คำวินิจฉัยที่ 46/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๖/๒๕๕๔

วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดบุรีรัมย์
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดบุรีรัมย์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ นายแสวง ผมทำ ที่ ๑ นางหนูแดง สออนรัมย์ ที่ ๒ นางแสงจันทร์ สรวนรัมย์ ที่ ๓ นายชัยวัฒน์ เส็งนา ที่ ๔ นายชัชชาย เส็งนา ที่ ๕ โจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ นายโสภณ ห่วงญาติ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๙๐๙/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินที่ตั้งอยู่ ตำบลโคกสะอาด อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยโจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เลขที่ ๑๒๖ หมู่ที่ ๑๐ เนื้อที่ ๘ ไร่ ๓๔ ตารางวา โจทก์ที่ ๒ เป็นเจ้าของโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๐๓๒๖ เนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๓ งาน ๗๒ ตารางวาโจทก์ที่ ๓ เป็นเจ้าของโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๐๓๒๗ เนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๓ งาน ๗๑ ตารางวา โจทก์ที่ ๔และที่ ๕ เป็นเจ้าของผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓)เลขที่ ๘ หมู่ ๑๐ เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๒ งาน ซึ่งเอกสารสิทธิของโจทก์ทั้งห้าออกตามประมวลกฎหมายที่ดินโดยชอบ ต่อมานายอำเภอลำปลายมาศในขณะนั้นยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์สาขาลำปลายมาศ เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๒ ขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่สาธารณประโยชน์ “หนองปุ๊ก” แต่การนำรังวัดชี้แนวเขตได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ที่ ๑ เป็นเนื้อที่๖ ไร่ ๑ งาน ๘๙ ตารางวา โจทก์ที่ ๒ เป็นเนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ๙๑ ตารางวา โจทก์ที่ ๓ เป็นเนื้อที่ ๒ งาน ๗๐ ตารางวา โจทก์ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นเนื้อที่ ๒ งาน ๖๒ ตารางวา โจทก์ทั้งห้ายื่นคัดค้านไว้ตามระเบียบ ต่อมาเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ เจ้าพนักงานที่ดินฯ ประกาศออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) รุกล้ำทับที่ดินดังกล่าว โจทก์ทั้งห้าจึงยื่นเรื่องคัดค้านอีก แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑ ไม่ได้พิจารณาคำคัดค้านของโจทก์ทั้งห้า แต่ได้ประกาศออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “หนองปุ๊ก” โดยไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะออกประกาศดังกล่าวได้ โจทก์ทั้งห้าเป็นเจ้าของที่ดินที่พิพาทที่ได้ครอบครองโดยสุจริต โดยสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ รวมทั้งได้ทำประโยชน์ในที่ดินที่พิพาทตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ และเสียภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอดที่ดินพิพาท จึงไม่ใช่ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน และทางราชการก็ไม่ได้มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือประกาศกันเขตที่ดินพิพาทไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์ การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงพิพาทจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๓ ในฐานะนายอำเภอลำปลายมาศได้สั่งให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาดมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าชะลอการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งมีผลห้ามมิให้โจทก์ทั้งห้าเข้าทำนาในที่ดินพิพาท เป็นการโต้แย้งสิทธิทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเดือดร้อนเสียหายไม่ได้ทำนาตามสิทธิของตน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “หนองปุ๊ก” เลขที่ ๔๐๒ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ตำบลโคกสะอาด อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ออกทับที่ดินของโจทก์ทั้งห้า
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง(น.ส.ล.) “หนองปุ๊ก” ทับที่ดินของโจทก์ทั้งห้า และไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งห้าจะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมิได้เอกสารสิทธิของโจทก์ทั้งห้าบางส่วนออกทับหนองน้ำสาธารณะ “หนองปุ๊ก” ดังนั้นการออกเอกสารสิทธิให้แก่โจทก์ทั้งห้าดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงออกโดยถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับของทางราชการ คำสั่งที่ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว นอกจากนี้ภายหลังออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแล้วโจทก์ทั้งห้ายังคงเข้าทำประโยชน์ในที่พิพาท โจทก์ทั้งห้าไม่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย อีกทั้งคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง เนื่องจากเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)
ศาลจังหวัดบุรีรัมย์พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าจะบรรยายการกระทำของจำเลยทั้งสามส่วนหนึ่งว่า จำเลยทั้งสามใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้าสืบเนื่องมาจากการมีคำสั่งของฝ่ายปกครองในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ตามคำขอของโจทก์ทั้งห้าประสงค์ให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ออกทับที่ดินของโจทก์ทั้งห้าเท่านั้น ประเด็นหลักที่โต้แย้งกันจึงเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของโจทก์ทั้งห้าหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ซึ่งศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งห้าจริงตามข้ออ้างหรือไม่จึงจะพิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของโจทก์ทั้งห้าและข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสามต่อไปซึ่งต้องพิเคราะห์ถึงสิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๙๘ บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” บทบัญญัติมาตรานี้กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นเป็นพิเศษ นอกจากนี้ แม้โฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งห้าจะเป็นเอกสารมหาชนก็ตาม แต่เอกสารมหาชนนั้น ตามมาตรา ๑๒๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเพียงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง อันเป็นข้อสันนิษฐานไม่เด็ดขาด เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้น จำต้องนำสืบความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารกรณีจึงไม่อาจฟังข้อเท็จจริงยุติได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งห้า ซึ่งในการพิจารณาถึงสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี ศาลจะต้องวินิจฉัยข้ออ้างซึ่งเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในมาตรา ๑๓๐๔ ที่บัญญัติถึงว่าที่ดินประเภทใดจัดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีกเช่นเดียวกันหรือทั้งนี้อาจรวมไปถึงประมวลกฎหมายที่ดินด้วย เพื่อจะได้วินิจฉัยถึงสิทธิครอบครองของโจทก์ทั้งห้า เมื่อคดีนี้มีประเด็นข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินและศาลจะต้องพิจารณาถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินว่าเป็นของโจทก์ทั้งห้าหรือเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นหลัก จึงจะพิพากษาว่าจะเพิกถอนนิติกรรมตามคำขอท้ายฟ้องได้หรือไม่ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญหากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ การออก น.