แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์ร่วมมิได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกับ บ. แต่จำเลยจัดให้ บ. และ ฝ. ลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินโดยปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วม จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมสัญญากู้ยืมเงิน การที่จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ร่วมโดยระบุว่าโจทก์ร่วมออกเช็คชำระหนี้เงินกู้ยืมถึงกำหนดชำระและบังคับได้ตามกฎหมายจึงเป็นฟ้องเท็จ เพราะการกู้ยืมเงินไม่ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ร่วม จึงไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ เมื่อจำเลยเบิกความยืนยันและอ้างส่งหนังสือสัญญากู้ยืมเงินปลอมเป็นพยานต่อศาล จึงเป็นความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 175, 177 วรรคสอง, 180 วรรคสอง, 264, 265, 268 วรรคสอง
ระหว่างพิจารณา นางสุภา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 วรรคสอง, 180 วรรคสอง, 265 ประกอบมาตรา 268 วรรคสอง, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฟ้องคดีอาญาอันเป็นเท็จรวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี ฐานเบิกความเท็จรวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี ฐานนำสืบและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญา และเป็นพยานหลักฐานข้อสำคัญในคดี จำคุก 1 ปี ฐานใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอม จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 9 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และ 268 ประกอบมาตรา 265 ต้องลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 180 วรรคสอง เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทจึงลงโทษในความผิดตามมาตรา 180 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด (ที่ถูก ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสองและมาตรา 180 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดมีระวางโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามมาตรา 180 วรรคสอง) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานฟ้องคดีอาญาอันเป็นเท็จแล้วคงจำคุก 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาหรือไม่ พิเคราะห์แล้วโจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมเบิกความว่า ในการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ร่วมกับนางบุญล้นไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนางบุญล้นและนางสาวสายฝน ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ให้กู้ยืมและพยานในสัญญากู้ยืมเบิกความยืนยันว่า ในการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ร่วมกับนางบุญล้นมิได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไว้ ส่วนสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยอ้างส่งศาลในคดีเป็นสัญญาที่จำเลยทำขึ้นแล้วนำมาให้นางบุญล้นและนางสาวสายฝนลงลายมือชื่อ เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความสอดคล้องต้องกัน และเมื่อพิจารณาลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในสัญญากู้ยืมเงินแล้วจะเห็นได้ว่าแตกต่างจากลายมือชื่อของโจทก์ร่วมที่ปรากฏในเอกสารต่างๆ ที่โจทก์ร่วมลงลายมือชื่อไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเช็คที่โจทก์ร่วมออกให้แก่นางบุญล้น กล่าวคือ โจทก์ร่วมจะลงลายมือชื่อทั้งส่วนที่เป็นชื่อและนามสกุล แต่ตามสัญญากู้ยืมเงินมีเฉพาะส่วนที่เป็นชื่อไม่มีส่วนที่เป็นนามสกุล นอกจากนี้ลายมือชื่อของโจทก์ร่วมหลายเส้นจะราบเรียบมีความหนักเบา แสดงให้เห็นว่าเขียนอย่างเร็ว แต่ในสัญญากู้ยืมเงินลายเส้นจะหนักและไม่ราบเรียบ เส้นคด แสดงให้เห็นว่าเขียนอย่างช้า ไม่เป็นไปตามธรรมชาติในการลงลายมือชื่อ เมื่อพินิจโดยทั่วไปแล้วจะเห็นได้ว่าแตกต่างจากลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ร่วม จำเลยซึ่งเป็นทนายความมากว่า 1 ปี ย่อมจะเห็นข้อสังเกตดังกล่าวได้ ดังนั้น หากจำเลยมิได้ปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมก็น่าจะต้องสอบถามนางบุญล้นและนางสาวสายฝนให้ถ่องแท้ ทั้งนี้ได้ความจากนางบุญล้นตามคำให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยรับดำเนินคดีโดยขอส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งของเงินที่จะได้จากโจทก์ร่วมอันเป็นมูลเหตุจูงใจให้จำเลยปลอม จึงเห็นได้ว่าคำเบิกความของนางบุญล้นและนางสาวสายฝนสอดคล้องต้องกันและสมเหตุสมผล หากไม่เป็นความจริงบุคคลทั้งสองคงไม่เบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลยโดยไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลทั้งสองได้เห็นตัวอย่างในการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้เป็นอุทาหรณ์ได้ดีจึงเชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริง เมื่อโจทก์ร่วมมิได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกับนางบุญล้น แต่จำเลยจัดให้นางบุญล้นและนางสาวสายฝนลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินโดยปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วม จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมสัญญากู้ยืมเงิน การที่จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ร่วมโดยระบุว่าโจทก์ร่วมออกเช็คชำระหนี้เงินกู้ยืมถึงกำหนดชำระและบังคับได้ตามกฎหมาย จึงเป็นฟ้องเท็จเพราะการกู้ยืมเงินไม่ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ร่วม จึงไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ เมื่อจำเลยเบิกความยืนยันและอ้างส่งหนังสือสัญญากู้ยืมเงินปลอมเป็นพยานต่อศาล จึงเป็นความผิดเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน