คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5334/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หนี้ที่จะหักกลบลบหนี้กันได้นั้นต้องเป็นหนี้อย่างเดียวกัน และต้องเป็นหนี้ที่ไม่มี ข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 ประกอบมาตรา 344 พยานหลักฐานที่โจทก์อ้างได้แก่ใบเสร็จรับเงินซึ่งโดยปกติเป็นเอกสารแสดงการรับเงิน จึงมิได้เป็นหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์ ส่วนใบส่งของ/ใบแจ้งหนี้เป็นเอกสารที่บริษัท ท. มีไปถึงจำเลย จึงเป็นหลักฐานที่แสดงว่าหนี้ค่าโฆษณาดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยพึงชำระแก่บริษัท ท. โดยเฉพาะเจาะจง มิได้พึงชำระให้แก่โจทก์ แม้โจทก์และบริษัท ท. เป็นบริษัท ในเครือเดียวกัน แต่ก็เป็นนิติบุคคลคนละรายกันตามกฎหมาย หากจะมีการโอนหนี้ของ บริษัท ท. ให้แก่โจทก์ก็จะต้องทำเป็นหนังสือและต้องบอกกล่าวไปยังจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ หรือจำเลยต้องยินยอมด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำ ดังกล่าว และที่โจทก์อ้างว่ามีการสรุปยอดหนี้กันแล้ว คงเหลือจำนวนเงินที่โจทก์จะต้อง ชำระให้แก่จำเลยอีก 257,000 บาท ก็เป็นเพียงเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ส่วนที่โจทก์อ้างว่า พนักงานของจำเลยส่งโทรสารไปยังโจทก์แจ้งว่าโจทก์ต้องชำระเงินจำนวน 574,000 บาท ก็ปรากฏในเอกสารดังกล่าวว่ามีผู้ลงนาม ในตอนท้ายเป็นชื่อเล่นว่า ม. โดยไม่ปรากฏว่ามีชื่อจำเลยอยู่ และไม่ปรากฏว่าส่งไปจากที่ใด ส่วนจำเลยนำสืบปฏิเสธโดยสิ้นเชิงว่าจำเลยไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำโฆษณา แสดงว่าจำเลยยังมีข้อต่อสู้ในเรื่องหนี้ค่าโฆษณาที่โจทก์จะขอหักกลบลบหนี้กับจำเลย โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ค่าโฆษณาของบริษัท ท. ไปหักกลบลบหนี้กับเงินที่โจทก์จะต้องชำระ ในวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อห้องชุดในโครงการอาคารชุด “เอกไพลินปาร์ค” จากจำเลย จำนวน 2 ห้อง เป็นเงิน 1,340,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินจองจำนวน 20,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาและค่าทำสัญญาจำนวน 80,000 บาท ค่างวด งวดละ 15,200 บาท งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 จำนวน 60,800 บาท จำเลยนำไปหักกลบลบหนี้กับค่าโฆษณาซึ่งจำเลยค้างชำระอยู่กับโจทก์ ส่วนค่างวดงวดที่ 5 ถึงงวดที่ 15 โจทก์ชำระให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว ต่อมาจำเลยติดต่อโจทก์ให้โฆษณาโครงการ “เอกไพลินปาร์ค” อีก แต่โจทก์มอบให้บริษัทไทยประสิทธิ์ซายน์เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโจทก์โฆษณาแทนเป็นเงิน 754,800 บาท โจทก์และจำเลยตกลงให้นำหนี้ดังกล่าวมาหักจากราคาห้องชุด โจทก์จึงรับโอนสิทธิเรียกร้องมาหักกลบลบหนี้ค่าโฆษณากับจำเลย 754,800 บาท เท่ากับโจทก์ชำระค่าห้องชุดให้จำเลยทั้งหมด 1,082,800 บาท คงค้างชำระค่าห้องชุดเพียง 257,200 บาท แต่ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยอ้างว่าโจทก์ต้องชำระหนี้ให้จำเลยอีก 2,038,700 บาท จึงไม่สามารถตกลงกันได้ และจำเลยไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,084,357.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,082,800 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญาจะขายห้องชุดและได้รับเงินค่าห้องชุดจากโจทก์ในวันทำสัญญา 80,000 บาท และค่างวดงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 15 จากโจทก์เรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยไม่ได้เป็นหนี้ค่าโฆษณา 754,800 บาท ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง เพราะจำเลยแจ้งยกเลิกการเช่าป้ายโฆษณาไปยังโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่สามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับจำเลย จำเลยมีหนังสือเตือนให้โจทก์นำเงินค่าห้องชุดส่วนที่เหลือ 1,055,900 บาท ไปชำระและรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดและมีหนังสือให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์พร้อมชำระหนี้ส่วนที่เหลือภายในวันที่ 31 มกราคม 2539 