คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11837-11838/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างคือ (3) บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบ 18 ปี แต่ยังศึกษาอยู่ในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีให้ได้รับส่วนแบ่งเงินทดแทนต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ (4) บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี และทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย เป็นบทบัญญัติที่ถือเอาอายุ การศึกษา และความทุพพลภาพเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน โดยไม่ได้บัญญัติว่าต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) (4) จึงต้องถือเอาความเป็นบุตรตามความเป็นจริง

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานภาค 6 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยและให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนกรณีนายประสพผลสูญหายในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนเป็นระยะเวลา 8 ปี เป็นเงิน 2,304,000 บาท
โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 8 ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยและให้จำเลยปฏิบัติตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทนโดยจ่ายค่าทดแทนกรณีนายเอนก สูญหายในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลา 8 ปี รวมเป็นเงิน 576,000 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลย ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนกรณีการสูญหายของนายประสพผล แก่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ในการจ่ายนั้นให้จำเลยปฏิบัติตามมาตรา 18 (4) และมาตรา 18 วรรคสี่ โดยค่าจ้างรายเดือนของนายประสพผล เท่ากับ 40,000 บาท กับให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนกรณีการสูญหายของนายเอนก แก่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ในการจ่ายนั้นให้จำเลยปฏิบัติตามมาตรา 18 (4) และมาตรา 18 วรรคสี่ นั้น โดยค่าจ้างรายเดือนของนายเอนก เท่ากับ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่านายประสพผลและนายเอนก เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ เห็นว่า ในชั้นสอบสวนของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่มีประเด็นให้ต้องพิจารณาว่านายประสพผลและนายเอนกเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ ทั้งในชั้นสอบสวนดังกล่าวและในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามหนังสือ ปรากฏว่ามีการฟังข้อเท็จจริงแล้วว่านายประสพผลเป็นลูกจ้างของบริษัทตากเอนจีเนียริ่ง จำกัด ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและตำแหน่งผู้จัดการ นายเอนกเป็นลูกจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดตากเมืองทอง (โจทก์ที่ 4)ตำแหน่งหุ้นส่วนผู้จัดการ เช่นนี้ประเด็นตามอุทธรณ์ว่านายประสพผลและนายเอนกเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ต้องยุติไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จำเลยจึงรื้อฟื้นเรื่องนายประสพผลและนายเอนกไม่ใช่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งยุติไปแล้วมาอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาอีกไม่ได้ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่านายประสพผลและนายเอนกสูญหาย เนื่องจากการทำงานหรือไม่นั้น จำเลยอุทธรณ์ว่า นายประสพผลและนายเอนกสั่งงานจนกระทั่งเวลา 17 นาฬิกา ต่อมาเวลา 21 นาฬิกา นายเอนกติดต่อทางโทรศัพท์กับนางสาวทับทิมว่าจะเดินทางกลับที่พักนั้น เป็นการเดินทางออกนอกเส้นทางเพราะมิได้ไปดูงาน คำเบิกความของนายประเทืองที่ให้การว่ามีการเดินทางไปดูงานต่อมีพิรุธเพื่อช่วยเหลือนายจ้างที่ขอรับเงินทดแทนนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า นายประสพผลและนายเอนกออกเดินทางจากสถานที่ก่อสร้างที่ไปดูงานในเวลาประมาณ 17 นาฬิกา แล้วทั้งสองเดินทางต่อไปดูงานอื่นในกิจการของนายจ้าง ซึ่งต้องใช้เวลาอันหมายถึงการหยุดพักเพื่อรับประทานอาหารด้วย ทั้งเส้นทางขึ้นเขามีลักษณะลาดชัน มืดและเปลี่ยว ต้องใช้เวลาในการเดินทางกลับที่พัก การสูญหายของนายประสพผลและนายเอนกจึงเป็นการสูญหายเนื่องจากการทำงาน เช่นนี้อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 6 ที่ว่านายประสพผลและนายเอนกเดินทางไปดูงานต่อหรือไม่ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อมาว่าโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 เป็นบุตรที่มิชอบด้วยกฎหมายของนายเอนก ไม่ใช่ผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 อันจะมีอำนาจฟ้องเรียกเงินทดแทนนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างคือ
(1) บิดามารดา
(2) สามีหรือภริยา
(3) บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบสิบแปดปีและยังศึกษาอยู่ในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่
(4) บุตรมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีและทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย บทบัญญัติตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) และ (4) ถือเอาอายุ การศึกษา และความทุพพลภาพเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน โดยมิได้บัญญัติว่าต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การตีความว่าต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมเห็นได้ชัดว่าจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายแคบกว่าบทบัญญัติตามตัวอักษรของกฎหมาย และมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่มุ่งจะให้บุตรซึ่งเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดมีสิทธิได้รับเงินทดแทน ดังนั้นบุตรตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) และ (4) จึงต้องถือความเป็นบุตรตามความเป็นจริงเมื่อคดีนี้โจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 เป็นบุตรของนายเอนกตามความเป็นจริงและมีอายุไม่เกิน 18 ปีโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 จึงเป็นผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง และมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายว่าโจทก์ทั้งแปดมีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพียงใด เห็นว่า ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนกรณีการสูญหายของนายประสพผลและนายเอนกแก่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ในการจ่ายให้จำเลยปฏิบัติตามมาตรา 18 (4) และ 18 วรรคสี่ โดยค่าจ้างรายเดือนของนายประสพผลเท่ากับ 40,000 บาท และค่าจ้างรายเดือนของนายเอนกเท่ากับ 10,000 บาท ดังนั้นนอกเหนือจากโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 เป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนแล้ว เมื่อนายประสพผลยังมีบิดาและมารดาซึ่งมีชีวิตอยู่ และนายเอนกก็มีมารดาที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนตามมาตรา 20 จึงมีดังนี้ กรณีการสูญหายของนายประสพผลคือบิดามารดาและโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และกรณีการสูญหายของนายเอนกคือมารดาและโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 ส่วนการจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้มีสิทธิตามคำพิพากษาดังกล่าวต้องกระทำตามมาตรา 18 วรรคสี่ ซึ่งกำหนดให้ไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุดและไม่มากกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานประกาศกำหนด และต่อมามีประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตรา เงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมิน และการเรียกเก็บเงินสมทบ กำหนดค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดไว้ในข้อ 7 วรรคสามว่าลูกจ้างคนใดได้รับค่าจ้างเกินกว่า 240,000 บาท ต่อปี ค่าจ้างที่นำมาคำนวณเงินสมทบสำหรับลูกจ้างผู้นั้นให้คำนวณเพียง 240,000 บาท เมื่อค่าจ้างที่นำมาคำนวณจ่ายค่าทดแทนตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 ที่ต้องปฏิบัติตามมาตราดังกล่าวไม่เกินปีละ 240,000 บาท อยู่แล้ว ฉะนั้นอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคดีที่ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษามาได้
พิพากษายืน

Share