ส.ล. เป็นการรับรองเขตที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดินและต้องดำเนินการตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดินประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖(พ.ศ. ๒๕๑๖) ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ. ๒๕๑๗ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้มีการดำเนินการรังวัดและประกาศการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงพิพาทแล้ว ดังนั้นการดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์สาขาลำปลายมาศ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๒ เพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงพิพาท จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ การที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์และนายอำเภอลำปลายมาศ และจำเลยที่ ๒ โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขาลำปลายมาศ ได้ดำเนินการรังวัดและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงพิพาททับที่ดินอันเป็นเอกสารสิทธิของโจทก์ทั้งห้าที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งโจทก์ทั้งห้าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่ได้ครอบครองโดยสุจริต โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของและได้ทำประโยชน์มาโดยตลอดตั้งแต่บรรพบุรุษด้วยการทำนาทำไร่เต็มพื้นที่ตลอดมา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ทั้งได้เสียภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอด และการที่จำเลยที่ ๓ ได้สั่งการให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาดมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าชะลอการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหายไม่ได้ทำนาตามสิทธิพื้นฐานของตนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงพิพาทและการกระทำของจำเลยทั้งสาม จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งห้าประสงค์ให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงพิพาทส่วนที่ออกทับที่ดินซึ่งมีเอกสารสิทธิของโจทก์ทั้งห้า แม้คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าที่พิพาทเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งห้าหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ประเด็นดังกล่าวก็เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็น ปัญหาที่จะพิจารณาว่าการดำเนินการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงพิพาทของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาทดังกล่าวหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาบังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลที่อยู่ภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิที่ดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งห้าได้ตามมาตรา ๗๒วรรคหนึ่ง(๑) และ (๓) และ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบกับ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งห้าได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) และวรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ในการดำเนินการออก น.ส.ล. จึงมิได้ อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับความมีอยู่หรือสถานะของที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งมิใช่เรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด ทั้งตามความเห็นของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ที่ ๑/๒๕๕๓ บรรทัดที่ ๔ – ๖ก็ยังมีความเห็นว่า โจทก์ทั้งห้าบรรยายคำฟ้องถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามส่วนหนึ่งว่าจำเลยทั้งสามใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้า โดยสืบเนื่องมาจากการมีคำสั่งของฝ่ายปกครองในการออก น.ส.ล. พิพาท ซึ่งอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแสดงให้เห็นว่า ศาลจังหวัดบุรีรัมย์เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีปกครอง แต่การที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีความเห็นต่อไปว่า “คดีมีประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาก่อนว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งห้าหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม” เป็นกรณีที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์นำประเด็นข้อเท็จจริงดังกล่าวมาใช้เป็นเกณฑ์การพิจารณาเขตอำนาจศาล ซึ่งนอกเหนือไปจากเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาเขตอำนาจศาลตามบทบัญญัติมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือดำเนินกิจการทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ตามนัยมาตรา ๒๑๘ ประกอบกับมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๓ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งห้าอ้างว่า โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เลขที่ ๑๒๖ และเลขที่ ๘ ตามลำดับ ส่วนโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๐๓๒๖และ ๓๐๓๒๗ ที่ดินทั้งสี่แปลง ตั้งอยู่ ตำบลโคกสะอาด อำเภอลำปลายมาศจังหวัดบุรีรัมย์ มีการออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินโดยชอบ แต่ถูกจำเลยทั้งสามออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่สาธารณประโยชน์ “หนองปุ๊ก” ทับที่ดินของโจทก์ทั้งห้าบางส่วน โจทก์ทั้งห้าเป็นเจ้าของที่ดินที่พิพาทที่ได้ครอบครองโดยสุจริต โดยสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของรวมทั้งได้ทำประโยชน์ในที่ดินที่พิพาทและเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา ที่ดินพิพาทไม่ใช่ ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทางราชการก็ไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือประกาศกันเขตที่ดินพิพาทไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์ การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงพิพาทจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ ๓ สั่งให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาดมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าชะลอการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ทำให้โจทก์ทั้งห้าไม่สามารถเข้าทำนาในที่ดินพิพาทตามสิทธิของตนได้ ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “หนองปุ๊ก” ที่ออกทับที่ดินของโจทก์ทั้งห้า ส่วนจำเลยทั้งสามให้การว่า ไม่ได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) “หนองปุ๊ก” ทับที่ดินของโจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งห้าจะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมิได้ เอกสารสิทธิของโจทก์ทั้งห้าบางส่วนออกทับหนองน้ำสาธารณะ “หนองปุ๊ก”และออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงออกโดยถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับของทางราชการคำสั่งที่ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งห้าได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความ เสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งห้าตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายแสวง ผมทำ ที่ ๑ นางหนูแดง สออนรัมย์ ที่ ๒ นางแสงจันทร์ สรวนรัมย์ ที่ ๓ นายชัยวัฒน์ เส็งนา ที่ ๔ นายชัชชาย เส็งนา ที่ ๕ โจทก์ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ นายโสภณ ห่วงญาติ ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share