวน การพิจารณาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทเป็นรายสำนวน แม้ภายหลังศาลชั้นต้นจะสั่งให้รวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน จนเป็นเหตุทำให้จำนวนทุนทรัพย์ที่รวมเข้าด้วยกันเกิน 300,000 บาท ก็ต้องถือว่าคดียังอยู่ในอำนาจของศาลแขวงหรือผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4)

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสี่สำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสี่สำนวนว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 112,499.80 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
สำนวนที่สองโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 84,375 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 75,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
สำนวนที่สามโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 78,749.80 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 70,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
สำนวนที่สี่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 57,523.95 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 57,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เมื่อคดีทั้งหมดได้รวมการพิจารณาแล้ว ต้องเอาจำนวนเงินตามสัญญากู้ทุกฉบับมาคิดคำนวณเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาท รวมเป็นทุนทรัพย์จำนวน 333,148.55 บาท เกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 จึงให้คืนคำฟ้องเพื่อให้โจทก์นำไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 192 วรรคสาม ให้จำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความ และคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่โจทก์ แต่ให้เหลือไว้ไม่น้อยกว่า 200 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าคดีทั้งสี่สำนวนนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ยืมซึ่งแต่ละสำนวนมีจำนวนทุนทรัพย์ 112,499.80 บาท 84,375 บาท 78,749.80 บาท และ 57,523.95 บาท ตามลำดับ ต่อมาศาลชั้นต้นสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสี่สำนวนดังกล่าวเข้าด้วยกันและในระหว่างการพิจารณาศาลชั้นต้นได้จดรายงานกระบวนพิจารณาว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรวมการพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ 18876/2550, 18877/2550 และ 23691/2550 เข้ากับคดีหมายเลขดำที่ 18875/2550 และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสี่สำนวนดังกล่าว เมื่อคดีทั้งหมดได้รวมการพิจารณาแล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องเรียกมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจำนวนสี่ฉบับ ในการคิดทุนทรัพย์ในคดีว่าจะอยู่ในอำนาจศาลแขวงพระนครเหนือที่จะพิจารณาพิพากษาต่อไปหรือไม่ต้องเอาจำนวนเงินตามสัญญากู้ทุกฉบับมาคิดคำนวณรวมเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาท แม้คดีนี้จะเคยมีการแยกฟ้องกันมาก่อน แต่เมื่อมีการรวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกันเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้แต่ละฉบับจึงต้องเอาทุนทรัพย์ของสัญญากู้ทุกฉบับซึ่งคิดทุนทรัพย์จนถึงวันฟ้องมารวมเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาท เมื่อนำทั้งสี่คดีมารวมทุนทรัพย์แล้วเป็นทุนทรัพย์จำนวน 333,148.55 บาท จึงเกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 หากศาลแขวงพระนครเหนือทำการพิจารณาพิพากษาไปย่อมเป็นการไม่ชอบ และแม้เดิมคดีจะมีการแยกฟ้องโดยโจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาแบบคดีมโนสาเร่ แต่เมื่อโจทก์ควรรู้ว่าสามารถฟ้องได้ในคราวเดียวกัน โจทก์ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีแพ่งสามัญ มิใช่ขอเสียค่าขึ้นศาลแบบคดีมโนสาเร่ จึงให้คืนคำฟ้องเพื่อให้โจทก์นำไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 192 วรรคสาม รายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2551
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนคำฟ้องเพื่อให้โจทก์นำไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจเป็นการชอบหรือไม่โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งที่สำนวนเข้าด้วยกันก็เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น แต่การรวมการพิจารณาเข้าด้วยกันก็หาทำให้เกิดผลกลายเป็นคดีเดียวกันไม่ และการที่จะพิจารณาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวงตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) นั้น จะต้องพิจารณาทุนทรัพย์ในแต่ละคดีเป็นรายๆ ไป เห็นว่า คดีนี้ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมาในฟ้องเดียวกันที่จะต้องรวมทุนทรัพย์ตามสัญญากู้ยืมเงินแต่ละฉบับเข้าด้วยกัน แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจากโจทก์ในวาระต่างๆ แยกเป็นรายสำนวนไป การพิจารณาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษานั้น จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทเป็นรายสำนวน ดังนั้นแม้ภายหลังศาลชั้นต้นจะสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสี่สำนวนเข้าด้วยกัน จนเป็นเหตุทำให้จำนวนทุนทรัพย์ที่รวมเข้าด้วยกันเกิน 300,000 บาท ก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่าคดียังอยู่ในอำนาจของศาลแขวงหรือผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนคำฟ้องเพื่อให้โจทก์ไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคดีโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share