คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7705/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย โดยมิได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยให้โจทก์ร่วมทั้งสองแก้อุทธรณ์แต่ประการใด ซึ่งบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 200 บัญญัติว่า “ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์” เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโจทก์ ดังนั้น พนักงานอัยการและผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 จึงต่างมีฐานะเป็นโจทก์ด้วยกัน การที่ศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยให้เฉพาะแก่พนักงานอัยการโจทก์ โดยมิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองแก้ ย่อมเป็นการทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองเสียสิทธิในการทำคำแก้อุทธรณ์ตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. อันว่าด้วยอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317, 91, 92 เพิ่มโทษจำคุกจำเลยหนึ่งในสามและนับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2535/2548 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานจำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นายครรชิต ผู้เสียหายที่ 2 และนางสำรวย ผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคแรก วรรคท้าย เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันควร จำคุก 3 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 12 ปี เพิ่มโทษจำคุกหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 16 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2535/2548 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลย ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามสำนวนปรากฏว่า ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย โดยมิได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยให้โจทก์ร่วมทั้งสองแก้อุทธรณ์แต่ประการใด ซึ่งบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 200 บัญญัติว่า “ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์” เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโจทก์ ดังนั้น พนักงานอัยการและผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 จึงต่างมีฐานะเป็นโจทก์ด้วยกัน การที่ศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยให้เฉพาะแก่พนักงานอัยการโจทก์ โดยมิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองแก้ย่อมเป็นการทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองเสียสิทธิในการทำคำแก้อุทธรณ์ตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาคดีมานั้น จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225″
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการในเรื่องส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยให้โจทก์ร่วมทั้งสองแก้แล้วส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share