คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8708/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบอันเป็นผลให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องชำระอากรเพิ่มเติม แต่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมิได้กระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือสำแดงเท็จ แต่ได้สำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้าหรือใบขนสินค้าขาออกเป็นเหตุให้จำนวนเงินอากรขาดไป เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จดังที่โจทก์อ้างในฟ้อง กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 สำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าพิพาท แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 102 ตรี (3) เนื่องจากมีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา
ปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติว่า “เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเก็บเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้นให้มีอายุความ 10 ปี แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดให้มีอายุความ 2 ปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก” เมื่อการชำระอากรขาดเกิดจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าไม่ถูกต้อง จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้า ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่นำของเข้าตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 1 นำเข้าสินค้าพิพาทในคดีนี้ ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 เมื่อนับถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันชำระหนี้ค่าภาษีอากรจำนวน 4,117,658.18 บาท และเงินเพิ่มอากรในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน ของค่าอากรขาเข้าและอากรพิเศษที่จำเลยที่ 1 ต้องนำมาชำระจำนวน 1,933,443 บาท นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งเก้าให้การว่า การประเมินอากรขาเข้าของโจทก์จึงไม่ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 112 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ตรวจพบอันเป็นผลให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องชำระอากรเพิ่มเติม แต่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมิได้กระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือสำแดงเท็จ แต่ได้สำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้าหรือใบขนสินค้าขาออกเป็นเหตุให้จำนวนเงินอากรขาดไป เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จดังที่โจทก์อ้างในฟ้อง กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 สำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าพิพาท แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 เนื่องจากมีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 เห็นว่า มาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติว่า “เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเก็บเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้นให้มีอายุความ 10 ปี แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดให้มีอายุความ 2 ปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก” เมื่อการชำระอากรขาดเกิดจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าไม่ถูกต้อง มิใช่เกิดจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าถูกต้อง แต่โจทก์คำนวณจำนวนเงินอากรผิด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้า ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่นำของเข้าตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 1 นำเข้าสินค้าพิพาทในคดีนี้ ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 เมื่อนับถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยประเด็นนี้ว่า กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล ประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งเก้าร่วมกันชำระค่าภาษีอากรจำนวน 1,933,443 บาท แก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งเก้ารับผิดตามจำนวนทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี

Share