แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้ว จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำรับสารภาพของจำเลยว่ามีเจตนากระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมา จำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดหาได้ไม่ เพราะขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยและมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มตรา 15
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติและร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่ความผิดฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองนั้น เป็นการกระทำต่างวาระกัน อาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันกับการกระทำความผิดสองฐานดังกล่าวจึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 11, 69, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 31, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91 ริบของกลาง และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนกับบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 69 วรรคสอง, 73 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2), 73 วรรคสอง (2)), 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 31 วรรคสอง (2)), 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กระทงแรกฐานร่วมกันทำไม้ จำคุก 6 ปี กระทงที่ 2 ฐานร่วมกันยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง จำคุก 6 ปี กระทงที่ 3 ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย กระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 9 ปี ริบของกลาง และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนกับบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันทำไม้และร่วมกันยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง เป็นความผิดกรรมเดียว ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว รวมจำคุก 12 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในทำนองว่ามิได้มีเจตนาในการกระทำความผิดนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้วจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำรับสารภาพของจำเลยว่ามีเจตนากระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมาจำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดหาได้ไม่ เพราะขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยและมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกันต่อเนื่องกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น เห็นว่า การที่จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติ และร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ความผิดฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองนั้นเป็นการกระทำต่างวาระกัน อาศัยเจตนาในการทำความผิดแตกต่างแยกจากกันกับการกระทำความผิดสองฐานดังกล่าวจึงเป็นความผิดต่างกรรมกันและที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง ทำไม้ในเขตบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาปลายโต๊ะ – ป่าเขาศก เนื้อที่ 12 ไร่ และจำเลยยังทำไม้และครอบครองไม้อันยังไม่ได้แปรรูปถึง 13 ตัน ปริมาตร 17.35 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณไม้จำนวนมาก โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่การกระทำของจำเลยนับว่าเป็นภัยต่อทรัพยากรป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์และมีค่ายิ่งต่อประเทศชาติ กรณีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงแม้จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว ก็ไม่เพียงพอที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลย แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานบุกรุก ยึดถือครอบครอง ทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง กระทงละ 6 ปี ก่อนลดโทษนั้นหนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานบุกรุก ยึดถือครอบครอง ทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้ลงโทษจำคุกจำเลย มีกำหนด 1 ปี และฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง ให้ลงโทษจำคุกจำเลย มีกำหนด 4 ปี รวมจำคุก 5 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8