คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2075/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการสาขาของธนาคารผู้เสียหายกรอกข้อความลงในหนังสือสัญญากู้เงินโดยใช้เงินฝากเป็นประกันและหนังสือยินยอมมอบเงินฝากเพื่อเป็นหลักประกันการชำระเงินกู้และหรือเป็นหลักประกันการออกหนังสือค้ำประกันที่มีลายมือชื่อปลอมของ ห. และ ต. แล้วจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้ตรวจเอกสารดังกล่าวโดย ส. ผู้จัดการสาขาเป็นผู้อนุมัติเงินกู้ นำไปให้พนักงานการเงินผู้จ่ายเงินตรวจจ่ายเงินให้จำเลยรับเงินไปด้วยตนเอง และนำเงินไปมอบให้ ส. แล้วมีการเก็บเอกสารต่างๆ ไว้ในตู้นิรภัยของธนาคาร โดยไม่มีสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ห. และ ต. อยู่ด้วยตามขั้นตอนและข้อบังคับของธนาคาร แสดงว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นกับ ส. เป็นการวางแผนกันมาก่อนและมีการแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยจึงเป็นตัวการสมคบร่วมกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 11 และ ป.อ. มาตรา 268, 352, 354 กับ ส. มาตั้งแต่ต้น มิใช่ผู้สนับสนุน

ย่อยาว

คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1081/2547 แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากาษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรผู้เสียหายที่ 1 เป็นองค์การและหน่วยงานของรัฐ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาเซกา เป็นสาขาหนึ่งของผู้เสียหายที่ 1 ขณะเกิดเหตุมีนายเสรีชัย เป็นผู้จัดการสาขา และจำเลยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการสาขา นายเสรีชัยและจำเลยมีหน้าที่จัดการและรักษาเงิน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยกับนายเสรีชัยร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือสัญญากู้เงินโดยใช้เงินฝากเป็นประกันและหนังสือยินยอมมอบเงินฝากเพื่อเป็นหลักประกันการชำระเงินกู้และหรือเป็นหลักประกันออกหนังสือค้ำประกันของนายไหล และนางตัน อันเป็นเอกสารสิทธิโดยร่วมกันลงลายมือชื่อนายไหลและนางตัน เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 หลงเชื่อว่าเป็นหนังสือสัญญากู้เงินที่นายไหลและนางตันเป็นผู้กู้ และเป็นหนังสือยินยอมมอบเงินฝากเพื่อเป็นหลักประกันการชำระเงินกู้ที่นายไหลและนางตันยินยอม โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ 1 นายไหล นางตัน และประชาชน จำเลยกับนายเสรีชัยร่วมกันใช้และอ้างหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือยินยอมดังกล่าวแก่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเหตุให้ได้รับเงินกู้ตามเอกสารดังกล่าวไปจากผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยกับนายเสรีชัยปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและโดยมิชอบเบียดบังยักยอกเงินจำนวน 800,000 บาท ของผู้เสียหายที่ 1 ไปเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3, 4, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268, 352, 354, 91, 83 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 700,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 นายไหลและนางตัน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 (ที่ถูกมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265), 354 ประกอบมาตรา 352, 83 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานเป็นพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 700,000 บาท แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 194 ประกอบมาตรา 225 ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2541 มีคนปลอมลายมือชื่อของนายไหล และนางตัน ในแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินโดยใช้เงินฝากเป็นประกันในช่องผู้กู้ และในแบบพิมพ์หนังสือยินยอมมอบเงินฝากเพื่อเป็นหลักประกันการชำระเงินกู้และหรือเป็นหลักประกันการออกหนังสือค้ำประกันในช่องผู้ยินยอม จำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความลงรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กู้ จำนวนเงินกู้ 800,000 บาท และรายละเอียดการยอมมอบเงินฝากตามบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เป็นหลักประกันการชำระหนี้เงินกู้ แล้วจำเลยลงลายมือชื่อในช่องพยานและผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือและผู้เขียน และลงลายมือชื่อในช่องผู้ตรวจในเอกสารดังกล่าว ส่วนนายเสรีชัยลงลายมือชื่อเป็นผู้อนุมัติเงินกู้ในหนังสือสัญญากู้เงิน ต่อมาภายหลังจำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปให้นางสาวรินทร์ภรณ์ พนักงานการเงิน ผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยซึ่งลาหยุดในวันที่ 8 ธันวาคม 2541 ลงลายมือชื่อในช่องพยานและผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือแล้วจำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปให้พนักงานการเงินผู้จ่ายเงินตรวจสอบจ่ายเงินและลงลายมือชื่อว่าได้จ่ายเงินแล้วในหนังสือสัญญากู้เงิน จำเลยรับเงินกู้ 800,000 บาท นำไปให้นายเสรีชัย หลังจากนั้นมีการเก็บเอกสารหนังสือสัญญากู้เงินโดยใช้เงินฝากเป็นประกัน หนังสือยินยอมมอบเงินฝากเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้เงินกู้ และเอกสารประจำตัวบุคคลของนายไหลและนางตันไว้ในตู้นิรภัยภายในห้องมั่นคงของธนาคารโดยไม่มีสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของนายไหลและนางตันรวมอยู่ด้วย จำเลยและนายเสรีชัยเป็นผู้เก็บกุญแจตู้นิรภัยและห้องมั่นคง เห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่กรอกข้อความลงในหนังสือสัญญากู้เงินโดยใช้เงินฝากเป็นประกันและหนังสือยินยอมมอบเงินฝากเพื่อเป็นหลักประกันการชำระเงินกู้และหรือเป็นหลักประกันการออกหนังสือค้ำประกันที่มีเพียงลายมือชื่อของนายไหลและนางตันลงลายมือชื่อเป็นผู้ตรวจเอกสารดังกล่าว โดยนายเสรีชัยเป็นผู้อนุมัติเงินกู้ แล้วนำไปให้พนักงานการเงินผู้จ่ายเงินตรวจจ่ายเงินให้โดยจำเลยรับเงิน 800,000 บาท ไปด้วยตนเอง จากนั้นนำเงินจำนวนดังกล่าวไปมอบให้นายเสรีชัย แล้วมีการเก็บเอกสารต่างๆ ไว้ในตู้นิรภัยภายในห้องมั่นคงของธนาคาร โดยไม่มีสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของนายไหลและนางตันอยู่ด้วยตามขั้นตอนและข้อบังคับของธนาคาร แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นกับนายเสรีชัยเป็นการวางแผนกันมาก่อนและมีการแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยจึงเป็นตัวการสมคบร่วมกระทำความผิดกับนายเสรีชัยมาตั้งแต่ต้น มิใช่เจตนาเพียงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share