คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7152/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1497 บัญญัติว่า “การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้” เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องกล่าวอ้างในคดีนี้ว่า การสมรสระหว่างตนเองกับ ช.เป็นการสมรสซ้อน ผลคือทำให้การสมรสเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าว การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคแรก ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยร่วมที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส ไม่ใช่สินสมรส
โจทก์ยื่นคำคัดค้านแต่เพียงว่า ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสที่ตกทอดเป็นมรดกของ ช. ไม่ได้คัดค้านว่าเป็นทรัพย์สินที่ ช.ซื้อหรือร่วมกับจำเลยร่วมที่ 1 ซื้อหามา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์สินของจำเลยร่วมที่ 1 แต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ช. ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์สินที่ ช. ซื้อหามาด้วยเงินของตนเอง แล้วใส่ชื่อของบุตรสาวไว้ ต่อมาจึงโอนใส่ชื่อของจำเลยร่วมที่ 1 เป็นข้อที่โจทก์ไม่ได้คัดค้านและไม่ได้นำสืบต่อสู้ไว้ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ขณะโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาในคดี จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำให้การว่า การสมรสระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับ ช. เป็นโมฆะเพราะเป็นการสมรสซ้อน โจทก์จึงทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวจากคำให้การของจำเลยร่วมที่ 1 แล้ว แต่ยังยินยอมที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยร่วมที่ 1 โดยในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า “ในส่วนของจำเลยร่วมทั้งสามขอรับผิดเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของช.” ดังนั้น หาก ช. ไม่มีทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยร่วมทั้งสาม โจทก์ก็จะเรียกร้องให้จำเลยร่วมทั้งสามรับผิดไม่ได้ การที่จำเลยร่วมที่ 1 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยโจทก์ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสมรสซ้อนอยู่แล้วจึงไม่เป็นการฉ้อฉลโจทก์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมทั้งสามชำระเงินแก่โจทก์ 85,000 บาท โดยเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 2 ตุลาคม 2543 เป็นเงิน 5,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ทุกวันที่ 2 ของเดือนจนกว่าจะครบ ภายในระยะเวลา 17 เดือน แต่ต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2545 หากผิดนัดจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมทั้งสามยอมให้โจทก์บังคับคดีในยอดเงินที่เหลือได้ทันที พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันชำระเสร็จ โดยตกลงค่าทนายความ 5,000 บาท ในส่วนของจำเลยร่วมทั้งสามให้รับผิดเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของนาวาอากาศเอกชัยยุทธ ต่อมาจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมทั้งสามไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 21505 ตำบลคูขวาง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยร่วมที่ 1 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา
จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการยึดทรัพย์ดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไป
จำเลยร่วมที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้เพิกถอนการบังคับคดีที่ดินโฉนดเลขที่ 21505 ตำบลคูขวาง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีชื่อจำเลยร่วมที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างนาวาอากาศเอกชัยยุทธกับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาอ้างว่า การสมรสยังสมบูรณ์อยู่ เพราะไม่มีผู้ใดกล่าวอ้างหรือขอต่อศาลให้การสมรสเป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส เมื่อนาวาอากาศเอกชัยยุทธถึงแก่ความตาย ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทจึงตกเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่ทายาท โจทก์มีสิทธิที่จะยึดเพื่อนำไปขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1497 บัญญัติว่า “การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้” การสมรสซ้อนตามมาตรา 1452 จึงอาจเป็นโมฆะได้โดยบุคคลผู้มีส่วนได้เสียกล่าวอ้าง เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 กล่าวอ้างในคดีนี้แล้วว่าการสมรสระหว่างตนเองกับนาวาอากาศเอกชัยยุทธเป็นการสมรสซ้อน ผลก็คือทำให้การสมรสเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าว และการสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ตามมาตรา 1498 วรรคแรก ดังนั้น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส ไม่เป็นสินสมรส
ส่วนปัญหาว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทจะตกเป็นทรัพย์มรดกของนาวาอากาศเอกชัยยุทธหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องอ้างว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเป็นทรัพย์สินส่วนตัวที่จำเลยร่วมที่ 1 ซื้อหามาเอง โจทก์ยื่นคำคัดค้านแต่เพียงว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเป็นสินสมรสที่ตกทอดเป็นมรดกของนาวาอากาศเอกชัยยุทธ ไม่ได้คัดค้านว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเป็นทรัพย์สินที่นาวาอากาศเอกชัยยุทธซื้อหามาหรือร่วมกับจำเลยร่วมที่ 1 ซื้อหามา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การสมรสระหว่างนาวาอากาศเอกชัยยุทธกับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทจึงไม่ใช่สินสมรส หากแต่เป็นทรัพย์สินของจำเลยร่วมที่ 1 ฝ่ายเดียว ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทจึงไม่ตกเป็นทรัพย์มรดกของนาวาอากาศเอกชัยยุทธ ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเป็นทรัพย์สินที่นาวาอากาศเอกชัยยุทธซื้อหามาด้วยเงินของตนเองใส่ชื่อของบุตรสาวไว้ ต่อมาจึงโอนใส่ชื่อของจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยร่วมที่ 1 ไม่มีเงินหาซี้อบ้านได้ เป็นข้อที่โจทก์ไม่ได้คัดค้านและไม่ได้นำสืบต่อสู้ไว้ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยร่วมที่ 1 ทราบว่าตนเองสมรสซ้อนกับนาวาอากาศเอกชัยยุทธตั้งแต่ปี 2541 แต่มาตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์เมื่อปี 2543 เป็นการฉ้อฉลโจทก์และปิดบังข้อเท็จจริงต่อศาล ในทำนองว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น แม้ปัญหาดังกล่าวโจทก์จะไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คัดค้านมาตั้งแต่ในศาลชั้นต้นเช่นกัน แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ เห็นว่า เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาในคดีนี้ จำเลยร่วมที่ 1 ได้ยื่นคำให้การไว้อยู่แล้วว่า การสมรสระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับนาวาอากาศเอกชัยยุทธเป็นโมฆะเพราะเป็นการสมรสซ้อน โจทก์จึงทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวมาแล้วจากคำให้การของจำเลยร่วมที่ 1 แต่โจทก์ก็ยังยินยอมที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยร่วมที่ 1 โดยในข้อสัญญาข้อ 3 ยังระบุว่า “ในส่วนของจำเลยร่วมทั้งสามขอรับผิดเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของนาวาอากาศเอกชัยยุทธ ” แสดงว่าโจทก์ยินยอมรับตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวว่า หากนาวาอากาศเอกชัยยุทธมีทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยร่วมทั้งสาม โจทก์ก็อาจจะเรียกร้องเอาจากจำเลยร่วมทั้งสามได้ แต่หากนาวาอากาศเอกชัยยุทธไม่มีทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยร่วมทั้งสาม โจทก์ก็อาจจะเรียกร้องให้จำเลยร่วมทั้งสามรับผิดไม่ได้ รวมถึงอาจจะเรียกร้องให้จำเลยร่วมที่ 1 รับผิดไม่ได้ หากจำเลยร่วมที่ 1 ไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับมรดกจากนาวาอากาศเอกชัยยุทธ การที่จำเลยร่วมที่ 1 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยโจทก์ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่แล้วจึงไม่เป็นการฉ้อฉลโจทก์ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share