คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4110/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องนำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 200,000 บาท มาชำระตามคำสั่งศาลชั้นต้นภายในกำหนดเวลาที่ศาลขยายระยะเวลาให้ แสดงว่าผู้ร้องมีคความประสงค์ที่จะต่อสู้คดีต่อไปในชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งในคำแถลงขอวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมของผู้ร้องหลังยื่นคำแถลง 6 วัน แต่เพียงว่า เสนอวันนี้ นำฝากโดยไม่ระบุไว้ด้วยว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของผู้ร้องไว้ด้วยในอุทธรณ์แล้วแม้จะมีตราประทับที่ด้านล่างของคำแถลงว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้วก็ตาม ก็ย่อมฟังได้แต่เพียงว่าเสมียนทนายผู้ร้องทราบคำสั่งศาลที่สั่งรับเงินค่าขึ้นศาลไว้เท่านั้น แม้ในวันเดียวกันศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ และให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่อาจจะถือได้ว่าเสมียนทนายผู้ร้องได้รับทราบคำสั่งดังกล่าวด้วย เพราะเป็นการสั่งในเอกสารอีกฉบับหนึ่ง และเป็นการสั่งในภายหลังโดยไม่ได้แจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องทราบถึงแม้ว่าที่ด้านล่างของอุทธรณ์จะมีตราประทับว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้วก็ตามเพราะศาลชั้นต้นได้เคยส่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์มาครั้งหนึ่งแล้วและถือได้ว่าผู้ร้องได้ทราบคำสั่งดังกล่าวโดยอาศัยตราประทับที่ด้านล่างของอุทธรณ์มาครั้งหนึ่งแล้ว หากจะให้ตราประทับที่ด้านล่างของอุทธรณ์มีผลบังคับตลอดไปว่าศาลชั้นต้นจะสั่งอะไรในอุทธรณ์ให้ถือว่าผู้ร้องได้ทราบทุกคำสั่งในทุก ๆ 7 วัน ก็ย่อมที่จะไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้อง ดังนั้น จึงถือว่าผู้ร้องทราบคำสั่งรับในอุทธรณ์แล้วไม่ได้ เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นต้องแจ้งคำสั่งรับอุทธรณ์ให้แก่ผู้ร้องทราบโดยตรง เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ผู้คัดค้านทั้งสองตามคำสั่งศาลชั้นต้น จึงยังถือไม่ได้ว่า ผู้ร้องจงใจเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3319 และ 53022 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ (บึงกุ่ม) กรุงเทพมหานคร ของนางจินตนา ไชยกูล ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองให้เป็นพับ
ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองภายใน 15 วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 10 วัน มิฉะนั้นให้ถือว่าทิ้งอุทธรณ์
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องไม่ได้นำหมายและสำเนาอุทธรณ์ส่งให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง ขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์และจำหน่ายคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและทำรายงาน ปรากฏตามรายงานของเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2549 ระบุว่า งานอุทธรณ์ฎีกาได้ปลดหมายมาตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2549 จนกระทั่งบัดนี้คู่ความที่เกี่ยวข้องไม่ได้มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่งหมายให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง ศาลชั้นต้นจึงให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่ง
ศาลอุทธรณืพิพากษาว่า ผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นการทิ้งอุทธรณ์ ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านว่า ทนายผู้ร้องมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น วันที่ 24 มกราคม 2549 ศาลชั้นต้นประทับตราที่ด้านล่างของอุทธรณ์ว่าถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้ว เสมียนทนายผู้ร้องลงลายมือชื่อทราบคำสั่ง ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ว่า อุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นคดีมีทุนทรัพย์ จึงให้ผู้ร้องวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ถือว่าทราบคำสั่ง มิฉะนั้นไม่รับอุทธรณ์ ผู้ร้องขอขยายระยะเวลาวางเงิน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายถึงวันที่ 16 มีนาคม 2549 ทนายผู้ร้องมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำแถลงขอวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ดังกล่าวในวันที่ 16 มีนาคม 2549 ศาลชั้นต้นประทับตราที่ด้านล่างของคำแถลงขอวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้วเสมียนทนายผู้ร้องลงลายมือชื่อทราบคำสั่งแล้ว ต่มาวันที่ 22 มีนาคม 2549 ศาลชั้นต้นสั่งในคำแถลงขอวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ว่า เสนอวันนี้นำฝากและมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องในวันที่ 22 มีนาคม 2549 ว่า ผู้ร้องชำระค่าธรรมเนียมศาลตามกำหนดที่ศาลขยายระยะเวลาให้ รับอุทธรณ์ของผู้ร้อง สำเนาให้ผู้คัดค้านทั้งสองแก้ภายใน 15 วัน โดยให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาแก่อีกฝ่ายภายใน 15 วัน การส่งหากไม่มีผู้รังโดยชอบให้ปิดหมาย ถ้าส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 10 วัน นับแต่ทราบมิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ ปรากฏว่าผู้ร้องไม่ได้มานำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งจนกระทั่งวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 ทนายผู้คัดค้านที่ 1 จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์และจำหน่ายคดี เห็นว่า การที่ผู้ร้องนำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 200,000 บาท มาชำระตามคำสั่งศาลชั้นต้นภายในกำหนดเวลาที่ศาลขยายระยะเวลาให้ แสดงว่าผู้ร้องมีความประสงค์ที่จะต่อสู้คดีต่อไปในชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งในคำแถลงขอวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมของผู้ร้องหลังจากยื่นคำแถลง 6 วัน แต่เพียงว่า เสนอวันนี้ นำฝาก โดยไม่ระบุไว้ด้วยว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของผู้ร้องไว้ด้วยในอุทธรณ์แล้ว แม้จะมีตราประทับที่ด้านล่างของคำแถลงว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้วก็ตาม ก็ย่อมฟังได้เพียงว่าเสมียนทนายผู้ร้องทราบคำสั่งศาลที่สั่งรับเงินค่าขึ้นศาลไว้เท่านั้น แม้ในวันเดียวกันศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ และให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่ง ก็ไม่อาจจะถือได้ว่าเสมียนทนายผู้ร้องได้รับทราบคำสั่งดังกล่าวด้วย เพราะเป็นการสั่งในเอกสารอีกฉบับหนึ่ง และเป็นการสั่งในภายหลังโดยไม่ได้แจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องทราบ ถึงแม้ว่าที่ด้านล่างของอุทธรณ์จะมีตราประทับว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้วก็ตาม เพราะศาลชั้นต้นได้เคยสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์มาครั้งหนึ่งแล้ว และถือว่าผู้ร้องได้ทราบคำสั่งดังกล่าวโดยอาศัยตราประทับที่ด้านล่างของอุทธรณ์มาครั้งหนึ่งแล้ว หากจะให้ตราประทับที่ด้านล่างของอุทธรณ์มีผลบังคับตลอดไปว่าศาลชั้นต้นจะสั่งอะไรในอุทธรณ์ให้ถือว่าผู้ร้องได้ทราบทุกคำสั่งในทุก ๆ 7 วัน ก็ย่อมที่จะไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้อง ดังนั้น จึงถือว่าผู้ร้องทราบคำสั่งรับในอุทธรณ์แล้วไม่ได้เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นต้องแจ้งคำสั่งรับอุทธรณ์ให้แก่ผู้ร้องทราบโดยตรงเมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ผู้คัดค้านทั้งสองตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องจงใจเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด อันเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์คำพิพากษาให้จำหน่ายคดีของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้ศาลชั้นต้นแจ้งคำสั่งรับอุทธรณ์ให้ผู้ร้องทราบแล้วดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share