แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีในเรื่องภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2546 แต่ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการฯ สำหรับปีภาษีที่พิพาทในคดีนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งรายการประเมินมายังโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีใหม่ จำเลยที่ 4 มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีใหม่โดยแจ้งว่าการประเมินภาษีถูกต้องแล้ว เมื่อพิจารณาคำบรรยายฟ้องของโจทก์ประกอบเอกสารท้ายคำฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องแล้วเห็นได้ว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการฯ ที่พิพาทคดีนี้โดยระบุว่าเป็นแบบแจ้งรายการฯ ประจำปีภาษี 2546 ทั้งที่เป็นประจำปีภาษี 2547 แต่จำเลยที่ 1 ก็เข้าใจดีว่าเป็นแบบแจ้งรายการฯ ประจำปีภาษี 2547 ดังที่จำเลยที่ 4 มีหนังสือแจ้งรายการประเมินฯ เท้าความถึงแบบแจ้งรายการฯ ที่โจทก์ยื่นดังกล่าวว่าเป็นแบบแจ้งรายการฯ ประจำปีภาษี 2547 และต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีใหม่ จำเลยที่ 2 ก็รับพิจารณาและชี้ขาดยืนตามการประเมินโดยระบุว่าเป็นการชี้ขาดเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2547 จึงแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์โดยชัดแจ้งว่าการมอบอำนาจและการฟ้องคดีนี้ของโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2547
คำให้การของจำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้ว่า หนังสือแจ้งรายการประเมินฯ และหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีใหม่ไม่จำต้องระบุข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ เพราะเป็นเหตุผลที่รู้กันอยู่แล้วตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคสาม (2) อุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ นย.71901/542 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2547 และคำวินิจฉัยคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ที่ นย.7192/314 (ที่ถูกคือ นย.71902/314) ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2548 กับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 529,560 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2548 จนถึงชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากภาษีที่พิพาทในคดีนี้คือภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2547 แต่ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 ระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายอารักษ์ ดำเนินคดีแทนโจทก์เกี่ยวกับภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนใบแจ้งการประเมิน เล่มที่ 1 เลขที่ 27 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2547 และหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ที่ นย.71902/314 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2548 ให้จำเลยที่ 1 คืนค่าภาษีแก่โจทก์จำนวน 529,560 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อย 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเจ็ดประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ว่าตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 ระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายอารักษ์ฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง ในเรื่องภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ประจำปี 2546 แต่ภาษีที่เป็นข้อพิพาทในคดีนี้เป็นภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2547 โดยภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2546 โจทก์และจำเลยมีข้อพิพาทกัน ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีเจตนามุ่งฟ้องคดีสำหรับปีภาษี 2547 ไม่ถูกต้อง เห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 และมาตรา 19 กำหนดให้ผู้รับประเมินหรือบุคคลผู้พึงชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา ดังนั้น ทรัพย์สินที่โจทก์ใช้ในปี 2546 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องยื่นรายการทรัพย์สินภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการประเมินและแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระไปยังโจทก์ ภาษีดังกล่าวจึงเรียกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2547 มิใช่ภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 อย่างไรก็ดีแม้หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์จะระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายอารักษ์ ฟ้องคดีในเรื่องภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2546 แต่ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่า โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับปีภาษีที่พิพาทในคดีนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4 ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2547 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินมายังโจทก์ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 5 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6 ต่อมาจำเลยที่ 4 มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ โดยแจ้งว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีถูกต้องแล้วตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 7 เมื่อพิจารณาคำบรรยายฟ้องของโจทก์ประกอบเอกสารท้ายคำฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องแล้วเห็นได้ว่า โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินที่พิพาทคดีนี้โดยระบุว่าเป็นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 ทั้งที่เป็นภาษีประจำปีภาษี 2547 แต่จำเลยที่ 1 ก็เข้าใจดีว่าเป็นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2547 ดังที่จำเลยที่ 4 มีหนังสือแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 5 เท้าความถึงแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินที่โจทก์ยื่นดังกล่าวว่าเป็นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2547 และต่อมาเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน จำเลยที่ 2 ก็รับพิจารณาและชี้ขาดยืนตามการประเมิน โดยระบุในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 7 ว่าเป็นการชี้ขาดเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2547 หลังจากนั้นโจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2548 โดยในวันเดียวกันนั้นได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายอารักษ์เป็นผู้ดำเนินคดีแทนทั้งจำเลยทั้งเจ็ดก็ให้การว่า ก่อนหน้านี้โจทก์และฝ่ายจำเลยมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 202/2546 หมายเลขแดงที่ 212/2547 ของศาลภาษีอากรกลาง จึงแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์โดยชัดแจ้งว่าการมอบอำนาจและการฟ้องคดีนี้ของโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2547 หากแต่เป็นความเข้าใจผิดของโจทก์ที่คิดว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่จัดเก็บจากทรัพย์สินที่โจทก์ใช้ในปี 2546 เรียกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 จึงได้ระบุในหนังสือมอบอำนาจว่าให้มีอำนาจดำเนินคดีในเรื่องภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ประจำปี 2546 เมื่อประมวลข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องและเอกสารท้ายคำฟ้องแล้วเห็นได้ว่า เป็นกรณีที่โจทก์มอบอำนาจให้นายอารักษ์ดำเนินคดีแทนโจทก์ในเรื่องเกี่ยวกับภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2547 นั่นเอง นายอารักษ์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งเจ็ดในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเจ็ดประการต่อไปมีว่า หนังสือแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2549 หรือไม่… เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า หนังสือแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง เนื่องจากไม่ปรากฏรายละเอียดและเหตุผลว่าโจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้องแต่อย่างใด ไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญและเหตุผลตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคสาม แต่จำเลยทั้งเจ็ดให้การต่อสู้ในปัญหานี้เพียงว่าหนังสือแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 และหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ดังกล่าวมีรายการทรัพย์สินและคำชี้แจงประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญและข้อกฎหมายที่อ้างอิงชัดแจ้งตามที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 กำหนดไว้แล้วโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดมาตรฐานในการทำคำสั่งไว้สูงกว่าที่กำหนดตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หนังสือแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 และหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จึงชอบด้วยกฎหมายและไม่อยู่ในบังคับต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ดังนี้ ตามคำให้การของจำเลยทั้งเจ็ดมิได้ยกข้อต่อสู้ว่า หนังสือแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ไม่จำต้องระบุข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิงข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ เพราะเป็นเหตุผลที่รู้กันอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคสาม (2) อุทธรณ์ของจำเลยทั้งเจ็ดในประเด็นนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาอื่นที่จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