คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2072/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “CHICLETS CRUNCH” เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 30 รายการสินค้า หมากฝรั่ง ลูกอม ขนมหวาน แม้คำว่า “CRUNCH” ซึ่งแปลว่าเคี้ยว เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าดังกล่าวโดยตรง แต่โจทก์ได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในคำดังกล่าวแล้ว และโจทก์ใช้คำว่า “CRUNCH” ประกอบกับคำว่า “CHICLETS” ซึ่งเป็นคำประดิษฐ์ที่ไม่มีในพจนานุกรม โดยตัวอักษรของทั้งสองคำมีขนาดเท่ากันและเรียงต่อกันเป็นลำดับ สาธารณชนย่อมทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าภายในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแตกต่างจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ว่าเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “CHICLETS CRUNCH” ตามคำขอเลขที่ 573998 ของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อไป
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 573998 ของโจทก์ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “CHICLETS CRUNCH” เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 30 รายการสินค้า หมากฝรั่ง ลูกอม ขนมหวาน ตามคำขอเลขที่ 573998 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้โจทก์ปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอักษรโรมันคำว่า “CRUNCH” และให้ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้าอื่นของโจทก์ที่เหมือนหรือคล้ายกัน โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวแล้วนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงประกาศโฆษณาเครื่องหมายการค้า ต่อมา โซซิเอเต้ เดส์ โปรดุยส์ เนสท์เล่ เอส. อา. ยื่นคำคัดค้านอ้างว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอักษรโรมันคำว่า “CRUNCH” สำหรับสินค้าจำพวก 30 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยกคำคัดค้าน ผู้คัดค้านอุทธรณ์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ชอบที่จะรับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 16 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2)
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “CHICLETS CRUNCH” ของโจทก์ ตามคำขอเลขที่ 573998 เป็นเครื่องหมายการค้าที่ชอบจะได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมันคำว่า “CHICLETS” และ “CRUNCH” ซึ่งมีขนาดอักษรใกล้เคียงกัน ถือว่าอักษรโรมันคำว่า “CRUNCH” เป็นภาคส่วนสาระสำคัญ เมื่อคำดังกล่าวแปลว่า “เคี้ยว” นับเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ย่อมเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เห็นว่า อักษรโรมันคำว่า “CHICLETS” เป็นคำประดิษฐ์ที่ไม่มีความหมายทั่วไปในพจนานุกรม จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย ส่วนอักษรโรมันคำว่า “CRUNCH” แปลว่า “เคี้ยว” นับเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย แต่โจทก์ได้ปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอักษรโรมันคำว่า “CRUNCH” การนำอักษรโรมันคำว่า “CHICLETS” ไปใช้กับอักษรโรมันคำว่า “CRUNCH” แล้วนำไปใช้กับสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียน โดยอักษรดังกล่าวต่างมีขนาดเท่ากันและเรียงติดต่อกันตามลำดับเช่นนี้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมมีลักษณะบ่งเฉพาะที่ทำให้สาธารณชนทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้านี้แตกต่างจากสินค้าอื่นตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงชอบที่จะได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share