คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เครื่องจับเท็จเป็นเพียงเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่นำผลการตอบคำถามของจำเลยมาวิเคราะห์ตามหลักวิชาการแล้วประเมินผลจากการวิเคราะห์นั้นว่าจำเลยพูดจริงหรือพูดเท็จ อันมีลักษณะเป็นเพียงความเห็นทางวิชาการย่อมไม่อาจนำมาพิสูจน์ทราบถึงข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยเป็นที่แน่ชัดได้ ต่างกับการพิสูจน์ตัวบุคคลที่อาจพิสูจน์ทราบได้โดยอาศัยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบให้เห็นว่าจำเลยฆ่าผู้ตายประการใด ลำพังเครื่องจับเท็จและความเห็นของผู้ชำนาญด้านเครื่องจับเท็จยังไม่อาจรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายฆ่าผู้ตาย ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 288 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายดอน บุตรผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยเป็นพนักงานขับรถของนางสมใจ ผู้ตาย ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายใช้ของแข็งมีคม ทุบ ตีและแทงที่ร่างกายของผู้ตาย จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานคนใดเห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ สำหรับพยานก่อนเกิดเหตุ คงมีนายนิมิต นายอภิชาติ นายวีรพล นางรัตนา และนายดอน บุตรผู้ตายกับนายธนพร ซึ่งมีบ้านอยู่ในซอยเดียวกับผู้ตายมาเบิกความเป็นพยานโดยนายนิมิตเบิกความว่า ในวันที่ 19 ตุลาคม 2541 มีช่างซ่อมรถสองแถวของผู้ตายถามพยานว่าพบผู้ตายบ้างหรือไม่ เพราะไม่พบผู้ตายมา 5 ถึง 6 วันแล้ว พยานจึงโทรศัพท์ไปสอบถามจำเลยว่าไปขับรถให้ผู้ตายหรือไม่ จำเลยบอกว่าไม่ได้ไป พยานจึงบอกให้จำเลยไปดูผู้ตายและโทรศัพท์ไปหานายอภิชาติกับนางรัตนาบุตรผู้ตายแต่ไม่พบจึงโทรศัพท์กลับไปหาจำเลยอีก จำเลยแจ้งว่าจำเลยอยู่ที่บ้านของนางรัตนา หลังจากนั้นพยานนัดจำเลยออกไปพบกันที่บ้านผู้ตาย เมื่อไปถึงเห็นรถของผู้ตายจอดอยู่และประตูบ้านปิด พยานกับจำเลยปีนรั้วเข้าไปในบ้าน ปรากฏว่าประตูบ้านไม่ได้ล็อก เมื่อเปิดประตูบ้านออกได้กลิ่นเหม็น พยานบอกให้นางรุ่งรัตน์ คนข้างบ้านช่วยแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ และรออยู่จนนายอภิชาติมาที่บ้านของผู้ตายแล้วพากันเข้าไปในห้องนอนของผู้ตาย พบศพผู้ตายนอนอยู่ข้างเตียงสภาพศพเน่า ต่อมามีเจ้าพนักงานตำรวจมาตรวจที่เกิดเหตุจากการที่พยานใช้ให้จำเลยไปหาผู้ตาย แต่จำเลยกลับไปที่บ้านของนางรัตนาก่อนโดยอ้างว่ากลัวผู้ตายด่าเนื่องจากไม่ได้ขับรถให้ผู้ตายมาหลายวันแล้วเชื่อว่าจำเลยน่าจะรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการตายของผู้ตาย สำหรับนายอภิชาติ นายวีรพล นางรัตนาและนายดอนเบิกความประกอบกันได้ความว่า พยานเชื่อว่าจำเลยฆ่าผู้ตายเพราะจำเลยเป็นหนี้ผู้ตายเคยพูดจาข่มขู่ให้ผู้ตายโอนกิจการรถสองแถวของผู้ตายให้แก่จำเลย โดยเสนอเงินค่าตอบแทนที่เก็บค่าเช่ารถจำนวนหนึ่งล้านบาทให้ แต่ผู้ตายไม่ยอม ทำให้จำเลยคิดว่าถูกผู้ตายหลอกใช้ ทั้งก่อนเกิดเหตุ 4 ถึง 5 วัน จำเลยก็ไม่ไปขับรถให้ผู้ตายตามปกติ ส่วนนายธนพรเบิกความว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2541 เวลาประมาณ 6 นาฬิกา ขณะพยานเข็นรถขายของออกจากบ้าน เห็นจำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปที่บ้านของผู้ตายและไม่พบจำเลยอีก ดังนี้ เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นคนร้ายเท่านั้น ข้อที่ผู้ตายปฏิเสธไม่รับข้อเสนอเงินค่าตอบแทนจากจำเลยก็มิใช่เหตุที่จำเลยจะต้องโกรธแค้นถึงขนาดคิดฆ่าผู้ตาย แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะมีร้อยตำรวจเอกหญิงดวงฤทัย ผู้ชำนาญด้านเครื่องจับเท็จ กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ตรวจพิสูจน์จำเลย เป็นพยานเบิกความว่าได้ตั้งคำถามจำเลยว่า 1. คุณเป็นคนฆ่าผู้ตายใช่หรือไม่ 2. ในวันเกิดเหตุคุณใช้อาวุธทำร้ายร่างกายผู้ตายจนตายใช่หรือไม่ และ 3. คุณเป็นคนฆ่าผู้ตายในบ้านที่เกิดเหตุใช่หรือไม่ ปรากฏว่าจำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อ ซึ่งจากการวิเคราะห์ผ่านเครื่องจับเท็จแล้วได้ความว่าจำเลยให้การเท็จ เนื่องจากผลคลื่นกราฟแสดงว่าจำเลยโกหกในคำตอบทั้งสามข้อ พยานเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ฆ่าผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม เครื่องจับเท็จก็เป็นเพียงเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่นำผลการตอบคำถามของจำเลยมาวิเคราะห์ตามหลักวิชาการแล้วประเมินผลจากการวิเคราะห์นั้นว่าจำเลยพูดจริงหรือเท็จ อันมีลักษณะเป็นเพียงความเห็นในทางวิชาการย่อมไม่อาจนำมาพิสูจน์ทราบถึงข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยเป็นที่แน่ชัดได้ ต่างกับการพิสูจน์ตัวบุคคลที่อาจพิสูจน์ทราบได้โดยอาศัยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบให้เห็นว่าจำเลยฆ่าผู้ตายประการใด ลำพังเครื่องจับเท็จและความเห็นของร้อยตำรวจเอกหญิงดวงฤทัยผู้ชำนาญด้านเครื่องจับเท็จยังไม่อาจรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายฆ่าผู้ตายดังที่โจทก์ร่วมฎีกาได้ ประกอบกับจำเลยก็ให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ต้น พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share