คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามบันทึกข้อตกลงการให้สินเชื่อและการชำระหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียพิเศษ มิได้เข้าร่วมประชุมและมิได้เสนอบุคคลเข้าเป็นกรรมการเกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง นั้น มิใช่เหตุตามป.พ.พ. มาตรา 1195 อันก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการประชุมตลอดทั้งมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าว แต่เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงที่มีต่อกันซึ่งหากโจทก์ได้รับความเสียหายประการใดในฐานะที่โจทก์ร่วมเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากฝ่ายที่โจทก์เห็นว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตนได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2543 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 ที่ให้ตั้งกรรมการบริษัทโดยให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นและให้ตั้งกรรมการใหม่ โดยให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เข้าร่วมประชุม และให้มีกรรมการที่จำเลยที่ 2 เสนอชื่อเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด กับให้เสนอตั้งโจทก์และนายเทพเป็นหนึ่งในกรรมการนั้นด้วย หากจำเลยที่ 2 ไม่เสนอชื่อกรรมการเข้าร่วมบริหารบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ให้โจทก์พ้นภาระความรับผิดชอบในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ทั้งหมดของบริษัทจำเลยที่ 1 ที่มีต่อจำเลยที่ 2 และห้ามมิให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 กระทำการใดๆ เกี่ยวกับกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำพิพากษาว่า ฟ้องโจทก์อ้างสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 ละเลยมิได้เสนอชื่อแต่งตั้งกรรมการในบริษัทจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับธนาคารมหานคร จำกัด ซึ่งจำเลยที่ 2 เข้าถือเอาผลประโยชน์ หนี้สิน ทรัพยสิน ภาระผูกพันต่างๆ เป็นของตนเนื่องจากได้มีการควบรวมธนาคารมหานคร จำกัด เข้ากับจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ละเลยหาได้ปฏิบัติหน้าที่ของตน ปล่อยให้จำเลยที่ 2 ละเลยไม่มีคณะกรรมการควบคุมดูแลจำเลยที่ 1 โดยกล่าวอ้างว่ากรรมการฝ่ายของจำเลยที่ 2 สมยอมรู้เห็นเป็นใจกับฝ่ายของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ แต่โจทก์กลับขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2543 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 ที่ให้ตั้งกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 กับห้ามมิให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 กระทำการใดๆ เกี่ยวกับกิจการบริษัทจำเลยที่ 1 โดยมิได้ฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทน ทั้งการประชุมวิสามัญที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนก็ปรากฏจากคำฟ้องโจทก์เองว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงระหว่างบริษัทจำเลยที่ 1 กับธนาคารมหานคร จำกัด มิได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 หรือได้มีการลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โจทก์จึงหามีสิทธิขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวไม่ แม้โจทก์จะมีคำขอบังคับให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นและแต่งตั้งกรรมการใหม่ โดยให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เข้าร่วมประชุมให้มีกรรมการตามข้อตกลงดังกล่าว ก็หาก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมนี้ไม่ ทั้งนี้เพราะหากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 กับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 กระทำการตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นก็มีสิทธิเพียงเรียกเอาสินไหมทดแทนในนามบริษัทจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1169 เท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่อาจขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวได้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 จึงยังคงเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยชอบ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาห้ามมิให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 กระทำการใดๆ เกี่ยวกับกิจการของจำเลยที่ 1 ได้ พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเคยเป็นกรรมการจำเลยที่ 1 มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น บริษัทจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2543 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 เรื่องการถอดถอนกรรมการ การกำหนดจำนวนกรรมการ การเลือกตั้งกรรมการและการแก้ไขอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามบันทึกข้อตกลงการให้สินเชื่อและชำระหนี้ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2532 มิได้เข้าร่วมประชุมและเสนอบุคคลเข้าเป็นกรรมการเกินกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการจำเลยที่ 1 อันเป็นการขัดต่อข้อตกลงข้อ 5.3 และโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายที่สาม ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องได้รับความเสียหาย ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 4 ส่วนที่ 3 วิธีจัดการบริษัทจำกัด มาตรา 1195 ให้สิทธิแก่กรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดอาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งได้นัดเรียกหรือประชุมกันหรือลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทได้ ปรากฏว่าข้ออ้างที่โจทก์ยกขึ้นเป็นเหตุฟ้องคดีนี้คือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามบันทึกข้อตกลงการให้สินเชื่อและการชำระหนี้ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2532 ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียพิเศษ มิได้เข้าร่วมประชุมและมิได้เสนอบุคคลเข้าเป็นกรรมการเกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงข้อ 5.3 นั้น หาใช่เหตุตามบทบัญญัติมาตรา 1195 อันก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องเพิกถอนการประชุมตลอดทั้งมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวไม่ แต่เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงที่มีต่อกัน ซึ่งหากโจทก์ได้รับความเสียหายประการใดในฐานะที่โจทก์ร่วมเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ก็ชอบที่โจทก์จะต้องพิจารณาว่า โจทก์จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากฝ่ายที่โจทก์เห็นว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตนได้หรือไม่ แต่โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นฎีกาเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 อีกต่อไป ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share