คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3512/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่ยืนยันว่าถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเรามีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ เพราะเมื่อแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวบรรยายฟ้องไว้ ย่อมแสดงว่าคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ต่อศาลในชั้นพิจารณาแตกต่างกับคำให้การชั้นสอบสวนที่ผู้เสียหายที่ 1 เคยให้การไว้ซึ่งพนักงานอัยการใช้เป็นข้อมูลในการบรรยายการกระทำของจำเลยในคำฟ้อง แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนและเบิกความต่อศาลแตกต่างขัดแย้งกันไม่อยู่กับร่องกับรอย ทำให้คำเบิกความของพนักงานสอบสวนและเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 เป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้น คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่กล่าวอ้างว่า ถูกจำเลยบังคับให้ดื่มสุราสาโทประมาณ 2 แก้ว จนผู้เสียหายที่ 1 หมดสติไม่รู้สึกตัว เมื่อรู้สึกตัวก็รู้ตัวว่าถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเรา อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้เพราะเมาสุราหมดสติ เป็นการขัดต่อเหตุผล จึงยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จริงตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
หลักเกณฑ์การบรรยายฟ้องความผิดหลายกระทงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องในฟ้องข้อ 1 ก. รวมการกระทำความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจาร และพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารอยู่ในฟ้องข้อเดียวกัน แยกออกจากฟ้องข้อ 1 ข. ฐานข่มขืนกระทำชำเรานั้น โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจารและพรากผู้เยาว์เพียงกรรมเดียว หาใช่มุ่งประสงค์ให้ลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 เหมือนเช่นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ตามฟ้องข้อ 1 ข. อีกกระทงหนึ่งไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยฐานพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก กระทงหนึ่ง และฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 319 วรรคแรก อีกกระทงหนึ่ง จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและนอกความประสงค์ของโจทก์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 283 ทวิ, 319, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร และข้อหาพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย ส่วนข้อหาข่มขืนกระทำชำเรายังคงให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ, 319 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสาภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุก 2 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก อีกระทงหนึ่ง จำคุก 6 ปี เรียงกระทงลงโทษในความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารและความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารแล้วรวมจำคุก 8 ปี โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ 1 ก. ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยพรากและพาผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุ 17 ปีเศษ แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองและผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร นั้น จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกา …คดีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2544 ผู้เสียหายที่ 1 ได้รู้จักกับจำเลย หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ จำเลยขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายที่ 1 นั่งซ้อนท้ายไปเที่ยวที่น้ำตกกะเปาะและทะเลคาบาน่า ต่อมาอีก 1 สัปดาห์ จำเลยก็ขับรถจักรยานยนต์ไปรับที่โรงเรียนท่าแซะรัชดาภิเษก พาไปที่บ้านของนายเอกแล้วข่มขืนกระทำชำเราเสร็จแล้วจำเลยพาไปส่งที่ตลาดท่าแซะเพื่อกลับบ้าน และจำเลยได้ข่มขู่ว่า