แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แก่จำเลยที่ 1 ตามเช็คและรายการชำระเงินจำนวน 3,320,150 บาท อันเป็นการชำระหนี้ซ้ำซ้อน จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนนี้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบจำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้ และเนื่องจากทรัพย์ที่ต้องคืนเป็นเงิน จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 คืนเงินดังกล่าวก่อนฟ้องคดี จึงให้คิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จ
โจทก์โดยกรรมการโจทก์เพิ่งรู้ว่า โจทก์ได้ชำระราคารถจักรยานยนต์ที่เข้าใจกันว่า ค้างชำระอยู่ให้แก่จำเลยที่ 1 จนครบถ้วนไปก่อนแล้ว อันเป็นผลให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินที่ชำระให้จำเลยทั้งสองตามฟ้องคดีนี้คือในฐานลาภมิควรได้ เมื่อเดือนตุลาคม 2543 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2544 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์โดยกรรมการโจทก์รู้สิทธิเรียกคืนนั้น จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินจำนวน 5,538,687 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 3,320,150 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินคืนแก่โจทก์จำนวน 3,320,150 บาท ให้จำเลยที่ 1 ใช่ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ค้าขายกันมาตั้งแต่ปี 2520 โดยโจทก์ซื้อรถจักรยานยนต์จากจำเลยที่ 1 มาจำหน่ายเดิมนายรัศมี เป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์ ส่วนนางพิมพ์ใจ ภริยาของนายรัศมีเป็นกรรมการของโจทก์ ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2537นายรัศมีถึงแก่กรรม นางพิมพ์ใจจึงเป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์แทน หลังจากนายรัศมีถึงแก่กรรม จำเลยที่ 2 แจ้งโจทก์ว่า โจทก์ยังคงมีหนี้ค่ารถจักรยานยนต์จำนวน 183 คัน จากนั้นโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงเกี่ยวกับหนี้ค่ารถจักรยานยนต์ที่ค้างชำระตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2537 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 เป็นเงินประมาณ 6,852,922 บาท โจทก์ได้ผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ไปจนกระทั่งถึงปี 2542 เป็นเงิน 3,320,150 บาท ส่วนเงินที่เหลือจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ชำระอีกเพียงจำนวน 3,500,000 บาท โจทก์ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2542 ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 จึงฟ้องโจทก์และนางพิมพ์ใจในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 628/2543 ของศาลแขวงอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 และจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินตามเช็คดังกล่าวด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีของโจทก์พ้นกำหนดระยะเวลาที่มาฟ้องคดีหรือไม่ โจทก์มีนางพิมพ์ใจ กรรมการโจทก์เบิกความว่าหลังจากเช็คจำนวนเงิน 3,500,000 บาท ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์และพยานเป็นจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ที่ศาลแขวงอุบลราชธานี และในคดีนั้นจำเลยทั้งสองนำสืบแสดงรายละเอียดมูลหนี้ตามเช็คดังกล่าวตามบัญชีลูกหนี้ ประมาณเดือนสิงหาคม 2543 ทนายความของโจทก์ได้คัดเอกสารดังกล่าวไปให้พยาน พยานจึงให้นางสาวชฐิลพร พนักงานบัญชีตรวจสอบพบว่า โจทก์ได้ชำระราคารถจักรยานยนต์จำนวน 183 คัน ที่เข้าใจกันว่าค้างชำระอยู่จนครบถ้วนไปแล้วตามบัญชีแสดงรายการจ่ายเงินชำระหนี้ โดยมีนางสาวชฐิลพรผู้ตรวจสอบและจัดทำเอกสารดังกล่าวเบิกความว่า พยานได้รับมอบบัญชีลูกหนี้จากนางพิมพ์ใจมาตรวจสอบเมื่อเดือนตุลาคม 2543 สนับสนุนอยู่ ประกอบกับในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ได้ระบุว่า ทนายความของโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงอุบลราชธานีขอถ่ายสำเนาเอกสารในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 628/2543 ตามคำร้องลงวันที่ 15 มิถุนายน 2543 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สอดคล้องต่อเนื่องกันกับพยานหลักฐานโจทก์ จึงน่าเชื่อว่า นางพิมพ์ใจกรรมการโจทก์ได้รู้ว่า จำเลยที่ 1 นำสืบแสดงข้อเท็จจริงในบัญชีลูกหนี้อันเป็นรายละเอียดที่มาแห่งมูลหนี้ตามเช็ค ในการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 628/2543 และทนายความของโจทก์ได้ขอคัดสำเนาเอกสารดังกล่าวจากศาลแขวงอุบลราชธานีส่งให้นางพิมพ์ใจเมื่อเดือนสิงหาคม 2543 จากนั้นนางพิมพ์ใจส่งบัญชีลูกหนี้ให้นางสาวชฐิลพรพนักงานบัญชีของโจทก์ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเอกสารดังกล่าวเมื่อเดือนตุลาคม 2543 ได้ผลการตรวจสอบว่า ข้อเท็จจริงตามบัญชีลูกหนี้ถูกต้องตามบัญชีแสดงรายการจ่ายเงินชำระหนี้ ดังนั้น จึงต้องฟังว่าโจทก์โดยนางพิมพ์ใจกรรมการโจทก์เพิ่งรู้ว่า