โจทก์ไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดกลับทิ้งเวลาล่วงเลยมานานหลายปี จนกระทั่งวันที่ 2 มิถุนายน 2542 โจทก์มีหนังสือสอบถามจำเลย จำเลยแจ้งว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาซึ่งจำเลยมีสิทธิริบเงินทั้งหมดที่โจทก์ชำระมาแล้วได้ตามสัญญา ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2544 โจทก์แจ้งให้จำเลยไปโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวอ้างว่าโจทก์มีหน้าที่ชำระหนี้ห้องชุดในวันโอนกรรมสิทธิ์เพียง 257,200 บาท ซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยจึงไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้โจทก์ การที่ต่อมาโจทก์นำเงิน 257,200 บาท ไปวางที่สำนักงานทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี จำเลยก็ได้โต้แย้งและไม่ไปรับเงินจำนวนดังกล่าว หากจำเลยเป็นหนี้โจทก์จริง โจทก์น่าจะใช้สิทธิฟ้องร้องไม่ปล่อยให้ระยะเวลาเนิ่นนานมาเกือบ 10 ปี พฤติการณ์ของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 328,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…โจทก์มีสิทธินำเงินค่าโฆษณาที่โจทก์อ้างว่าจำเลยค้างชำระอยู่แก่บริษัทไทยประสิทธิ์ซายน์เทค จำกัด ไปหักกลบลบหนี้กับจำเลยหรือไม่ เห็นว่า หนี้ที่จะหักกลบลบหนี้กันได้นั้นต้องเป็นหนี้อย่างเดียวกัน และต้องเป็นหนี้ที่ไม่มีข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 ประกอบมาตรา 344 โจทก์มีนายธานินทร์ กรรมการบริษัทโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า หลังจากโจทก์ชำระเงินในวันจอง ชำระเงินในวันทำสัญญา และชำระเงินเป็นงวดให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยว่าจ้างให้โจทก์และบริษัทไทยประสิทธิ์ซายน์เทค จำกัด ติดตั้งป้ายโฆษณาของจำเลยตามใบเสร็จรับเงินและใบส่งของรวมเป็นเงิน 754,800 บาท และตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในระหว่างปี 2538 ถึงปี 2539 มีการทำสัญญาโฆษณากับจำเลยแต่หาเอกสารไม่พบ กับโจทก์มีนางณัฏฐ์ธนิศ เป็นพยานเบิกความว่าในปี 2544 ตัวแทนจำเลยโทรศัพท์มานัดวันโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด พยานเดินทางไปที่บริษัทจำเลยเพื่อตรวจสอบหนี้สินมีการสรุปยอดหนี้ปรากฏว่าจำเลยยังเป็นหนี้ค่าป้ายโฆษณากับโจทก์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2538 ถึงเดือนมีนาคม 2539 ตามใบแจ้งหนี้ และมีการสรุปยอดหนี้แล้ว คงเหลือจำนวนเงินที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลยอีก 257,200 บาท แต่พนักงานของจำเลยส่งโทรสารไปยังพยานแจ้งว่าโจทก์ต้องชำระเงินจำนวน 578,500 บาท สาเหตุที่ยอดเงินเพิ่มขึ้นเพราะจำเลยลดป้ายโฆษณาของเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2539 ลง และตอบทนายจำเลยถามค้านว่าพยานไม่เคยเห็นสัญญาว่าจ้างโฆษณาระหว่างจำเลยกับบริษัทไทยประสิทธิ์ซายน์เทค จำกัด และจำเลยไม่เคยมีหนังสือขอหักกลบลบหนี้ไปยังโจทก์ กับโจทก์ไม่เคยทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องกับบริษัทไทยประสิทธิ์ซายน์เทค จำกัด ส่วนจำเลยมีนางสาววัชรี กรรมการบริษัทจำเลยเป็นพยานเบิกความว่าโจทก์ชำระเงินในวันจอง 20,000 บาท ส่วนการชำระเงินในวันทำสัญญา 80,000 บาท และเงินค่างวดงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 หักกลบลบหนี้กับค่าว่าจ้างติดตั้งป้ายโฆษณากับจำเลย และโจทก์ชำระเงินค่างวดงวดที่ 5 ถึงงวดที่ 15 ให้แก่จำเลยแล้ว หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ติดตั้งป้ายโฆษณา โจทก์กับจำเลยจึงไม่มีการหักกลบลบหนี้กันอีก และตอบทนายโจทก์ถามค้านยืนยันว่า หลังจากปี 2537 จำเลยไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำการโฆษณาไม่ว่าด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร เห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์อ้างได้แก่ใบเสร็จรับเงิน ซึ่งโดยปกติเป็นเอกสารแสดงการรับเงินจึงมิได้เป็นหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์ ส่วนใบส่งของ/ใบแจ้งหนี้ตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นเอกสารที่บริษัทไทยประสิทธิ์ซายน์เทค จำกัด มีไปถึงจำเลยจึงเป็นหลักฐานที่แสดงว่าหนี้ค่าโฆษณาดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยพึงชำระแก่บริษัทไทยประสิทธิ์ซายน์เทค