คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15274/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้พนักงานสอบสวน แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบก็เพื่อที่ผู้ต้องหาจะได้ทราบว่าตนถูกกล่าวหาหรือแจ้งข้อหาว่ากระทำผิดในข้อหาอะไร จะได้สามารถให้การแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างถูกต้อง แต่การแจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญถึงขนาดที่หากพนักงานสอบสวนปฏิบัติผิดพลาดหรือบกพร่องแล้วจะทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามบันทึกคำให้การว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยได้ใช้ปืนยิงแมวของผู้กล่าวหาที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเข้าไปในบ้านจำเลยและเจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกันจับกุมจำเลยได้พร้อมอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนและมีข้อความต่อไปที่แสดงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ถือได้ว่ามีการแจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริง และรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานพอที่จำเลยจะเข้าใจได้ดีแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ได้
จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนพกขนาด .357 แม้เครื่องกระสุนปืนของกลางซึ่งมีขนาด .38 จะใช้กับอาวุธปืนพกขนาด .357 ได้แต่เครื่องกระสุนปืนดังกล่าวก็มิใช่เครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ จำเลยจึงมีความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้
โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องระบุคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2549 ซึ่งเป็นการระบุ พ.ศ. ของคำสั่งดังกล่าวผิดพลาด มิใช่เป็นเรื่องโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 อันเป็นกฎหมายที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า และกรณีดังกล่าวไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 138, 358, 381 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะความผิดฐานดังกล่าวออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ปรับ 2,000 บาท และฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 500 บาท รวมปรับ 2,500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8, 72 ทวิ วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคหนึ่ง เพื่อที่ผู้ต้องหาจะได้ทราบว่าตนถูกกล่าวหาหรือแจ้งข้อหาว่ากระทำผิดในข้อหาอะไร และพนักงานสอบสวนกล่าวหาโดยอ้างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ต้องหาอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้ผู้ต้องหาสามารถเข้าใจข้อหาได้ดี เพื่อที่จะได้สามารถให้การแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างถูกต้อง จึงมิใช่สาระสำคัญถึงขนาดที่ว่าหากพนักงานสอบสวนมิได้ปฏิบัติหรือปฏิบัติผิดพลาด บกพร่องไม่ครบถ้วนแล้วจะทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมดอันส่งผลต่ออำนาจฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด คดีนี้แม้พันตำรวจโทสมปอง พนักงานสอบสวนแจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำซึ่งกล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำผิดตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุผู้ต้องหาได้ใช้อาวุธปืนยิงแมวของผู้กล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเข้าไปในบ้านของจำเลย และเจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกันจับกุมตัวจำเลยได้พร้อมด้วยอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี เหตุเกิดที่บ้านเลขที่ 63/2 ถนน 25 มกรา ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2548 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา วันที่ 19 มีนาคม 2548 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา ก็ตาม แต่ก็มีข้อความต่อไปที่แสดงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ถือได้ว่ามีการแจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานพอที่จำเลยจะเข้าใจได้ดีแล้ว การสอบสวนในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า การที่จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนขนาด .38 ไว้ในครอบครองเป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้” แปลความได้ว่า หากผู้ใดมีเครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ ก็ไม่จำต้องขออนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ อันเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และไม่เป็นความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า อาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้เป็นอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ขนาด .357 และกระสุนปืนของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเป็นเครื่องกระสุนปืนขนาด .38 แม้จะใช้กับอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ขนาด .357 ได้ดังที่จำเลยฎีกา แต่เครื่องกระสุนปืนดังกล่าวก็มิใช่เครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและให้ใช้ จำเลยจึงมีความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า แม้โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องโดยระบุคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2549 ซึ่งไม่มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินดังกล่าวก็ตาม แต่กรณีเป็นการผิดพลาดไป ซึ่งข้อผิดพลาดดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์อ้างกฎหมายผิด มิใช่เป็นเรื่องโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 อันเป็นกฎหมายที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า และกรณีดังกล่าวไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share