คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6894/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยกระทำความผิดในขณะกฎหมายมิได้บัญญัติห้ามมิให้รับฟังคำให้การชั้นจับกุมมาประกอบการใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานของโจทก์ การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว กระทำโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22 )ฯ ซึ่งเป็นการแก้ไขในภายหลังจากการจับจำเลย บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่มิได้ให้มีผลย้อนหลังไปถึงคดีที่ได้ดำเนินการจับกุมมาก่อนแล้วหน้านี้ บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่จึงไม่มีผลกระทบกระทั่งถึงการจับจำเลยซึ่งได้กระทำก่อนหน้าที่มีการแก้ไขแล้วซึ่งชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้น ดังนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจนำคำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยมาประกอบการพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 90 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์และบวกโทษของจำเลย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าอยู่ในระหว่างรอการลงโทษจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง, (ที่ถูก 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่)), 102 การกระทำของจำเลยผิดกฎหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน บวกโทษที่รอการลงโทษไว้แล้วเป็นจำคุก 3 ปี 10 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุก 4 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน เมื่อรวมโทษจำคุกที่รอการลงโทษอยู่แล้วเป็นจำคุก 2 ปี 14 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลล่างทั้งสองนำคำรับสารภาพชั้นจับกุมมารับฟังลงโทษจำเลยเป็นการไม่ชอบเนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย บัญญัติไว้นั้น เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 ซึ่งขณะนั้นกฎหมายมิได้บัญญัติห้ามมิให้รับฟังคำให้การชั้นจับกุมมาประกอบการใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานของโจทก์ การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวกระทำโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 23 ธันวาคม 2547 จึงเป็นการแก้ไขในภายหลังจากการจับจำเลย ซึ่งบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่มิได้ให้มีผลย้อนหลังไปถึงคดีที่ได้ดำเนินการจับกุมมาแล้วก่อนหน้านี้ ดังนั้น บทบัญญัติที่ให้แก้ไขใหม่จึงไม่มีผลกระทบกระทั่งถึงการจับจำเลยซึ่งได้กระทำก่อนหน้าที่มีการแก้ไขแล้วซึ่งชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้น ดังนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจนำคำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยมาประกอบการพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานของโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share