แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ผู้เสียหายเป็นฝ่ายเริ่มต้นด่าว่าจำเลยก่อน แม้จำเลยโต้เถียงจนกลายเป็นทะเลาะกัน แต่ไม่ปรากฏว่ามีคำพูดที่เป็นการท้าทายให้ต่อสู้กัน ผู้เสียหายเดินไปหาจำเลยแล้วลงมือทำร้ายจำเลยก่อน จำเลยหยิบมีดปลายแหลมเป็นอาวุธใช้แทงผู้เสียหายย่อมเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง แต่ผู้เสียหายทำร้ายจำเลยด้วยมือเปล่าและต่างเป็นผู้หญิงด้วยกัน น่าจะทำร้ายกันไม่รุนแรงเท่าใดนัก เพียงจำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงสักครั้งก็น่าจะหยุดยั้งผู้เสียหายได้แล้ว ฉะนั้นการที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 5 ที และแทงโดยแรงลึกถึงตับ ม้าม และลำไส้ใหญ่ย่อมถือได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยย่อมมีความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 69
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และ 72 ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีการับฟังได้ว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยพยายามฆ่านางสาวแตงอ่อน ผู้เสียหายโดยใช้มีดปลายแหลมเป็นอาวุธแทงผู้เสียหายหลายที ถูกที่ท้องและหน้าอกทะลุถึงตับ ม้าม และลำไส้ใหญ่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตามฟ้อง หรือเป็นการป้องกันตนพอสมควรแก่เหตุตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยจะอ้างว่าป้องกันตนไม่ได้ เพราะจำเลยสมัครใจทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายแล้วเข้าทำร้ายซึ่งกันและกันนั้น โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลแต่มีคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.3 เป็นพยาน และมีนายสุก ซึ่งเป็นอาของผู้เสียหายและเป็นตาของจำเลยเป็นพยานเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าผู้เสียหายด่าจำเลยอยู่พักหนึ่งก่อนที่จำเลยและผู้เสียหายจะโต้เถียงกันบริเวณใต้ถุนบ้านของนางละออ และผู้เสียหายจะลงมือทำร้ายจำเลยก่อน แม้ในชั้นสอบสวนผู้เสียหายจะให้การว่า พอผู้เสียหายเดินไปหาจำเลย จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับว่าผู้เสียหายลงมือทำร้ายจำเลยก่อน แต่รับว่าในตอนต้นผู้เสียหายด่าจำเลยก่อน ซึ่งจำเลยมีนางสมคิด และนางบุญมาเป็นพยานเบิกความว่า ในขณะเกิดเหตุพยานทั้งสองอยู่ในที่เกิดเหตุได้ยินเสียงผู้เสียหายตะโกนด่าจำเลยซึ่งนั่งอยู่ใต้ถุนบ้านของนางละออที่เกิดเหตุ และเข้าไปตบตีจำเลยก่อนซึ่งญาติพี่น้องช่วยกันห้ามแต่ผู้เสียหายไม่ยอมหยุด พยานจำเลยเจือสมคำเบิกความของนายสุกซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายมีน้ำหนักให้รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าผู้เสียหายเป็นฝ่ายเริ่มต้นด่าว่าจำเลยก่อน แม้จำเลยโต้เถียงจนกลายเป็นทะเลาะกัน แต่ไม่ปรากฏว่ามีคำพูดที่เป็นการท้าทายให้ต่อสู้กันผู้เสียหายเดินไปหาจำเลยแล้วลงมือทำร้ายจำเลยก่อนจำเลยหยิบมีดปลายแหลมเป็นอาวุธใช้แทงผู้เสียหายย่อมเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการเพื่อป้องกันตนนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายทำร้ายจำเลยด้วยมือเปล่าและต่างก็เป็นผู้หญิงด้วยกันน่าจะทำร้ายกันไม่รุนแรงเท่าใดนัก เพียงจำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงสักครั้งก็น่าจะหยุดยั้งผู้เสียหายได้แล้ว ฉะนั้นการที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 5 ที และแทงโดยแรงลึกถึงตับ ม้าม และลำไส้ใหญ่ย่อมถือได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 69 เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีที่ว่าผู้เสียหายเป็นฝ่ายหาเรื่องด่าจำเลย ทั้งยังลุแก่โทสะและลงมือทำร้ายก่อน ทั้งสองฝ่ายเป็นญาติกันและหลังเกิดเหตุปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยเป็นที่พอใจ และไม่ติดใจเอาความแล้วตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.5 ประกอบกับจำเลยเป็นหญิงไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงมีเหตุปรานีกำหนดโทษในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกไว้เพื่อให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี แต่เห็นสมควรคุมประพฤติของจำเลยไว้ด้วย”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 69 ลงโทษจำคุก 2 ปี คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง และคุมความประพฤติของจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในระยะเวลา 1 ปี และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 18 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56