คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของห้าง ค. ได้จัดให้มีลานจอดรถสำหรับลูกค้าที่มาซื้อสินค้า โดยผู้ที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณลานจอดรถดังกล่าวจะต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เสียก่อนและเมื่อจะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถ หากไม่มีบัตรจอดรถมาคืนพนักงานรักษาความปลอดภัยจะไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ผ่านออกจนกว่าจะแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของรถ แม้จะปรากฏที่ด้านหลังบัตรจอดรถข้อ 2 ว่า บัตรนี้เป็นบัตรผ่านสำหรับนำรถเข้าจอดบริเวณห้าง ค. เท่านั้น บริษัทไม่รับผิดชอบกรณีสูญหายหรือเสียหายอย่างใดๆ ทั้งสิ้น และไม่มีการเก็บค่าบริการจอดรถก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ย่อมทำให้ผู้ที่มาใช้บริการจอดรถหรือลูกค้าของห้าง ค. โดยทั่วไปเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 2 จัดให้บริการรักษาความเรียบร้อย และความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ของลูกค้าที่จะนำเข้ามาจอดขณะเข้าไปซื้อสินค้าที่ห้าง ค. ของจำเลยที่ 2 โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยอื่นเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัย การกระทำที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติมาดังกล่าวย่อมเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยทั้งสองต้องดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยแก่รถยนต์ที่นำเข้ามาจอด หากจำเลยทั้งสองมีการตรวจตราอย่างเคร่งครัดและป้องกันอย่างดีมิให้ผู้ที่ไม่มีบัตรขับรถผ่านออกไปได้โดยง่ายก็ยากที่รถยนต์ของ ส. จะถูกคนร้ายลักไปได้ขณะที่คนร้ายขับรถยนต์ของ ส. ผ่านจำเลยที่ 1 ซึ่งประจำอยู่ช่องทางออกโดยไม่ได้คืนบัตรจอดรถให้ จำเลยที่ 1 ได้เคาะรถยนต์เพื่อให้คืนบัตร แต่คนขับรถยนต์นิ่งเฉยแล้วขับรถยนต์ออกไป จำเลยที่ 1 จึงจดทะเบียนรถไว้ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งทางวิทยุสื่อสารให้ศูนย์รักษาความปลอดภัยของห้าง ค. ทราบ โดยอ้างเหตุว่าแบตเตอรี่หมดแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังป้องกันความปลอดภัยให้แก่รถยนต์ของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการอย่างเต็มที่ อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของ ส. ถูกคนร้ายลักไปและเป็นการประมาทเลินเล่อจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อ ส. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยได้ชำระค่าสินไหมทดแทนในการที่รถยนต์สูญหายครั้งนี้เป็นจำนวนเงิน 430,000 บาท ให้แก่ ส. เรียบร้อยแล้ว จึงรับช่วงสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองได้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดตามจำนวนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถคันดังกล่าวคืนแก่โจทก์หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ให้จำเลยร่วมกันชำระเงินจำนวน 430,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2542 ถึงวันฟ้องเป็นจำนวนเงิน 2,687 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 432,678 บาท กับขอให้ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจการค้าเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์มีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2542 เวลา 19 นาฬิกาเศษ นายสรศักดิ์ ขับรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บจ 7978 นนทบุรี ไปจอดที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ สาขาบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นกิจการของจำเลยที่ 2 โดยรับบัตรจอดรถแล้วนายสรศักดิ์ขึ้นไปซื้อของในห้างเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเศษ ต่อมามีคนร้ายลักรถยนต์ของนายสรศักดิ์ขับรถหลบหนีผ่านจุดทางออกของลานจอดรถที่จำเลยที่ 1 ประจำอยู่โดยไม่มีบัตรจอดรถคืนแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดคืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน บจ 7978 นนทบุรี หรือชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 430,000 บาท แก่นายสรศักดิ์หรือไม่ เพียงใด