คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6446/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ไปเพียง 15,000 บาท แต่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน โดยระบุจำนวนเงินกู้ไว้ 40,000 บาท เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ก็จะดำเนินการฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินจำนวน 40,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในสัญญา การนำสืบของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวเป็นการนำสืบถึงความไม่บริบูรณ์ของสัญญากู้ยืมเงิน ทั้งนี้เพราะสัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองจะบริบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องจึงไม่ใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้ยืมเงินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) แต่เป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย จำเลยที่ 3 ย่อมนำสืบได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 3 นำสืบดังกล่าวเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 และเชื่อว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 40,000 บาท จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้นำพยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 มาวินิจฉัยเพื่อชั่งน้ำหนักกับพยานหลักฐานของโจทก์ว่าข้อเท็จจริงเชื่อฟังเป็นยุติอย่างไร ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้ใช้อำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 104
ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกานั้น จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาปัญหาข้ออื่นโดยขอถือเอาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งของฎีกาด้วยนั้น ข้อฎีกาดังกล่าวมิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 42,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 9 กรกฎาคม 2542) ต้องไม่เกินจำนวน 2,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ไม่โต้แย้งคัดค้านกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวนหนึ่ง โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันให้แก่โจทก์ไว้โดยหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันระบุว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 40,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงินระบุว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 40,000 บาท จำเลยที่ 3 นำพยานบุคคลเข้าสืบหักล้างว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ไปเพียง 15,000 บาท เป็นการนำสืบเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อความในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ไปเพียง 15,000 บาท แต่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโดยระบุจำนวนเงินกู้ไว้ 40,000 บาท เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ก็จะดำเนินการฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินจำนวน 40,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในสัญญา การนำสืบของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวเป็นการนำสืบถึงความไม่บริบูรณ์ของสัญญากู้ยืมเงิน ทั้งนี้เพราะสัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองจะบริบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้อง จึงไม่ใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) แต่เป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย จำเลยที่ 3 ย่อมนำสืบได้ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังขึ้นดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์เพียง 15,000 บาท แต่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินไว้จำนวน 40,000 บาท เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 และเชื่อว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 40,000 บาท นั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้นำพยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 มาวินิจฉัย เพื่อชั่งน้ำหนักกับพยานหลักฐานของโจทก์ว่าข้อเท็จจริงเชื่อฟังเป็นยุติอย่างไร ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้ใช้อำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ เป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 และศาลอุทธรณ์ก็ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวเช่นกัน แม้ผลแห่งการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการอุทธรณ์หรือฎีกาของคู่ความแล้วแต่กรณีได้ แต่เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาพิพากษาคดีและสำนวนได้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวนเท่าใดเสียให้เสร็จสิ้นโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ เห็นว่า นอกจากโจทก์จะมีนายวีรยุทธเป็นพยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 40,000 บาท แล้ว โจทก์ยังมีหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนขึ้นเอง ระบุจำนวนเงินที่กู้ยืมไว้ 40,000 บาท และมีสำเนาเช็คซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นเช็คที่สั่งจ่ายเงินที่กู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นพยานเอกสารประกอบอีกด้วย ซึ่งเช็คฉบับดังกล่าวลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 สั่งจ่ายเงินจำนวน 40,000 บาท ซึ่งเป็นวันเดือนปีและจำนวนเงินตรงกับที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน นอกจากนี้ เช็คฉบับดังกล่าวยังระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงิน ซึ่งก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหลังเช็คและมีการนำเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คในบัญชีของโจทก์แล้วตามสำเนาใบแจ้งยอดบัญชีกระแสรายวัน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงสอดคล้องต้องกันมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ส่วนพยานจำเลยที่ 3 คงมีแต่ตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกัน กับนายอารีสายสามีของจำเลยที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีเบิกความลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนให้รับฟังได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่จำเลยที่ 3 นำสืบ และที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่าโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อที่ด้านหลังเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วนำไปให้พนักงานของโจทก์ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารโดยมิได้มอบเช็คดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น ก็ไม่น่าเชื่อถือเพราะเช็คฉบับดังกล่าวเป็นเช็คระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงิน หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปแสดงตนและลงลายมือชื่อที่ด้านหลังเช็คต่อหน้าพนักงานธนาคาร พนักงานธนาคารไม่น่าจะจ่ายเงินตามเช็คให้แก่พนักงานของโจทก์โดยที่จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ไปติดต่อด้วยตนเองเพราะเป็นการเสี่ยงต่อความรับผิดชอบเนื่องจากพนักงานของโจทก์มิใช่ผู้ทรงเช็คนอกเสียจากพนักงานธนาคารจะสมยอมกับพนักงานของโจทก์ให้กระทำเช่นนั้น แต่จำเลยที่ 3 ก็มิได้นำสืบให้ได้ความเช่นนั้น พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย คดีรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ไปจำนวน 40,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ส่วนข้อที่จำเลยที่ 3 ฎีกาปัญหาข้ออื่นโดยขอถือเอาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งของฎีกาด้วยนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกานั้น จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ข้อฎีกาของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวมิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระเงินแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share