แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญามีความเข้าใจตรงกันและมีเจตนาที่แท้จริงในการทำสัญญาซื้อขายระหว่างกันว่า ถ้าการไฟฟ้านครหลวงไม่อนุมัติให้ใช้สินค้าของโจทก์ใบสั่งซื้อสินค้าเป็นอันยกเลิก มิได้หมายความถึงว่าต้องให้การไฟฟ้านครหลวงยกเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างกับบริษัท ย. ก่อน จึงจะถือว่าใบสั่งซื้อสินค้าเป็นอันยกเลิกดังที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด การที่ข้อตกลงในการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยมีว่าหากการไฟฟ้านครหลวงไม่อนุมัติให้ใช้ท่อร้อยสายไฟฟ้าที่เป็นสินค้าของโจทก์ให้ถือว่าใบสั่งสินค้าเป็นอันยกเลิกนั้น ถือเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับหลัง เมื่อต่อมาการไฟฟ้านครหลวงไม่อนุมัติให้ใช้สินค้าของโจทก์ นิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมสิ้นผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จตาม ป.พ.พ. มาตรา 183 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน 23,654,400 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 19,712,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2542 และวันที่ 9 เมษายน 2542 การไฟฟ้านครหลวงทำสัญญาจ้างบริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง คอนสตรัคชั่น จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดนภาก่อสร้าง (ร่วมค้า) ก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินร่วมกับโครงการก่อสร้างทางลอดใต้ทางแยกบางพลัด (ถนนจรัญสนิทวงศ์ – ถนนราชวิถี) ของกรุงเทพมหานครและก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินร่วมกับโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแห่ง – พัฒนาการ (ผ่านซอยถาวรธวัช 1) ของกรุงเทพมหานคร จำเลยได้รับเหมาช่างงานมาจากบริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดนภาก่อสร้าง (ร่วมค้า) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 จำเลยสั่งซื้อท่อร้อยสายไฟฟ้าทำด้วยใยแก้วขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายใน 5 นิ้ว ผนังท่อหนา 0.066 นิ้ว ความยาว 35,900 เมตร กับ 25,700 เมตร รวม 61,600 เมตร ราคาเมตรละ 320 บาท เป็นเงิน 19,712,000 บาท จากโจทก์ ต่อมาการไฟฟ้านครหลวงไม่อนุมัติให้ใช้ท่อร้อยสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ของโจทก์ในงานทั้งสองแห่ง เนื่องจากเป็นแบบขันเกลียวไม่สามารถนำมาใช้ติดตั้งและใช้ในการลากสายไฟฟ้าใต้ดินได้ต้องใช้แบบสวมอัดเท่านั้นโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยรับสินค้าที่สั่งซื้อไว้ แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า …โจทก์ทราบดีอยู่ก่อนแล้วว่าการที่จะนำสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าไปใช้ในงานก่อสร้างของการไฟฟ้านครหลวงนั้น บริษัทเอกชนผู้ทำงานจะต้องนำสินค้าไปให้การไฟฟ้านครหลวงตรวจสอบจนเป็นที่พอใจและได้รับอนุมัติการใช้ก่อนทุกกรณีจึงจะสามารถนำสินค้านั้นไปใช้ทำงานได้ แม้สินค้าท่อร้อยสายไฟฟ้าของโจทก์จะได้รับการรับรองผ่านหลักเกณฑ์จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือการไฟฟ้านครหลวงอนุมัติให้ใช้สินค้าของโจทก์ได้ในงานก่อสร้างโครงการอื่นของการไฟฟ้านครหลวงมาแล้วก็ตามเนื่องจากลักษณะการทำงานในพื้นที่แต่ละโครงการของการไฟฟ้านครหลวงแตกต่างกันสินค้าท่อร้อยสายไฟฟ้าตามใบสั่งซื้อเอกสารหมาย จ.3 มีราคาสูงถึงเกือบ 20,000,000 บาท โจทก์ทราบดีว่าจำเลยสั่งซื้อจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ในงานของการไฟฟ้านครหลวงที่แยกบางพลัด ถนนจรัญสนิทวงศ์และที่แยกถนนรามคำแหง – พัฒนาการโดยเฉพาะ เมื่อจำเลยไม่สามารถนำสินค้าโจทก์ไปใช้งานก่อสร้างโครงการอื่นได้ การที่การไฟฟ้านครหลวงจะอนุมัติให้ใช้ท่อร้อยสายไฟฟ้าของโจทก์หรือไม่จึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญยิ่งแก่จำเลยไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะยอมตกลงทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ว่า หากการไฟฟ้านครหลวงยกเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างงานกับบริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่จำเลยรับเหมาช่วงงานก่อสร้างดังกล่าวมาทำแล้ว ให้ถือว่าการสั่งซื้อสินค้าท่อร้อยสายไฟฟ้าตามใบสั่งซื้อเอกสารหมาย จ.3 เป็นอันยกเลิกดังที่โจทก์กล่าวอ้างเพราะจำทำให้จำเลยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบหากการไฟฟ้านครหลวงไม่อนุมัติให้ใช้สินค้าจำเลยไม่สามารถนำสินค้าท่อร้อยสายไฟฟ้าของโจทก์ไปใช้ประโยชน์อื่นใดได้ต้องสูญเสียเงินค้าสินค้าให้โจทก์เกือบ 20,000,000 บาท ทั้งที่ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับบริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด แต่อย่างใด ดังนั้น หากการไฟฟ้านครหลวงไม่อนุมัติให้ใช้สินค้าท่อร้อยสายไฟฟ้าของโจทก์ก็ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์เพื่อให้จำเลยได้รับความเสียหายมากมายเช่นนี้ พยานหลักฐานจำเลยที่นำสืบมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ไปติดต่อขอร้องให้จำเลยออกใบสั่งซื้อสินค้าเอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์เพื่อโจทก์นำไปติดต่อกับการไฟฟ้านครหลวงเพื่อให้อนุมัติใช้สินค้าดังกล่าวในงานได้ โดยอ้างอาศัยความสัมพันธ์การเป็นนักศึกษารุ่นพี่รุ่นน้องกันที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระหว่างนายชัยวัฒน์กรรมการโจทก์และนายสุวิทย์กรรมการจำเลย โดยรับปากว่าจะไม่ทำให้นายสุวิทย์เดือดร้อน จำเลยจึงยอมตกลงสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าหากการไฟฟ้านครหลวงไม่อนุมัติให้ใช้สินค้าโจทก์ให้ถือว่าการซื้อขายสินค้าครั้งนี้เป็นอันยกเลิก ข้อความที่นางสาวพรภิมาจัดพิมพ์ขึ้นในใบสั่งซื้อเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 1 ด้านล่างตรงหมายเหตุข้อที่ 1 ที่ว่า หากการไฟฟ้านครหลวงยกเลิกสัญญาใบสั่งซื้อฉบับนี้ก็ยกเลิกด้วยนั้น เห็นได้ว่าโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญามีความเข้าใจตรงกันและมีเจตนาที่แท้จริงในการทำสัญญาซื้อขายระหว่างกันว่า ถ้าการไฟฟ้านครหลวงไม่อนุมัติให้ใช้สินค้าของโจทก์ ใบสั่งซื้อเอกสารหมาย จ.3 เป็นอันยกเลิก มิได้หมายความถึงว่าต้องให้การไฟฟ้านครหลวงยกเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างกับบริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ก่อน จึงจะถือว่าใบสั่งซื้อสินค้าเอกสารหมาย จ.3 เป็นอันยกเลิกดังที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทั้งการนำสืบของจำเลยเป็นการนำสืบเรื่องการตีความหมายข้อความในสัญญาเพื่อทราบถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของคู่กรณีขณะทำสัญญามิใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 การที่ข้อตกลงในการซื้อขายระหว่างโจทก์นกับจำเลยมีว่า หากการไฟฟ้านครหลวงไม่อนุมัติให้ใช้ท่อร้ายสายไฟฟ้าที่เป็นสินค้าของโจทก์ให้ถือว่าใบสั่งสินค้าเป็นอันยกเลิกนั้น ถือเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับหลัง เมื่อต่อมาการไฟฟ้านครหลวงไม่อนุมัติให้ใช้สินค้าของโจทก์ นิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมสิ้นผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 183 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 4,500 บาท แทนจำเลย