และโจทก์เข้ารับช่วงสิทธิจากนายสรศักดิ์มาฟ้องไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองต้องตรวจตรารถยนต์เข้าออกว่าจะต้องคืนบัตรจอดรถเมื่อมีคนขับรถยนต์ออกไปจากลานจอดรถและบัตรนั้นต้องมีหมายเลขทะเบียนตรงกับหมายเลขทะเบียนที่พนักงานรักษาความปลอดภัยเขียนไว้ในบัตรจอดรถขณะที่ขับรถเข้ามาจอด หากไม่มีบัตรจำเลยที่ 1 ก็ย่อมจะไม่อนุญาตให้ลูกค้านำรถยนต์ออกไปได้ จนกว่าจะแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของรถ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ สาขาบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ได้จัดให้มีลานจอดรถสำหรับลูกค้าที่มาซื้อสินค้าโดยผู้ที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณลานจอดรถดังกล่าวจะต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เสียก่อน และเมื่อจะนำรถยนต์จากบริเวณลานจอดรถก็จะต้องมอบคืนบัตรจอดรถให้แก่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทางออกเสียก่อนจึงจะนำรถยนต์ผ่านออกไปได้ หากไม่มีบัตรจอดรถพนักงานรักษาความปลอดภัยจะไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ผ่านออกจนกว่าจะแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของรถให้เรียบร้อยจึงจะนำรถยนต์ออกไปได้ รายละเอียดปรากฏตามข้อความด้านหลังบัตรจอดรถ แม้จะปรากฏข้อความที่ด้านหลังบัตรจอดรถ แม้จะปรากฏข้อความที่ด้านหลังบัตรจอดรถข้อ 2 ว่า บัตรนี้เป็นบัตรผ่านสำหรับนำรถเข้าจอดบริเวณห้างคาร์ฟูร์เท่านั้น บริษัทไม่รับผิดชอบกรณีสูญหายหรือเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น และไม่มีการเก็บค่าบริการจอดรถก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ย่อมทำให้ผู้ที่มาใช้บริการจอดรถหรือลูกค้าของห้างคาร์ฟูร์โดยทั่วไปเข้าใจได้ว่า บริเวณลานจอดรถดังกล่าว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของห้างคาร์ฟูร์จัดให้บริการรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ของลูกค้าที่จะนำเข้ามาจอดขณะเข้าไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยอื่นเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยทั้งขณะที่นำรถยนต์เข้าไปจอดและขณะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถซึ่งผู้ที่มิใช่เจ้าของรถยนต์และไม่มีบัตรจอดรถจะลักลอบนำรถยนต์ออกไปไม่ได้ เพราะจะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยตรวจสอบก่อน การกระทำที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติมาดังกล่าวย่อมเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยทั้งสองต้องดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยแก่รถยนต์ที่นำเข้ามาจอด โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมอบหมายมีหน้าที่โดยตรงที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ออกไปจากบริเวณลานจอดรถหรือป้องกันการโจรกรรมด้วยการตรวจบัตรตรงช่องทางออก ซึ่งหากจำเลยทั้งสองมีการตรวจตราอย่างเคร่งครัดและป้องกันอย่างดีมิให้ผู้ที่ไม่มีบัตรขับรถผ่านออกไปได้โดยง่ายก็ยากที่รถยนต์ของนายสรศักดิ์จะถูกคนร้ายลักไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่คนร้ายขับรถยนต์ของนายสรศักดิ์ผ่านช่องทางออกนั้น คนร้ายได้ขับผ่านจำเลยที่ 1 ซึ่งประจำอยู่ช่องทางออกโดยไม่ได้คืนบัตรจอดรถให้ จำเลยที่ 1 ได้เคาะรถยนต์เพื่อให้คืนบัตร แต่คนขับรถนิ่งเฉยแล้วขับรถยนต์ออกไป จำเลยที่ 1 จึงจดทะเบียนรถไว้คือ 7978 หรือ 7879 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งทางวิทยุสื่อสารให้ศูนย์รักษาความปลอดภัยของห้างคาร์ฟูร์ทราบโดยอ้างเหตุว่าวิทยุสื่อสารของจำเลยที่ 1 แบตเตอรี่หมดแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังป้องกันความปลอดภัยให้แก่รถยนต์ของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการอย่างเต็มที่ อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของนายสรศักดิ์ถูกคนร้ายลักไปและเป็นการประมาทเลินเล่อจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนายสรศักดิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยได้ชำระค่าสินไหมแทนในการที่รถยนต์สูญหายครั้งนี้เป็นจำนวนเงิน 430,000 บาท ให้แก่นายสรศักดิ์เรียบร้อยแล้ว จึงรับช่วงสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดตามจำนวนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยต่อโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องมิให้เกินกว่า 2,687 บาท ตามที่โจทก์ขอค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share