คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้ตายเข้าไปลวนลามฉุดมือ ช. แต่มารดาดึงตัว ช. ไว้ได้แล้ว ผู้ตายจึงเดินกลับไปที่รถจักรยานยนต์ ภยันตรายที่เกิดจากการกระทำของผู้ตายได้หมดไปแล้ว กรณีไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 68 ที่บัญญัติให้การกระทำโดยป้องกันจะต้องเป็นการป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อย่างไรก็ดี การที่ผู้ตายเข้าไปลวนลาม ช. บุตรสาวของจำเลยถึงบ้าน เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในแทบจะทันใดหลังจากถูกข่มแหงการกระทำของจำเลยเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางรำไพ มารดาผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 จำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี และริบของกลาง
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรร์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกจำเลย 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุในวันที่ 7 กันยายน 2541 นายฤทธิรงค์ ผู้ตาย ขับรถจักรยานยนต์ติดตามลวนลามนางสาวชมพูนุช บุตรสาวของจำเลยซึ่งมิได้รักใครชอบพอกับผู้ตาย จำเลยเคยแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจและชาวบ้านให้แจ้งโจทก์ร่วมเพื่อห้ามปรามผู้ตายมิให้ลวนลามนางสาวชมพูนุชอีก วันเกิดเหตุวันที่ 17 กันยายน 2541 เวลา 18 นาฬิกา ขณะที่จำเลย นางเกสร ภริยา นายธิติพฤฒิ นางสาวชมพูนุชและเด็กชายพิศุทธิ์ บุตรชายและบุตรสาวอยู่ที่บ้าน ผู้ตายไปที่บ้านของจำเลยแล้วถูกจำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองยาวขนาดเบอร์ 12 ยิงถูกที่แขนขวาด้านนอกและข้อพับแขนขวาด้านใน หน้าท้องขวา ชายโครงขวา และเอวด้านซ้าย นอกจากนี้สภาพศพผู้ตายยังมีบาดแผลที่ศีรษะ กะโหลกเหนือหูขวาถึงด้านหลังยุบ มีบาดแผลฉีกขาดหลังหูขวา และบาดแผลที่กะโหลกศีรษะด้านหลังตรงกลางฉีกขาดลึกถึงกะโหลกด้วยแพทย์หญิงสาธิตา แสดงเหตุที่ตายว่าเกิดจากสมองได้รับความกระทบกระเทือนจากบาดแผลกะโหลกศีรษะยุบ และเสียเลือกจากแผลกระสุนปืน มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ได้ความตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่า ผู้ตายเคยไปหานางสาวชมพูนุช ต่อมาจำเลยแจ้งฝากชาวบ้านให้โจทก์ร่วมห้ามจำเลยไม่ให้ไปพบนางสาวชมพูนุช นายโกเมศร์ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเวลา 17 นาฬิกา ผู้ตายไปพบพยานแล้วขับรถจักรยานยนต์ของพยานออกไป นายโกเมศร์ขับรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งตามไป ก่อนถึงบ้านจำเลยประมาณ 30 ถึง 40 เมตร ได้ยินเสียงอาวุธปืนดังคำเบิกความดังกล่าวสอดคล้องกับคำเบิกความของนางเกสร ภริยาของจำเลย นายธิติพฤฒิ นางสาวชมพูนุช และเด็กชายพิศุทธิ์ บุตรของจำเลยว่า ในวันเกิดเหตุเวลา 18 นาฬิกาผู้ตายไปหานางสาวชมพูนุชที่บ้านของจำเลย ผู้ตายเข้าไปจับมือนางสาวชมพูนุชพร้อมพูดว่าไปเที่ยวกัน แต่นางเกสร และนายธิติพฤฒิ เข้าไปฉุดตัวนางสาวชมพูนุชไม่ให้ผู้ตายพาไป ขณะเดียวกันได้ยินเสียงอาวุธปืนดังขึ้น 1 นัด ถูกผู้ตายล้มลง ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบดังกล่าวรับฟังได้ว่าผู้ตายเคยไปลวนลามนางสาวชมพูนุช จนจำเลยเคยแจ้งโจทก์ร่วมให้ห้ามปราม แต่โจทก์ร่วมหาได้กระทำการใดอันเป็นการนำพาห้ามปรามอย่างจริงจังไม่ จึงปล่อยให้ผู้ตายไปเกะกะระรานผู้อื่นโดยไร้ศีลธรรมและอุกอาจเยี่ยงนี้อีกจนในวันเกิดเหตุผู้ตายเข้าไปถึงบ้านของจำเลยและนางสาวชมพูนุชแล้วเข้าไปลวนลามผู้อื่นถึงบ้าน อันเป็นเคหสถานที่เจ้าของหรือผู้อาศัยควรได้ครอบครองอย่างปกติสุขที่สุดอย่างไรก็ดี ข้อที่จำเลยอ้างว่าได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายขณะที่ผู้ตายฉุดตัวนางสาวชมพูนุชนั้นยังขัดเหตุผล เนื่องจากหากผู้ตาย นางเกสรและนายธิติพฤฒิ ชุลมุนยื้อแย่งตัวของนางสาวชมพูนุชกันอยู่ แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองยิงไปในทันใด กระสุนปืนก็อาจถูกนางเกสร นายธิติพฤฒิ หรือนางสาวชมพูนุชด้วย เนื่องจากเป็นอาวุธปืนลูกซองยาวเบอร์ 12 ทั้งปรากฏจากรายงานชันสูตรบาดแผลหรือศพของแพทย์ว่า กระสุนปืนถูกผู้ตายที่แขนขวา หน้าท้องขวา ชายโครงขวา และเอวด้านซ้าย แสดงว่าเป็นการยิงระยะที่กลุ่มของกระสุนเริ่มกระจายออกเป็นวงกว้างพอที่จะถูกบุคคลในรัศมีของกลุ่มกระสุนปืนลูกซองได้ ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะกล้ายิงขณะที่ภริยาและบุตรของตนอยู่ในรัศมีของกลุ่มกระสุนปืนทั้งขัดต่อคำให้การชั้นสอบสวน ที่จำเลยให้การในวันรุ่งขึ้นหลังจากเกิดเหตุว่า เมื่อนางเกสร ภริยาจำเลยกอดเอวนางสาวชมพูนุช ผู้ตายพูดว่าเดี๋ยวจะกลับมาอีก แล้วเดินไปยังรถจัรยานยนต์ จำเลยจึงใช้อาวุธปืนลูกซองยิงผู้ตาย ขณะเดินไปที่รถจักรยานยนต์ดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ตายเข้าไปลวนลามฉุดมือนางสาวชมพูนุช แต่นางเกสรดึงตัวนางสาวชมพูนุชไว้ได้แล้ว ผู้ตายจึงเดินกลับไปที่รถจักรยานยนต์ ภยันตรายที่เกิดจากการกระทำของผู้ตายได้หมดไปแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ที่บัญญัติให้การกระทำโดยป้องกันจะต้องเป็นการป้องกันสิทธิของตนหรือผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันเป็นละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อย่างไรก็ดี การที่ผู้ตายเข้าไปลวนลามบุตรสาวของจำเลยถึงบ้าน เป็นการข่มแหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในแทบจะทันใดหลังจากถูกข่อแหง เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมและจำเลยว่า กรณีมีเหตุเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษจำคุก ส่วนโจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษสถานหนักขึ้น เพราะผู้ตายมีบาดแผลหลายแห่ง และที่กะโหลกศีรษะ แสดงว่าจำเลยกระทำโดยอำมหิต รุนแรงเกินเหตุนั้น เห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ความแต่เพียงว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ส่วนบาดแผลที่ศีรษะจะเกิดจากการกระทำของผู้ใดอย่างไร ไม่ได้ความแน่ชัดทั้งคำเบิกความของนายถ้วน พยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่อ้างว่าเห็นจำเลยถือขวานก็ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้วว่ารับฟังไม่ได้ สภาพของจำเลยปรากฏตามคำเบิกความของจำเลย และนายแพทย์จรัส ว่าก่อนเกิดเหตุไม่กี่วันจำเลยผ่าตัดริดสีดวงทวาร ต้องใช้เวลารักษาตัว 1 เดือน และปรากฏว่าจำเลยก็ระบุยอมรับว่าได้ใช้อาวุธปืนยิงแล้วเกิดความกลัวเก็บตัวอยู่ในบ้าน ทั้งได้ความจากนางเกษร นายธิติพฤฒิ นางสาวชมพูนุช และเด็กชายพิศุทธิ์ ว่าหลังเกิดเหตุพยานทั้งสี่รีบเดินทางไปแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อกลับบ้านพบชาวบ้านหลายคนมุงดูศพผู้ตายสอดคล้องกับคำเบิกความของนายโกเมศร์ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นญาติผู้ตายเบิกความว่า หลังเกิดเหตุนายโกเมศร์กลับไปที่บ้านของจำเลยมีชาวบ้านและบุคคลอื่นไปที่เกิดเหตุประมาณ 100 คน แสดงว่าหลังเกิดเหตุ เมื่อชาวบ้านได้ยินเสียงอาวุธปืนดังได้ไปยังที่เกิดเหตุเห็นผู้ตาย ชาวบ้านได้รับทราบเหตุที่ผู้ตายเคยเกะกะระรานลวนลามนางสาวชมพูนุชมาก่อน จนจำเลยแจ้งผ่านชาวบ้านเพื่อให้โจทก์ร่วมกำราบบุตรหลานของตนมิให้ประพฤติชั่วเช่นนั้นต่อไปอีก แต่ผู้ตายก็ยังหาได้สำนึก กลับกระทำการอุกอาจบุกไปยังบ้านของจำเลยอีกจนถูกยิง พฤติการณ์อันเป็นภัยของผู้ตายย่อมสร้างความเคียดแค้นชิงชังให้แก่ชาวบ้าน บาดแผลที่ศีรษะที่ตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ปรากฏว่าเป็นการกระทำของจำเลย อาจมาจากชาวบ้านที่ดูศพแล้วระบายความเกลียดชังใส่ศพผู้ตายก็ได้ กรณีไม่มีเหตุจะลงโทษจำเลยหนักขึ้น ส่วนกรณีควรลดโทษแล้วรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า เหตุเกิดจากอารมณ์ของจำเลยซึ่งแม้เหตุบันดาลโทสะจะเกิดจากความผิดของผู้ตายโดยแท้ แต่ได้ความตามคำให้การของจำเลยว่า จำเลยเคยใช้อาวุธมีดฆ่าภริยาคนแรกเสียชีวิต ต้องโทษจำคุก 10 ปี จำเลยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษแล้ว ย่อมควรทราบถึงภัยที่เกิดจากการใช้อารมณ์ของตนควรได้เรียนรู้การระงับยับยั้งการใช้อารมณ์ชั่ววูบ และควรรู้ว่าการกระทำของผู้ตายเป็นความผิดต่อกฎหมายสามารถใช้กระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีแก่ผู้ตายได้ แต่กลับใช้อาวุธปืนฆ่าผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ลงโทษมานั้นเหมาะสมแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฎีกาของโจทก์ร่วมและจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share