หากไปเล่าให้ปู่และย่าฟังจะทำร้าย หลังจากนั้นจำเลยก็ได้ติดต่อทางโทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายที่ 1 อีกประมาณเดือนละครั้ง และพาไปข่มขืนกระทำชำเราที่บ้านของนายเอกเช่นเดิม ประมาณ 10 ครั้ง เหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 ต้องยอมไปกับจำเลยเพราะกลัวจำเลยจะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ปู่และย่าฟังดังที่จำเลยได้ข่มขู่ไว้ ทั้งกลัวว่าจำเลยจะทำร้าย ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2546 จำเลยไปรับผู้เสียหายที่ 1 ที่บริเวณโรงเรียนท่าแซะรัชดาภิเษกแล้วพาไปที่บ้านของนายตุ๋ย ซึ่งในวันนั้นผู้เสียหายที่ 1 สวมกางเกงขาสั้น เสื้อยืดสีขาวและมีเสื้อคลุมสีดำ และใช้เสื้อคลุมหน้าเพราะกลัวบุคคลบริเวณนั้นจะรู้ เมื่อไปถึงบ้านของนายตุ๋ย จำเลยบังคับให้ผู้เสียหายที่ 1 ดื่มสุราสาโทประมาณ 2 แก้ว โดยจำเลยก็ดื่มด้วย หลังจากนั้นผู้เสียหายที่ 1 หมดสติไม่รู้สึกตัว เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาก็รู้ว่าถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราอีก และจำเลยได้บอกให้ทราบว่าได้ถ่ายรูปไว้ด้วย โดยจำเลยบอกว่าจะได้เอาไว้เปิดเผยหากไม่ไปมีเพศสัมพันธ์กับจำเลย ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยไปรับผู้เสียหายที่ 1 ที่โรงเรียนท่าแซะรัชดาภิเษกและพาไปบ้านของนายเอกแล้วข่มขืนกระทำชำเราอีกครั้ง เหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 ยอมไปกับจำเลยเพราะกลัวว่าจำเลยจะเอารูปถ่ายเปิดเผย รุ่งขึ้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยได้นัดให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปหาอีกแต่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ไปตามนัด จากนั้นจำเลยก็ไม่ได้ติดต่ออีกเพราะเป็นช่วงหยุดภาคเรียน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2546 นายบัญชา ซึ่งเป็นลุงผู้เสียหายที่ 1 ได้ทราบเรื่องเกี่ยวกับรูปถ่ายของผู้เสียหายที่ 1 ที่จำเลยถ่ายไว้และนำไปล้างที่ร้านถ่ายรูป จึงสอบถามผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 เล่าความจริงให้ฟัง นายบัญชาจึงพาผู้เสียหายที่ 1 ไปแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย ดังนี้ เห็นว่า แม้ในเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายที่ 1 อ้างว่าถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราที่บ้านนายเอกครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 นั้นผู้เสียหายที่ 1 จะเบิกความในรายละเอียดแห่งการกระทำของจำเลยว่า จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปในห้องนอนแล้วจับผู้เสียหายที่ 1 กอดปล้ำพยายามถอดเสื้อผ้าของผู้เสียหายที่ 1 ออก จากนั้นจำเลยถอดเสื้อผ้าของจำเลยแล้วเอาร่างกายทับร่างของผู้เสียหายที่ 1 คือ คร่อมตัวผู้เสียหายที่ 1 ไว้ แล้วเอาอวัยวะเพศสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ชักเข้าชักออกประมาณ 10 นาที จนสำเร็จความใคร่โดยผู้เสียหายที่ 1 อ้างว่าไม่สามารถร้องให้ใครช่วยได้ เนื่องจากแถวนั้นไม่มีบ้านบุคคลอื่นอยู่ใกล้ก็ตาม แต่คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ก็ขัดต่อเหตุมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ เพราะผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า ก่อนที่จะถูกจำเลยพาไปข่มขืนกระทำชำเราประมาณ 1 สัปดาห์ จำเลยได้พาผู้เสียหายที่ 1 ไปเที่ยวน้ำตกกะเปาะและทะเลคาบาน่า ในวันเกิดเหตุจำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปรับผู้เสียหายที่ 1 จากโรงเรียนพาไปที่บ้านนายเอก เมื่อไปถึงบ้านนายเอกเวลาประมาณ 11 นาฬิกา ได้พบนายเอกและนายโอ๋เพื่อนของจำเลยอีกคนหนึ่ง แล้วบุคคลทั้งสองก็พากันออกจากบ้านไป ซึ่งความข้อนี้นายเอกชัย หรือนายเอ เจ้าของบ้านเกิดเหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความถึงกลับเบิกความว่า จำเลยเคยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านเกิดเหตุโดยขับรถจักรยานยนต์ให้ผู้เสียหายที่ 1 นั่งซ้อนท้ายไปกันสองคน ทุกครั้งที่ไปจะเป็นเวลากลางวันและผู้เสียหายที่ 1 แต่งกายในชุดนักเรียน ปกติบ้านดังกล่าวจะปิด