คำวินิจฉัยที่ 41/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๑/๒๕๕๔

วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๔

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแรงงานภาค ๘
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานภาค ๘ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๒ นายวิรัต เนียมเล็ก โจทก์ ยื่นฟ้องผู้อำนวยการองค์การสวนยาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ ๑ คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การสวนยาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแรงงานภาค ๘ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๖/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์เคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสวนยาง ฝ่ายปฏิบัติการ สังกัดองค์การสวนยาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งแจ้งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้กับองค์การสวนยางเป็นเงินจำนวน ๒,๑๗๖,๐๐๐ บาท อ้างว่ายางพารา (ยางแผ่นรมควัน) ซึ่งอยู่ในความครอบครองขององค์การสวนยางตามโครงการแทรกแซงตลาดยางพารา ระยะที่ ๑ – ๒ ขาดหายไปจากบัญชีของโครงการจำนวน ๒๐ ตัน คิดเป็นเงิน ๒,๑๗๐,๐๐๐ บาท เกิดจากความผิดพลาดในการออกใบสั่งจ่ายของฝ่ายผลิตในขณะที่โจทก์เป็นผู้จัดการ เป็นเหตุให้เรียกเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ ถือว่าโจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือแนวทางปฏิบัติของทางราชการ ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย และมีคำสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๒,๑๗๖,๐๐๐ บาท โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง จำเลยที่ ๒ ยกอุทธรณ์ ทั้งการที่จำเลยที่ ๑ แจ้งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายล่วงพ้นเวลา ๑๐ ปี นับแต่วันที่เกิดการละเมิด สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจึงขาดอายุความ หน่วยงานของรัฐจึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้มีการชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา ๑๒ ประกอบมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้อำนวยการองค์การสวนยางตามหนังสือที่ กษ ๑๖๐๒/๒๔ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๒ เรื่องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้อำนวยการองค์การสวนยางตามหนังสือที่ กษ ๑๖๐๑/๕๔๘ ลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๒ เรื่องให้ชำระหนี้แก่ อ.ส.ย. ให้เพิกถอนคำสั่งหรือหนังสือของผู้อำนวยการองค์การสวนยางตามหนังสือที่ กษ ๑๖๐๒/๔๑๑ ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เรื่องแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์และให้เพิกถอนผลการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การสวนยางในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ ที่มีมติยกอุทธรณ์ของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนยังไม่ขาดอายุความ คำสั่งของจำเลยทั้งสองที่แจ้งให้โจทก์ชำระเงินให้แก่องค์การสวนยางเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครอง คดีจึงอยูในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแรงงานภาค ๘ พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานต้นสังกัดเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องว่าคำสั่งของจำเลยทั้งสองที่เรียกให้โจทก์ชำระเงินอันเนื่องมาจากกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชากับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดองค์การสวนยางอยู่ในฐานะการเป็นนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน และมูลเหตุในการออกคำสั่งดังกล่าวของจำเลยทั้งสองสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงาน เป็นผลให้องค์การสวนยางซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) (๕) คดีจึงเข้าข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้มีเหตุแห่งข้อพิพาท สืบเนื่องมาจากการดำเนินการตามโครงการแทรกแซงตลาดยางพาราซึ่งมีลักษณะเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ โดยมีองค์การสวนยางซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครอง และมีสถานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อปรากฏว่ามียางพาราหายจำนวน ๒๐ ตัน เป็นความเสียหายที่เกิดกับโครงการแทรกแซงตลาดยางพารา องค์การสวนยางจึงเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานองค์การสวนยาง มีหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตตามที่ได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งองค์การสวนยาง ที่ ๒๒/๒๕๓๗ ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๗ เรื่อง แต่งตั้งและกำหนดหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโครงการแทรกแซงตลาดยางพารา การปฏิบัติงานของโจทก์ในหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายผลิตไม่ใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติในตำแหน่งหัวหน้าช่างซ่อมบำรุง ปฏิบัติการแทนหัวหน้าฝ่ายโรงงาน ๑ แต่อย่างใด กรณีความสัมพันธ์ระหว่างองค์การสวนยางกับโจทก์ที่ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายผลิต จึงไม่ใช่ความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงาน การที่โจทก์ปฏิบัติงานในโครงการแทรกแซงตลาดยางพาราและเกิดความเสียหาย โจทก์จึงเป็นเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่สั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบันทึกข้อความองค์การสวนยาง ที่ กษ ๑๖๐๒/๒๔ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๒ เรื่อง ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน ๒,๑๗๖,๐๐๐ บาท และตามหนังสือองค์การสวนยาง กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ที่ กษ ๑๖๐๑/๕๔๘ ลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๒ เรื่อง ขอให้ชำระหนี้ให้แก่องค์การสวนยางที่มีถึงโจทก์ ตลอดจนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ตามมติในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ ที่มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง
คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องโดยกล่าวหาว่า คำสั่งของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาและบังคับจำเลยให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ตามบันทึกข้อความองค์การสวนยาง ที่ กษ ๑๖๐๒/๒๔ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๒ เรื่อง ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน ๒,๑๗๖,๐๐๐ บาท และตามหนังสือองค์การสวนยาง กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ที่ กษ ๑๖๐๑/๕๔๘ ลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๒ เรื่อง ขอให้ชำระหนี้ให้แก่องค์การสวนยาง ให้เพิกถอนคำสั่งหรือหนังสือของจำเลยที่ ๑ ตามหนังสือองค์การสวนยาง ที่ กษ ๑๖๐๒/๔๑๑ ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เรื่องแจ้งผลอุทธรณ์ และให้เพิกถอนผลการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ในการประชุม ครั้งที่ ๔/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ ที่มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งแจ้งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้กับองค์การสวนยางอ้างว่าโจทก์ในขณะเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือแนวทางปฏิบัติของทางราชการเป็นเหตุให้ยางแผ่นรมควันซึ่งอยู่ในความครอบครองขององค์การสวนยางตามโครงการแทรกแซงตลาดยางพาราขาดหายไปจากบัญชีจำนวน ๒๐ ตัน ก็ตาม แต่บทบัญญัติมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดบทนิยามคำว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง ส่วนคำว่า “นายจ้าง” หมายความว่า รัฐวิสาหกิจซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจด้วย ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ภายใต้ข้อบังคับ และระเบียบที่กำหนดความสัมพันธ์หรือสภาพการจ้างระหว่างกัน เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างกล่าวอ้างว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือแนวทางปฏิบัติของทางราชการเป็นเหตุให้ยางแผ่นรมควันซึ่งอยู่ในความครอบครองขององค์การสวนยางตามโครงการแทรกแซงตลาดยางพาราขาดหายไปจากบัญชีจำนวน ๒๐ ตัน ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายวิรัต เนียมเล็ก โจทก์ ผู้อำนวยการองค์การสวนยาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ ๑ คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การสวนยาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share