คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5725/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้กู้ทำสัญญากู้เงินสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันโดยยินยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วม และตามหนังสือสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏ ข้อ 4 ระบุว่า ผู้กู้ตกลงให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนและเงินพึงได้อื่นได้อื่นใดที่ผู้กู้พึงได้จากนายจ้างเป็นรายเดือนให้ผู้กู้โดยวิธีนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้กู้ที่เปิดไว้ ณ สำนักงานธนาคารผู้ให้กู้เป็นประจำทุกเดือนติดต่อกันตลอดไป จากข้อสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่านิติสัมพันธ์ระหว่าง ผู้กู้กับโจทก์ตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏในลักษณะนี้กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้กู้ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2534 หลังจากนั้นผู้กู้หรือหน่วยงานของผู้กู้ก็มิได้นำเงินมาชำระหนี้โจทก์อีกเลย จึงถือว่าเป็นการประพฤติผิดสัญญา และเมื่อตามหนังสือสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏ ข้อ 4 ระบุว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดคืนได้ทันทีถือได้ว่าระยะเวลา ซึ่งโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นั้นเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นไป หาใช่นับแต่วันครบกำหนด 7 วันนับแต่วันที่ 5 มกราคม 2547 ที่โจทก์บอกเลิกสัญญาดังที่โจทก์ฎีกาไม่ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2547 จึงเกิน 10 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 50,757.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 15,751.58 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า พลตำรวจสมฤทธิ์หรือนายพรประชา ได้เปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ เลขที่ 601-1-45064-4 ไว้แก่โจทก์ โดยพลตำรวจสมฤทธิ์ตกลงให้หน่วยงานต้นสังกัดจ่ายเงินเดือนและเงินพึงได้อื่นใดที่ได้รับเป็นรายเดือนเข้าบัญชีเงินฝากดังกล่าว อีกทั้งโจทก์ได้มอบบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มเพื่อใช้ในการเบิกถอนเงินจากบัญชีได้อีกด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2531 พลตำรวจสมฤทธิ์ได้ทำสัญญากู้เงินสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ เป็นเงินจำนวน 7,100 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี โดยจะชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกเดือนภายในวันสิ้นสุดของเดือน หากหน่วยงานของพลตำรวจสมฤทธิ์ไม่นำเงินเดือนหรือเงินพึงได้อื่นใดเข้าบัญชีเงินฝากและไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ยอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญา และยอมให้โจทก์ฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดได้ทันที โดยตกลงจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา ในการทำสัญญากู้ยืมเงินมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันโดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏ ข้อ 2 ระบุว่า ผู้กู้ตกลงเบิกเงินกู้ไปจากผู้ให้กู้ได้ตามจำนวนและเวลาที่ผู้กู้ต้องการบรรดาเงินที่ผู้กู้หรือบุคคลอื่นใดเบิกจากเครื่องเอทีเอ็มของผู้ให้กู้หรือเครื่องของธนาคารอื่นด้วยเลขรหัสของผู้กู้ หรือโดยเช็คหรือเอกสารหรือใบเบิกเงินหรือคำสั่งจ่ายเงินของผู้กู้ในรูปใดๆ ก็ตาม ให้ถือเป็นหลักฐานแห่งหนี้ และให้ถือเป็นหนี้เงินกู้ตามสัญญานี้ทั้งสิ้น และข้อ 4 ระบุว่า ผู้กู้ตกลงให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนและเงินพึงได้อื่นใดที่ผู้กู้พึงได้จากนายจ้างเป็นรายเดือนให้ผู้กู้ โดยวิธีนำเข้าบัญชีเงินฝากของผู้กู้ที่เปิดไว้ ณ สำนักงานธนาคารผู้ให้กู้เป็นประจำทุกเดือนติดต่อกันตลอดไป จากข้อสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่านิติสัมพันธ์ระหว่างพลตำรวจสมฤทธิ์กับโจทก์ตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏในลักษณนี้กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าพลตำรวจสมฤทธิ์ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2534 และหลังจากนั้นพลตำรวจสมฤทธิ์หรือหน่วยงานของพลตำรวจสมฤทธิ์ก็มิได้นำเงินมาชำระหนี้โจทก์อีกเลย จึงถือว่าเป็นการประพฤติผิดสัญญา และเมื่อตามหนังสือสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏ ข้อ 4 ระบุว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดคืนได้ทันที ถือได้ว่าระยะเวลาซึ่งโจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นไป หาใช่นับแต่วันครบกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2547 ที่โจทก์บอกเลิกสัญญาดังที่โจทก์ฎีกาไม่ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2547 จึงเกิน 10 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์ ศาลฎีกาเห็นด้วยกับผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share