คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7229/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินและรับเงินสดไปจากโจทก์ จำเลยให้การและนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยเคยนำเช็คไปขายลดแก่กลุ่มของโจทก์ ต่อมากลุ่มของโจทก์อ้างว่าจำเลยยังเป็นหนี้ประมาณ 700,000 บาท หากจำเลยยอมทำสัญญากู้จะลดยอดหนี้ให้เหลือ 500,000 บาท จำเลยจึงได้ลงชื่อในสัญญาเงินกู้ โดยไม่เคยได้รับเงิน ดังนี้ ศาลล่างทั้งสองย่อมมีอำนาจวินิจฉัยถึงรายละเอียดที่มาแห่งมูลหนี้ในการทำสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่โต้แย้งกันนั้นได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จริง ไม่ว่ามูลหนี้จะเป็นการกู้ยืมเงินสดหรือเป็นหนี้เงินที่ค้างชำระจากการขายลดเช็ค สัญญากู้ก็มีผลบังคับได้
โจทก์มีหนังสือสัญญากู้เงินซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม ส่วนจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญากู้แม้จะฟังได้ว่ามูลหนี้เดิมเหลือเพียง 192,111.28 บาท ก็เป็นเพียงการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์บางส่วนเท่านั้น โจทก์จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ส่วนที่สมบูรณ์จำนวน 192,111.28 บาท ได้ หาใช่ว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ทั้งหมดตามที่จำเลยอ้าง เมื่อจำเลยยืนยันข้อเท็จจริงมาในฎีกาว่าหนี้เดิมเป็นมูลหนี้ จากการขายลดเช็ค ซึ่งกรณีสัญญาขายลดเช็คนั้นมิได้มีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราไว้เหมือนเช่นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน ในมูลหนี้เดิมจึงมิใช่เป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2543 จำเลยกู้เงินจากโจทก์จำนวน 500,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาชำระหนี้คืน จำเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์ครบถ้วนแล้วนับแต่วันทำสัญญา ต่อมาโจทก์บอกกล่าวกำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2543 จำเลยไม่ได้กู้และรับเงิน 500,000 บาท จากโจทก์แต่เมื่อปี 2539 จำเลยนำเช็คไปขายลดให้โจทก์และเป็นหนี้ค้างชำระ 450,000 บาท โจทก์คิดอัตราดอกเบี้ยผิดกฎหมายร้อยละ 3 ต่อเดือน จำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวเรื่อยมา ซึ่งคิดถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2543 จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์แล้วรวมเป็นเงิน 727,858 บาท จึงไม่มีหนี้ค้างชำระอีก จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 192,111.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ให้จำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงิน โดยจำเลยไม่ได้รับเงินจำนวน 500,000 บาท จากโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้หรือไม่เพียงใด โดยจำเลยฎีกาอ้างว่า โจทก์นำสืบว่าส่งมอบเงินกู้ยืมให้จำเลยเป็นเงินสด แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีการส่งมอบเงินกู้กัน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังข้อเท็จจริงว่ามีการนำมูลหนี้เดิมเรื่องการขายลดเช็คมาทำเป็นสัญญากู้เป็นการมิชอบ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินและรับเงินสดไปจากโจทก์ จำเลยให้การและนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยเคยนำเช็คไปขายลดแก่กลุ่มของโจทก์ ต่อมากลุ่มของโจทก์อ้างว่าจำเลยยังเป็นหนี้ประมาณ 700,000 บาท หากจำเลยยอมทำสัญญากู้จะลดยอดหนี้ให้เหลือ 500,000 บาท จำเลยจึงได้ลงชื่อในสัญญากู้เงิน โดยไม่เคยได้รับเงิน ดังนี้ ศาลล่างทั้งสองย่อมมีอำนาจวินิจฉัยถึงรายละเอียดที่มาแห่งมูลหนี้ในการทำสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่โต้แย้งกันนั้นได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จริง ไม่ว่ามูลหนี้จะเป็นการกู้ยืมเงินสดหรือเป็นหนี้เงินที่ค้างชำระจากการขายลดเช็คสัญญากู้ก็มีผลบังคับได้ เมื่อพิจารณาจากรายการชำระหนี้ของจำเลยตาม แล้วปรากฏว่า ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่มีการทำสัญญากู้เงินตามฟ้อง จำเลยคงค้างชำระหนี้อยู่ 192,111.28 บาท สัญญากู้จึงมีผลบังคับได้ในส่วนเงินจำนวน 192,111.28 บาท ส่วนที่จำเลยอ้างอีกว่า เมื่อมูลหนี้เดิมเหลืออยู่เพียง 192,111.28 แต่โจทก์ระบุจำนวนเงินในสัญญากู้เงิน เป็นจำนวน 500,000 บาท เกินกว่าความเป็นจริง ถือว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ จึงไม่อาจบังคับหนี้ในส่วน 192,111.28 บาท ได้ด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์มีหนังสือสัญญากู้เงิน ซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานแห่งการยืม ส่วนจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญากู้แม้จะฟังได้ว่ามูลหนี้เดิมเหลืออยู่เพียง 192,111.28 บาท ก็เป็นเพียงการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์บางส่วนเท่านั้น โจทก์จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ส่วนที่สมบูรณ์ จำนวน 192,111.28 บาท ได้ หาใช่ว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ทั้งหมดตามที่จำเลยอ้าง ที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า แม้จำเลยจะยอมเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน แต่ก็เป็นอัตราดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายและตกเป็นโมฆะ จำเลยจึงควรต้องรับผิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และถือว่าจำเลยชำระหนี้หมดสิ้นแล้วนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยยืนยันข้อเท็จจริงมาในฎีกาว่าหนี้เดิมเป็นมูลหนี้จากการขายลดเช็ค ซึ่งกรณีสัญญาขายลดเช็คนั้นมิได้มีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราไว้เหมือนเช่นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน ในมูลหนี้เดิมจึงมิใช่เป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่า จำเลยยังค้างชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 192,111.28 บาท นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share