คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9520/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 222 เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ว่า ยาแก้ไออันเป็นตำรับยาแผนปัจจุบันที่มีโคเดอีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เป็นส่วนผสมอันถือเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 จำนวน 7 ขวด ของกลาง มีปริมาตร 3,500 มิลลิลิตร และตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 7 (3) บัญญัติว่า ยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 คือ ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยาและมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ด้วย จากบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 มาเป็นส่วนผสมของตำรับยาแล้ว ไม่ว่ายาเสพติดให้โทษในประเภท 2 จะมีจำนวนเท่าใด ย่อมต้องถือว่าตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เป็นส่วนผสมอยู่ดังกล่าวเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ทั้งสิ้น การที่จะพิจารณาว่าการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 จำนวนมากน้อยเพียงใดที่จะต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 181) จึงต้องถือตามจำนวนของยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 นั้นเองว่า เกิน 250 มิลลิลิตร หรือ 30 เม็ด หรือ 30 แคปซูล หรือไม่ ดังนี้ เมื่อยาแก้ไอที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสมของกลางอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 มีปริมาตร 3,500 มิลลิลิตร เกิน 250 มิลลิลิตร จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 12, 101 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 6, 10, 21, 22, 23 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 371 ริบยาเสพติดของกลาง ส่วนของกลางอื่นคืนเจ้าของ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 20 วรรคสี่, 26 วรรคหนึ่ง, 71 วรรคสอง, 76/1 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก คนละ 1 ปี และปรับคนละ 12,000 บาท ในความผิดฐานนี้ทางนำสืบจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน และปรับ 8,000 บาท ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 4 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 จำนวน 4 ปี 8 เดือน และปรับ 8,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 คนละ 5 ปี และปรับคนละ 12,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบยาเสพติดของกลาง คืนธนบัตรล่อซื้อ เงินสด 74,950 บาท อาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางแก่เจ้าของ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง, 26 วรรคหนึ่ง, 76/1 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคหนึ่ง ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 2 ปี ฐานมีโคเดอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 3 เดือน รวมจำคุกคนละ 2 ปี 3 เดือน ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาและจำเลยที่ 2 นำสืบรับว่ามียาแก้ไอไว้ในครอบครองจริง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 18 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ โจทก์ฎีกาอ้างว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 181) พ.ศ. 2545 เรื่อง กำหนดจำนวนยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ตำรับ ที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสมที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ระบุไว้ชัดเจนว่าการมียาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ตำรับที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสมเกินจำนวน 250 มิลลิลิตร หรือ 30 เม็ด หรือ 30 แคปซูล ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หมายถึง จำนวนของยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ทั้งหมดที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสม ไม่ใช่เฉพาะจำนวนโคเดอีนที่ผสมอยู่ เห็นว่า ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 โดยข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ว่า ยาแก้ไออันเป็นตำรับยาแผนปัจจุบันที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสม อันถือเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 จำนวน 7 ขวด ของกลางมีปริมาตร 3,500 มิลลิลิตร ตามรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ยาเสพติดเอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลจังหวัดสงขลา) ในปัญหาว่า ยาแก้ไออันเป็นตำรับยาแผนปัจจุบันที่มีโคเดอีน เป็นส่วนผสมโดยมีปริมาตร 3,500 มิลลิลิตร ของกลางต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7 (3) บัญญัติว่า ยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 คือ ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยาและมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ด้วย จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า เมื่อนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 มาเป็นส่วนผสมของตำรับยาแล้ว ไม่ว่ายาเสพติดให้โทษในประเภท 2 จะมีจำนวนเท่าใด ย่อมต้องถือว่าตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เป็นส่วนผสมอยู่ดังกล่าวเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ทั้งสิ้น เช่นนี้การที่จะพิจารณาว่าการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 จำนวนมากน้อยเพียงใดที่จะต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 181) จึงต้องถือเอาตามจำนวนของยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 นั้นเองว่า เกินจำนวน 250 มิลลิลิตร หรือ 30 เม็ด หรือ 30 แคปซูล หรือไม่ โดยเฉพาะการที่ได้กำหนดหน่วยเป็นเม็ดหรือแคปซูลด้วย ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการกำหนดตามจำนวนของยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 หาใช่ถือเอาตามจำนวนของโคเดอีนที่เป็นส่วนผสมดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยไม่ ดังนั้น เมื่อยาแก้ไอที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสมของกลาง อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 มีปริมาตร 3,500 มิลลิลิตร เกินจำนวน 250 มิลลิลิตร จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยที่โจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 20 วรรคสี่, 71 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 12,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 แล้ว เป็นจำคุกคนละ 3 ปี และปรับคนละ 12,000 บาท คืนซองกระสุนปืนของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9.

Share