แต่เมื่อจำเลยไปถึงจำเลยก็จะเปิดบ้านเอง เพราะจำเลยรู้ว่าพยานเก็บกุญแจบ้านไว้ตรงไหน บางครั้งจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 มาในขณะที่พยานหลับ กับเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 มาที่บ้านเกิดเหตุ พยานเห็นเพียง 4 ถึง 6 ครั้ง จำเลยขับรถจักรยานยนต์ให้ผู้เสียหายที่ 1 นั่งซ้อนท้ายมาในลักษณะเป็นคู่รักกัน ตามที่พยานสังเกตเห็นผู้เสียหายที่ 1 ไม่มีท่าทางที่จะร้องไห้หรือถูกบังคับ บ้านที่เกิดเหตุพนายอยู่กับน้าซึ่งเป็นผู้หญิง และมีบุตรสองคนซึ่งโตแล้ว ขณะที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 มาที่บ้านเกิดเหตุครั้งแรกได้พบกับพยาน พยานอยู่กับจำเลยเพียงครู่เดียวจึงออกไปในครั้งแรกพยานเห็นผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยสนิทสนมกัน ระหว่างที่จำเลยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 พยานไม่ได้ยินเสียงผู้หญิงร้องและก่อนที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 จะกลับ พยานก็สังเกตเห็นผู้เสียหายที่ 1 ไม่มีอาการร้องไห้และนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์จำเลยออกไปพร้อมกัน พยานหลักฐานโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมามีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า แท้จริงแล้วก่อนวันที่ 18 มกราคม 2546 อันเป็นวันเกิดเหตุตามฟ้องนั้น จำเลยหาได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ดังที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความกล่าวอ้างไม่ หากแต่ผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยได้แอบลักลอบได้เสียมีเพศสัมพันธ์กันฉันคู่รักตลอดมา ส่วนเหตุการณ์ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ในฟ้องข้อ 1 ข. นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2546 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2546 เวลากลางวัน วันใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยใช้กำลังประทุษร้ายจับมือทั้งสองข้างและใช้ขาทับขาของผู้เสียหายที่ 1 ไว้ โดยผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยินยอมและอยู่ในภาวะที่สามารถขัดขืนได้ แต่ผู้เสียหายที่ 1 กลับเบิกความถึงเหตุการณ์ที่ถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราในวันที่ 18 มกราคม 2546 ว่า จำเลยกระทำโดยการบังคับให้ผู้เสียหายที่ 1 ดื่มสุราสาโทประมาณ 2 แก้ว จนผู้เสียหายที่ 1 หมดสติไม่รู้สึกตัว ต่อเมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาจึงรู้ตัวว่าถูกข่มขืนกระทำชำเรา ข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 เช่นว่านี้นอกจากจะไม่มีรายละเอียดแห่งการกระทำว่าจำเลยบังคับขืนใจให้ผู้เสียหายที่ 1 เสพสุราด้วยวิธีการอย่างไร อันเป็นข้อพิรุธในเบื้องต้นแล้ว ยังแตกต่างขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับคำฟ้องโจทก์ที่บรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยกระทำการข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการจับมือทั้งสองข้างและใช้ขาทับขาของผู้เสียหายที่ 1 ไว้ จนผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ส่วนข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่าถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราที่บ้านนายเอกในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2546 อีกนั้น ผู้เสียหายที่ 1 ก็เพียงแต่เบิกความว่าถูกข่มขืนกระทำชำเราเหมือนเดิม แต่ก็มิได้กล่าวในรายละเอียดว่าจำเลยกระทำด้วยวิธีการอย่างไร เพียงแต่อ้างว่าเหตุที่ยินยอมไปกับจำเลยเพราะเกรงว่าจำเลยจะเปิดเผยรูปถ่ายเท่านั้น คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่ยืนยันว่าถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราจึงมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือเพราะเมื่อแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวบรรยายฟ้องไว้ ย่อมแสดงว่าคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ต่อศาลในชั้นพิจารณาแตกต่างกับคำให้การชั้นสอบสวนที่ผู้เสียหายที่ 1 เคยให้การไว้ ซึ่งพนักงานอัยการใช้เป็นข้อมูลในการบรรยายการกระทำของจำเลยในคำฟ้อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนและเบิกความต่อศาลแตกต่างขัดแย้งกันไม่อยู่กับร่องกับรอย ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 เป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าก่อนวันเกิดเหตุในวันที่ 18 มกราคม 2546 ผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยแอบลักลอบได้เสียมีเพศสัมพันธ์กันฉันคู่รักตลอดมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2544 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอะไรว่าผู้เสียหายที่ 1 จะขัดขืนหรือไม่ยินยอมให้จำเลยร่วมประเวณีอีก ประกอบกับในวันดังกล่าวจำเลยก็ขับรถจักรยานยนต์ไปรับผู้เสียหายที่ 1 จากโรงเรียนท่าแซะรัชดาภิเษกพาไปที่บ้านนายตุ๋ยเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมาตามปกติ ไม่มีพฤติการณ์ว่าผู้เสียหายที่ 1 จะขัดหรือไม่ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีอีกแต่อย่างใด ดังนั้น คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่กล่าวอ้างว่าถูกจำเลยบังคับให้ดื่มสุราสาโทประมาณ 2 แก้ว จนผู้เสียหายที่ 1 หมดสติไม่รู้สึกตัวเมื่อรู้สึกตัวก็รู้ตัวว่าถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเรา อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้เพราะเมาสุราจนหมดสติ จึงเป็นการขัดต่อเหตุผล ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง พยานหลักฐานโจทก์ดังที่ได้ประมวลวิเคราะห์มาแล้ว จึงยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จริงตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้ลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 มาด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้แม้โจทก์จะกล่าวในฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันและคำขอท้ายฟ้องก็ระบุอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาด้วยก็ตามแต่ตามฟ้องข้อ 1 ก. โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยพรากและพาผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ อายุ 17 ปีเศษ แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองและผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร โดยผู้เสียหายที่ 1 ยินยอมและเต็มใจไปด้วยอยู่ในคำฟ้องข้อ 1 ก. ข้อเดียวแยกออกจ่างหากจากฟ้องข้อ 1 ข. ที่บรรยายฟ้องว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งลักษณะการบรรยายฟ้องของโจทก์เช่นนี้ เมื่อพิจารณาประกอบหลักเกณฑ์การบรรยายฟ้องความผิดหลายกระทงที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ความผิดหลายกระทงจะรวมในฟ้องเดียวกันก็ได้ แต่ให้แยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไป” แล้ว ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าการที่โจทก์บรรยายฟ้องในฟ้องข้อ 1 ก. รวมการกระทำความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจาร และพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารอยู่ในฟ้องข้อเดียวกัน แยกออกจากฟ้องข้อ 1 ข. ฐานข่มขืนกระทำชำเรา นั้น โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจารและพรากผู้เยาว์เพียงกรรมเดียวหาใช่มุ่งประสงค์ให้ลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เหมือนเช่นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ตามฟ้องข้อ 1 ข. อีกระทงหนึ่งไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยฐานพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก กระทงหนึ่งและฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 319 วรรคแรก อีกกระทงหนึ่ง จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและนอกความประสงค์ของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามมาโดยมิได้แก้ไขเสียให้ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก และมาตรา 319 วรรคแรก ให้ลงโทษจำเลยเพียงกรรมเดียวตามมาตรา 319 วรรคแรก จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาความผิดนี้เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share