จำกัด โดยเฉพาะเจาะจง มิได้พึงชำระให้แก่โจทก์ แม้โจทก์และบริษัทไทยประสิทธิ์ซายน์เทค จำกัด เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน แต่ก็เป็นนิติบุคคลคนละรายกันตามกฎหมาย หากมีการโอนหนี้ของบริษัทไทยประสิทธิ์ซายน์เทค จำกัด ให้แก่โจทก์ ก็ต้องทำเป็นหนังสือและต้องบอกกล่าวไปยังจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ หรือจำเลยต้องยินยอมด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำดังกล่าวและที่โจทก์อ้างว่ามีการสรุปยอดหนี้กันแล้ว คงเหลือจำนวนเงินที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลยอีก 257,200 บาท ก็เป็นเพียงเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ส่วนที่โจทก์อ้างว่า พนักงานของจำเลยส่งโทรสารไปยังโจทก์แจ้งว่าโจทก์ต้องชำระเงินจำนวน 578,500 บาท ที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวว่ามีผู้ลงนามในตอนท้ายเป็นชื่อเล่นว่า คุณแมว โดยไม่ปรากฏว่ามีชื่อจำเลยอยู่และไม่ปรากฏว่าส่งไปจากที่ใด ส่วนจำเลยนำสืบปฏิเสธโดยสิ้นเชิงว่า จำเลยไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำโฆษณา แสดงว่าจำเลยยังมีข้อต่อสู้ในเรื่องหนี้ค่าโฆษณาที่โจทก์จะขอหักกลบลบหนี้กับจำเลย โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ค่าโฆษณาของบริษัทไทยประสิทธิ์ซายน์เทค จำกัด ไปหักกลบลบหนี้กับเงินที่โจทก์จะต้องชำระในวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้…
เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ไม่อาจนำหนี้ค่าโฆษณาของบริษัทไทยประสิทธิ์ซายน์เทค จำกัด ไปหักกลบลบหนี้กับเงินที่โจทก์จะต้องชำระในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้แล้วโจทก์จึงยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 1,012,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันนัดดังกล่าว แต่เมื่อถึงวันนัดโจทก์เตรียมเงินไปเพียง 257,200 บาท ไม่ครบถ้วนตามสัญญา ซึ่งจำเลยโต้แย้งว่าไม่ถูกต้องและไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดจึงเป็นอันเลิกกันตามสัญญาข้อ 3 ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2545 แล้ว โจทก์และจำเลยจึงต้องกลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ส่วนเงินที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยไปแล้ว ได้แก่ เงินชำระในวันจอง 20,000 บาท เงินชำระในวันทำสัญญา 80,000 บาท ปรากฏชัดแจ้งอยู่ในสัญญาแล้วว่าเป็นเงินค่าซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุด จึงต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของราคาห้องชุด มิใช่เงินมัดจำ ส่วนเงินค่างวดอีก 15 งวด รวม 228,000 บาท นั้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เงินมัดจำ เพราะเป็นเงินที่ผ่อนชำระกันหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญาจำเลยจะริบเงินเหล่านี้โดยอ้างว่าเป็นเงินที่อาจริบตามกฎหมายไม่ได้ แต่เป็นเงินชำระหนี้บางส่วนซึ่งเป็นเงินที่จำเลยจะต้องใช้คืนแก่โจทก์เพื่อกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่เนื่องจากโจทก์และจำเลยตกลงกันให้ริบตามสัญญาข้อ 3 โดยไม่ต้องคืนเงิน ข้อตกลงให้ริบเงินดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และที่ตกลงกันไว้อีกว่า หากโจทก์ไม่สามารถรับโอนกรรมสิทธิ์ได้ ให้จำเลยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในจำนวนเงินที่ค้างชำระก็เป็นเบี้ยปรับเช่นกัน และเบี้ยปรับนั้นหากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 100,000 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงิน 228,000 บาท ให้แก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546 บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายไปยังจำเลย กับนำเงินจำนวน 257,200 บาท ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง หลังจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและสัญญาเลิกกันแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2545 จึงไม่มีผลทำให้จำเลยกลับมาเป็นผู้ผิดสัญญาแทนโจทก์ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 228,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share