โจทก์ได้ชำระราคารถจักรยานยนต์ที่เข้าใจกันว่าค้างชำระอยู่ให้แก่จำเลยที่ 1 จนครบถ้วนไปก่อนแล้ว อันเป็นผลให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินที่ชำระให้จำเลยทั้งสองตามฟ้องคดีนี้คืนในฐานลาภมิควรได้ เมื่อเดือนตุลาคม 2543 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2544 ยังมิพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์โดยนางพิมพ์ใจกรรมการโจทก์รู้สิทธิเรียกคืนนั้น จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และคดีนี้คู่ความได้สืบพยานจนเสร็จสิ้นแต่โดยที่ยังมีประเด็นข้อพิพาทอื่นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว คู่ความได้ยื่นอุทธรณ์เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัย เพื่อไม่ให้คดีล่าช้าออกไปอีก ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาใหม่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 296/2544 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานี (เดชอุดม) หรือไม่ เห็นว่า ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 296/2544 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานี (เดชอุดม) จำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 และนางพิมพ์ใจเป็นจำเลยที่ 2 ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวรับผิดชำระเงินตามเช็คที่โจทก์โดยนางพิมพ์ใจกรรมการผู้มีอำนาจสั่งจ่ายชำระค่าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ส่วนที่ค้างชำระซึ่งในคดีนี้คือสำเนาเช็ค แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ได้ชำระไปก่อนแล้วในฐานลาภมิควรได้ตามสำเนาเช็คอันเป็นหนี้คนละจำนวนกัน ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นยังมิได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นหนี้ตามสำเนาเช็ค การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จึงไม่เกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 แต่อย่างใด
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินจำนวน 3,320,150 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนางพิมพ์ใจกรรมการผู้จัดการโจทก์ นายศักดาพนักงานธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนางสาวชฐิลพรพนักงานบัญชีของโจทก์ซึ่งเป็นคนตรวจสอบการชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จำนวน 183 คัน เบิกความประกอบสำเนาบัญชีลูกหนี้และสำเนาบัญชีแสดงรายการจ่ายเงินชำระหนี้ พบว่ามีการชำระค่าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จำนวน 183 คัน ไปแล้วตามเช็คจำนวน 35 ฉบับ และได้มีการเรียกเก็บเงินไปครบถ้วนแล้วตามรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีตามสำเนาบัญชีกระแสรายวันปี 2537 และ 2538 ส่วนยอดเงินที่ต่างกันจำนวน 137,598 บาท นั้น จากการคำนวณราคาค่าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และจำนวนเงินที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คเกินราคาค่าเช่าซื้อรถจักรยนต์ในแต่ละลำดับ ที่ปรากฏในสำเนาบัญชีแสดงรายการจ่ายเงินชำระหนี้ตั้งแต่ลำดับที่ 1 ถึงที่ 14 และลำดับที่ 16 ถึงที่ 21 พบว่าจำนวนเงินที่มีผลต่างกันในแต่ละลำดับเท่ากับอัตราร้อยละ 1.5 ของราคาค่าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในแต่ละลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยทั้งสองให้เครดิตโจทก์และคิดดอกเบี้ยในส่วนที่ชำระราคาเกินเวลากำหนดไปในอัตราร้อยละ 1.5 ถึง 2 ต่อเดือน คงมีเฉพาะลำดับที่ 15 ซึ่งเป็นการชำระราคาค่าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จำนวนมากถึง 18 คัน ที่มีการชำระเงินในส่วนผลต่างสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ซึ่งอาจจะเป็นการตกลงเป็นเรื่องเฉพาะเป็นครั้งคราวได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงสอดคล้องกันมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าเช็คจำนวน 35 ฉบับ เป็นการชำระหนี้กู้ยืมนั้น ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุนจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ และฟังได้ว่าเช็คจำนวน 35 ฉบับ เป็นการชำระราคาค่าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จำนวน 183 คัน ดังนั้น การที่โจทก์ชำระหนี้ดังกล่าวตามเช็คและรายการชำระเงินจำนวน 3,320,150 บาท จึงเป็นการชำระหนี้ซ้ำซ้อนจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนนี้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้และเนื่องจากทรัพย์ที่ต้องคืนเป็นเงิน จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 คืนเงินดังกล่าวก่อนฟ้องคดี จึงให้คิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 3,320,150 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (14 สิงหาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกาค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3