แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานลักทรัพย์จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการจัดโค่นต้นยางลงก่อน ดังนั้นความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตและความผิดฐานลักทรัพย์ จึงเกิดขึ้นในคราวเดียวกัน ไม่สามารถแยกเจตนาออกจากกันได้ เป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวการกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 83 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 6, 7, 11, 73 ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 6,000 บาท และให้นับโทษจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3059/2546 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธิ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 73 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง, 83 เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ฐานลักทรัพย์ ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 2 ปี ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 8 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 6,000 บาท ส่วนคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 คดีนี้ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3059/2546 ของศาลชั้นต้น ที่ถูกจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวให้การปฏิเสธ และถูกแยกฟ้องจากคดีดังกล่าวแล้วเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 940/2547 แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อดังกล่าว ศาลได้มีคำพิพากษาแล้วจึงให้ยกคำขอโจทก์ในส่วนนี้
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 8 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายร่วมกันตัดต้นยาง 1 ต้น ราคา 6,000 บาท ของนางอำนวยและนายสมี ผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 8 มีความผิดตามฟ้อง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษ ฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 1 ปี ฐานลักทรัพย์ จำคุกคนละ 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า มิได้ร่วมกระทำความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตกับฐานลักทรัพย์นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานลักทรัพย์ จำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 แต่กระทงไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 4 ที่อ้างว่ามิได้กระทำความผิดเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาดังกล่าวของจำเลยที่ 4 จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 ร่วมกันกระทำความผิดข้อหาทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ โจทก์มีนายส่ง นางสาวพุทธิดา นางสำอาง นายสมจิต นายบุญศรี นายทอง นายศักดิ์ธานี และนายศราวุธ เบิกความสอดคล้องกันถึงพฤติการณ์การกระทำความผิดคดีนี้เริ่มตั้งแต่นางสำอางจ้างจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ให้มาตัดต้นประดู่และต้นหาด ระหว่างนั้นมีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มาพบ จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 พูดเรื่องจะร่วมกันตัดต้นยางของผู้เสียหายโดยจะแบ่งไม้กันเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งให้เจ้าพนักงานตำรวจ ส่วนหนึ่งให้เจ้าของไม้ ส่วนที่สามให้ผู้ตัดไม้ ต่อมาจำเลยที่ 5 เป็นคนใช้เลื่อยโซ่ตัดต้นยางดังกล่าวโดยใช้กระแสไฟฟ้าจากบ้านของจำเลยที่ 8 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ยืนอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ เมื่อโค่นต้นยางลงแล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้ตลับเมตรวัดความยาวไม้ยาง จำเลยที่ 5 ใช้มีดอีโต้ทำเครื่องหมาย จำเลยที่ 6 ใช้เลื่อยวงเดือนผ่าไม้ยางเป็นท่อน จำเลยที่ 7 ถือแบตเตอรี่ฉายส่องให้ตัดไม้ จำเลยที่ 8 ใช้ใบไม้ปัดขี้เลื่อยออก จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยืนมองดู ต่อมามีการขนย้ายไม้ยางไปไว้ที่สวนของนายเปลี่ยน ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุนั้น จากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์มีการแปรรูปไม้เป็นแผ่น เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวเป็นประจักษ์พยาน คำเบิกความมีสาระตรงกันไม่ปรากฏพิรุธให้สงสัยจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 นำสืบต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกตรวจพื้นที่กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ตำบลตาอุด และตำบลศรีตระกูล ตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา แล้วกลับมาที่สถานีตำรวจภูธรตำบลปรือใหญ่ หลังจากนั้นแยกย้ายกันกลับบ้านพัก ส่วนจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 นำสืบต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 อยู่ที่บ้านพักส่วนจำเลยที่ 8 อยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ เป็นการกล่าวอ้างแต่เพียงลอยๆ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 เป็นตัวการร่วมกันตัดโค่นต้นยางของผู้เสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 ร่วมกันกระทำความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 กระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์หรือไม่ ได้ความตามคำเบิกความของนายส่ง นางสาวพุทธิดา นางสำอาง นายสมจิต นายบุญศรี นายทอง นายศักดิ์ธานี และนายศราวุธ พยานโจทก์ซึ่งเบิกความสอดคล้องกันว่าหลังเกิดเหตุพบว่าไม้ยางที่ถูกตัดโค่นถูกตัดแบ่งเป็น 3 ท่อน และถูกนำไปเก็บและแปรรูปที่สวนของนายเปลี่ยนซึ่งอยู่ห่างบ้านของนางสำอางประมาณ 50 เมตร โดยไม่ปรากฏว่ามีบุคคลอื่นเป็นคนลักลอบขนย้ายไม้ท่อนดังกล่าวไป จึงเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 เป็นตัวการให้มีการขนย้ายไม้ยางท่อนไปเก็บและแปรรูปที่สวนของนายเปลี่ยนจึงเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นแล้ว และไม่ว่านายสมีจะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยหรือไม่ ก็ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ แล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่าการกระทำความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตและความผิดฐานลักทรัพย์เป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม เห็นว่า ความผิดฐานลักทรัพย์จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการตัดโค่นต้นยางลงก่อน ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงเกิดขึ้นในคราวเดียวกัน ไม่สามารถแยกเจตนาออกจากกันได้ เป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า เป็นความผิดหลายกรรม ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังขึ้น ปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า การสอบสวนคดีนี้ชอบหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 4 ฎีกาว่านายสมีเบิกความว่า พยานได้แจ้งความประสงค์กับพนักงานสอบสวนว่า ไม่ประสงค์จะเอาเรื่องจำเลยทั้งแปด เนื่องจากไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กล่าวหาว่าจำเลยทั้งแปดเป็นผู้ตัดต้นยางที่เกิดเหตุ ทั้งไม่สอบถามบุคคลละแวกใกล้เคียงแล้วก็ไม่ทราบว่าใครเป็นคนตัดต้นไม้ดังกล่าว การแจ้งความจึงไม่เป็นการร้องทุกข์ การสอบสวนไม่ชอบโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า คดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะต้องสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือไม่ คำเบิกความของนายสมีดังกล่าวไม่มีผลทำให้การสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบแต่อย่างใด จำเลยที่ 4 ฎีกาอีกว่า พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแต่เพียงว่า ร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ไม่ได้แจ้งข้อหาลักทรัพย์ด้วย การสอบสวนเกี่ยวกับความผิดฐานลักทรัพย์จึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ เห็นว่า การแจ้งข้อหามีเจตนาเพื่อให้ผู้ต้องหาทราบและเข้าใจถึงการกระทำของตนว่าเป็นความผิด เมื่อได้แจ้งข้อหาอันเป็นความผิดหลักแล้ว หาจำต้องแจ้งข้อหาความผิดอื่นที่เกี่ยวพ้นด้วยไม่ เมื่อการสอบสวนได้ความว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดข้อหาอื่นอีกก็ถือว่ามีการสอบสวนข้อหาอื่นที่เกี่ยวพ้นนั้นแล้ว ดังนั้น การสอบสวนรวมทั้งการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานลักทรัพย์จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 ว่า ควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 หรือไม่ เห็นว่า ต้นยางของผู้เสียหายที่ถูกโค่นมีเส้นรอบวง 2 เมตร 80 เซนติเมตร นับว่าเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงจึงไม่สมควรรอการลงโทษให้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตและความผิดฐานลักทรัพย์เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 73 วรรคสอง (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โทษให้เป็นไปตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดไว้แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 8 คนละ 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3