คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7109/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 5770 เป็นของ ส. เมื่อปี 2534 ส. ฟ้องจำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในคดีนี้และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตที่ดินของ ส. จึงฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของ ส. คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพัน ส. และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ส. โจทก์จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกเพราะคำว่าบุคคลภายนอกที่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) นั้น ย่อมหมายถึงบุคคลทั่วไปนอกคดีที่จะยกขึ้นพิสูจน์ต่อสู้ได้ว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าผู้ครอบครอง ดังนั้น คดีดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปดำเนินการยกเลิกหรือเพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองคัดค้านและขัดขวางการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ไปดำเนินการ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 3 งาน 57 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ โดยการครอบครอง ห้ามโจทก์
หรือบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนนี้ต่อไป การกระทำของโจทก์เป็นการรบกวนการครอบครองของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ขอคิดค่าเสียหายจากโจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากจำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ให้การแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งให้โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 53 ตารางวา ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 1 จำนวน 1,000 บาท และแทนจำเลยที่ 2 จำนวน 1,500 บาท
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางกฤษณี ผู้จัดการมรดกของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้เถียงกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5570 ตำบลไผ่จำศิล อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 36 ตารางวา โดยโจทก์ซื้อมาจากนายสุรทิน นิยมศิลป์ชัย กับพวกเมื่อปี 2534 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.12 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 18699 ตำบลไผ่จำศิล อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เนื้อที่ 2 ไร่ 44 ตารางวา โดยได้รับการยกให้จากบิดามารดาจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2517 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.3 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5566 ตำบลไผ่จำศิล อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เนื้อที่ 6 ไร่ 2 ตารางวา โดยได้รับการยกให้จากยายเมื่อปี 2536 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.4 ที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสองปรากฏตามรูปแผนที่โฉนดที่ดินดังกล่าวข้างต้น ที่ดินของจำเลยทั้งสองอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ มีถนนสาธารณะคั่นระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ฝั่งถนนเดียวกัน โดยที่ดินของจำเลยที่ 1 อยู่ทางด้านทิศเหนือ ส่วนที่ดินของจำเลยที่ 2 อยู่ทางด้านทิศใต้ติดต่อกัน เมื่อปี 2541 โจทก์ได้ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดอ่างทอง แต่เจ้าหน้าที่ไม่อาจทำการรังวัดให้ได้ เนื่องจากจำเลยทั้งสองต่างคัดค้านแนวเขตที่โจทก์นำชี้โดยอ้างว่า โจทก์นำชี้แนวเขตที่ดินทับทางสาธารณะรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ดินที่โจทก์นำชี้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ 1 ปรากฏตามพื้นที่สีเขียวเนื้อที่ประมาณ 3 งาน 57 ตารางวา อันเป็นที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ดินที่โจทก์นำชี้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ 2 ปรากฏตามพื้นที่สีน้ำเงินเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา อันเป็นที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ดินพิพาทดังกล่าวอยู่ติดกับทางสาธารณะทางด้านทิศตะวันตกตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 เมื่อปี 2534 นายสุรทินเจ้าของที่ดินที่ขายให้แก่โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น ขอให้ขับไล่จำเลยที่ 1 ออกไปจากที่ดินดังกล่าว โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินที่โจทก์พิพาทกับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ และในคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าที่ดินที่โจทก์อ้างว่าบุกรุกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ามีทางสาธารณะอื่นอีก นอกจากทางสาธารณะที่ปรากฏเป็นแนวเขตที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 2 (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ก็คือ ทางลูกรังที่สร้างขึ้นสมัยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ที่พิพาทอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของถนนดังกล่าว ส่วนที่ดินของโจทก์นั้นอยู่ทางด้านทิศตะวันออกติดถนน ที่พิพาทจึงอยู่นอกเขตที่ดินของโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 439/2534 ของศาลชั้นต้น ซึ่งถึงที่สุดแล้ว
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทพื้นที่สีเขียวตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 เป็นของโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าโจทก์มิได้เป็นคู่ความกับจำเลยที่ 1 หรืออยู่ในฐานะเช่นเดียวกับคู่ความในคดีก่อนและประเด็นแห่งคดีต่างกัน ประกอบกับโจทก์รับโอนที่ดินมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนโจทก์จึงเป็นบุคคลภายนอกไม่ผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนนั้น เห็นว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 5770 ตามเอกสารหมาย จ.12 เป็นของนายสุรทิน นิยมศิลป์ชัยเมื่อปี 2534 นายสุรทินฟ้องจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในคดีนี้ และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 โดยพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตที่ดินของนายสุรทิน จึงฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายสุรทิน ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 439/2534 คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันนายสุรทินและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนายสุรทิน โจทก์จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกเพราะคำว่าบุคคลภายนอกที่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง (2) นั้น ย่อมหมายถึงบุคคลทั่วไปนอกคดีที่จะยกขึ้นพิสูจน์ต่อสู้ได้ว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าผู้ครอบครอง ดังนั้น คดีดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจากนายสุรทินคดีจะฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ จึงต้องฟังว่า ที่ดินพิพาทในกรอบสีเขียวตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า ที่ดินพิพาทพื้นที่สีน้ำเงินตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 เป็นของโจทก์หรือไม่ …จึงน่าเชื่อว่า ที่ดินพื้นที่สีน้ำเงินตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครอง ที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงไม่ใช่ของโจทก์ส่วนเรื่องค่าเสียหายนั้น เมื่อที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ แต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share