คำวินิจฉัยที่ 32/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๒/๒๕๕๔

วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดนราธิวาส
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนราธิวาสส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็น มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒ วัดประชุมชลธารา โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานธนารักษ์พื้นที่นราธิวาส ที่ ๑ กรมธนารักษ์ ที่ ๒ คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่ ๓ กระทรวงการคลัง ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๗/๒๕๕๒ ความว่า เมื่อประมาณต้นปี ๒๕๕๒ โจทก์ทำการตรวจสอบที่ดินอันเป็นที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดประชุมชลธารา มีเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ ๓ งาน แต่พบว่าที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าวถูกจำเลยที่ ๒ เสนอให้จำเลยที่ ๓ ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุโดยไม่ชอบและไม่มีหลักฐานการได้มา ทั้งขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้กำหนดว่า ที่ราชพัสดุจะได้มาก็โดยการประกาศสงวนไว้ใช้ในราชการหรือตกเป็นของรัฐเนื่องจากค้างชำระภาษีอากร หรือรัฐบาลจัดซื้อด้วยเงินงบประมาณ หรือเป็นโบราณสถาน กำแพงเมือง คูเมือง หรือโดยคำพิพากษาของศาล หรือเป็นที่ดินเหลือเศษจากการเวนคืนซึ่งรัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชย หรือโดยคำสั่งของนายกรัฐมนตรี หรือเอกชนบริจาคให้กับทางราชการ หรือโดยเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือโดยเหตุอื่น ๆ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินธรณีสงฆ์ซึ่งจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถนำไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุได้ แต่จำเลยทั้งสี่กลับนำไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุเมื่อปี ๒๕๐๘ โดยอ้างว่าเป็นการได้มาโดยราษฎรยกให้ ซึ่งเป็นความเท็จเนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่โจทก์ยินยอมให้มีการจัดตั้งโรงเรียนและถือเป็นที่ธรณีสงฆ์ไม่อาจยกให้บุคคลใด ๆ ได้ เว้นแต่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ดำเนินการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุบนที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์และส่งมอบคืนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าวออกไป
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทมิใช่เป็นที่ดินของโจทก์แต่เป็นของจำเลยที่ ๔ ซึ่งนำขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุถูกต้องตามกฎหมายเมื่อปี ๒๕๑๒ เป็นแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ๒๕๖๑๕ และได้ปรับปรุงทะเบียนที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวในปี ๒๕๒๓ เป็นหมายเลขทะเบียน นธ. ๒๕๖ ทั้งในปี ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๑ ร่วมกับโรงเรียนและเจ้าของที่ดินข้างเคียงทำการรังวัดปักหลักเขตที่ดินราชพัสดุแปลงพิพาท โดยโจทก์มอบให้ไวยาวัจกรของโจทก์ในขณะนั้นมาร่วมรังวัดปักเขตที่ดินโดยได้ยอมรับว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ และเมื่อขึ้นทะเบียนที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ โจทก์ก็ไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้านกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด นอกจากนี้โจทก์เคยยื่นขอเอกสารสิทธิในที่ดินของโจทก์จำนวน ๘ แปลง โดยไม่มีที่ดินแปลงพิพาทอยู่ในรายการที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและโอนเปลี่ยนชื่อในที่ดินพิพาทได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐว่านำที่ดินพิพาทไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุโดยไม่ชอบและขอให้ดำเนินการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนราธิวาสพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์ที่เคยมอบให้โรงเรียนวัดประชุมชลธาราใช้ประโยชน์ เมื่อโรงเรียนไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว โจทก์ได้รังวัดพื้นที่ดังกล่าวพบว่าจำเลยทั้งสี่ได้นำที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์ไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ ตั้งแต่ปี ๒๕๐๘ โดยอ้างว่ามีราษฎรเป็นผู้ยกให้ ส่วนจำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยที่ ๔ นำไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุโดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยเมื่อปี ๒๕๑๒ ที่ดินดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน ๒๕๖๑๕ ต่อมาปี ๒๕๒๓ ได้ปรับปรุงทะเบียนที่ราชพัสดุเป็นแปลงหมายเลขทะเบียน นธ. ๒๕๖ และทางราชการเคยนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในการสร้างโรงเรียนวัดประชุมชลธารา อีกทั้งปี ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๑ ร่วมกับโรงเรียนวัดประชุมชลธาราและเจ้าของที่ดินข้างเคียงทำการรังวัดที่ดินพิพาทโดยโจทก์มอบให้ไวยาวัจกรของวัดในขณะนั้นมาร่วมรังวัดปักเขตที่ดินโดยได้ยอมรับว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ จึงเป็นกรณีที่คู่กรณีโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยที่ ๔ โดยไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของจำเลยทั้งสี่ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดิน จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันนำที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์ เนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุโดยจำเลยที่ ๑ ได้เสนอต่อจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ ๓ โดยมีจำเลยที่ ๔ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้ง ๆ ที่ที่ดินพิพาทไม่มีหลักฐานการได้มา และโจทก์ยังได้ครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินด้านข้างเคียงที่ติดกับที่ดินพิพาทมาโดยตลอด การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลเพิกถอนการขึ้นทะเบียนและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดในที่ราชพัสดุดังกล่าวออกไป จึงเท่ากับเป็นการฟ้องคดีที่สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสี่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ ดำเนินการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและสิ่งปลูกสร้างอาคารโดยไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายและระเบียบกำหนดไว้ และโดยที่การขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุเป็นขั้นตอนในการบริหารจัดการที่ราชพัสดุก่อนที่จะดำเนินการนำที่ราชพัสดุมาให้เช่าซึ่งเป็นเรื่องการจัดประโยชน์ ซึ่งต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับการนำที่ราชพัสดุมาให้เช่า ในเมื่อการอนุมัติให้เช่าที่ราชพัสดุซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากการขึ้นทะเบียนเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของอธิบดีกรมธนารักษ์ กรณีจึงต้องถือว่า การขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุของจำเลยทั้งสี่ซึ่งต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่ระเบียบกฎหมายกำหนดไว้ย่อมเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายเช่นกัน เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้นแล้วจะทำให้เกิดความลักลั่นในการบริหารจัดการที่ราชพัสดุตามมาได้ ดังนั้น คำฟ้องในคดีนี้จึงเป็นการฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นวัดในพระพุทธศาสนาอ้างว่า โจทก์ทำการตรวจสอบที่ดินอันเป็นที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดประชุมชลธารา มีเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ ๓ งาน แต่ถูกจำเลยที่ ๒ เสนอให้จำเลยที่ ๓ ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุโดยไม่ชอบตั้งแต่ปี ๒๕๐๘ และไม่มีหลักฐานการได้มา ขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ไม่อาจยกให้บุคคลใด ๆ ได้ เว้นแต่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ดำเนินการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุบนที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์และส่งมอบคืนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าวออกไป ส่วนจำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทมิใช่เป็นที่ดินของโจทก์แต่เป็นของจำเลยที่ ๔ ซึ่งนำขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุถูกต้องตามกฎหมายเมื่อปี ๒๕๑๒ ทั้งในปี ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๑ ร่วมกับโรงเรียนและเจ้าของที่ดินข้างเคียงทำการรังวัดปักหลักเขตที่ดินราชพัสดุแปลงพิพาท โดยโจทก์มอบให้ไวยาวัจกรของโจทก์ในขณะนั้นมาร่วมรังวัดปักเขตที่ดินโดยได้ยอมรับว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ และเมื่อขึ้นทะเบียนที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ โจทก์ก็ไม่เคยคัดค้าน นอกจากนี้โจทก์เคยยื่นขอเอกสารสิทธิในที่ดินของโจทก์จำนวน ๘ แปลง โดยไม่มีที่ดินแปลงพิพาทอยู่ในรายการที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและโอนเปลี่ยนชื่อในที่ดินพิพาทได้ ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือเป็นที่ราชพัสดุเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างวัดประชุมชลธารา โจทก์ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นราธิวาส ที่ ๑ กรมธนารักษ์ ที่ ๒ คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่ ๓ กระทรวงการคลัง ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share