คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7624/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือรับชำระหนี้แทนลูกหนี้ของ บ. ที่ทำให้ไว้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่ บ. ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แทนต่อโจทก์ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์เจ้าหนี้ตกลงให้หนี้ของจำเลยที่ 1 ระงับไป จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ หนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2545 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏกับโจทก์ 80,000 บาท และธนวัฏพิเศษ 10,000 บาท โดยเบิกถอนและชำระเงินกู้ผ่านบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 โดยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.75 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในวันที่สิ้นสุดของทุกเดือนและยินยอมให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศ กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี หากครบกำหนดแล้วโจทก์หรือจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญา ให้ถือว่าสัญญากู้มีผลบังคับใช้ต่อไปอีกคราวละ 1 ปี ตามเงื่อนไขและข้อตกลงเดิม โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินกู้และชำระหนี้ให้โจทก์หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายชำระเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2547 เป็นเงิน 2,500 บาท คงมีหนี้ค้างชำระ 75,718.93 บาท และไม่ชำระอีก โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้อีกต่อไป จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย คิดถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ต้นเงิน 75,718.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2547 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 10,828.84 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 86,547.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 75,718.93 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนแล้วและโจทก์คิดดอกเบี้ยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ภายหลังจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2547 นางบุรีรัตน์หรือรัตน์ ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมรับผิดชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ พร้อมทั้งชำระหนี้แก่โจทก์ 5,000 บาท และตกลงผ่อนชำระส่วนที่เหลือเป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 2,500 บาท โดยได้ผ่อนชำระรวม 3 งวด และต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2548 นางบุรีรัตน์ยังทำหนังสือรับชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ตามจำนวนหนี้ที่ค้าง โดยขอผ่อนชำระเดือนละไม่น้อยกว่า 5,000 บาท นับแต่เดือนเมษายน 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จอันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ทำให้มูลหนี้เดิมของจำเลยที่ 1 เป็นอันระงับไป สัญญาค้ำประกันจึงระงับไปด้วย เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณืภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 86,547.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 75,718.93 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2545 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏและธนวัฏพิเศษ รวมวงเงิน 90,000 บาท จากโจทก์ โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.75 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกเดือนภายในวันสิ้นสุดของเดือนและยอมให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี หากครบกำหนดแล้วยังไม่มีการบอกเลิกสัญญาให้ถือว่าสัญญามีผลบังคับต่อไปอีกคราวละ 1 ปี ตามเงื่อนไขและข้อตกลงเดิม มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันกรุงไทยธนวัฏและหรือธนวัฏพิเศษเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2548 นางบุรีรัตน์ ภริยาของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับชำระหนี้แทนลูกหนี้ตกลงยอมเข้ารับชำระหนี้แทนลูกหนี้แก่โจทก์ ตามหนังสือรับชำระหนี้แทนลูกหนี้เอกสารหมาย ล.5 แต่นางบุรีรัตน์ไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลงคิดถึงวันฟ้องคงมีหนี้ค้างชำระเป็นต้นเงิน 75,718.93 บาท กับดอกเบี้ย 10,828.84 บาท รวม 86,547.77 บาท และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราผิดนัดร้อยละ 14.5 ต่อปี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญากู้มีการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้หรือไม่โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2547 มีการทำหนังสือแปลงหนี้ใหม่ โดยนางบุรีรัตน์ยินยอมเข้าชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และโจทก์สนองรับคำเสนอนั้น หลังจากนั้น นางบุรีรัตน์ชำระหนี้ตามหนังสือแปลงหนี้ดังกล่าว แต่โจทก์ปิดบังซ่อนเร้นไม่ยอมส่งหนังสือแปลงหนี้ดังกล่าวต่อศาล อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น ในข้อนี้จำเลยที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า หลังจากพยานถูกโจทก์แจ้งอายัดเงินในบัญชีเงินเดือนพยานแล้ว โจทก์ให้พยานติดตามจำเลยที่ 1 เพื่อมาตกลงเรื่องการชำระหนี้ที่ค้างพยานพยายามติดตามจำเลยที่ 1 แต่ไม่พบ พบแต่นางบุรีรัตน์ภริยาของจำเลยที่ 1 นางบุรีรัตน์แจ้งพยานว่าจะขอรับชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ลาออกจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด วันที่ 15 มีนาคม 2547 พยานจึงพานางบุรีรัตน์ไปทำหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ ส่วนพยานทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์เช่นเดียวกัน ตามสำเนาหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย ล.2 และนางบุรีรัตน์ผ่อนชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ในวันดังกล่าว 5,000 บาท ผ่านบัญชีของจำเลยที่ 1 ตามสำเนาใบรับฝากเงินเอกสารหมาย ล.3 หลังจากนั้น นางบุรีรัตน์ผ่อนชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 อีก 3 ครั้ง ครั้งละ 2,500 บาท ตามใบรับฝากเงินเอกสารหมาย ล.6 ต่อมาหลังจากถูกโจทก์ฟ้องพยานไปขอตรวจดูหนังสือขอรับชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ของนางบุรีรัตน์ที่ธนาคารโจทก์สาขาท่าเรือ แต่พนักงานของโจทก์แจ้งว่าไม่พบ พบแต่หนังสือรับชำระหนี้แทนลูกหนี้ของนางบุรีรัตน์ ฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2548 ตามเอกสารหมาย ล.5 พยานเห็นว่าข้อความตามหนังสือดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยการแปลงหนี้ใหม่แล้ว พยานในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเห็นว่า จำเลยที่ 2 อ้างตนเองเบิกความปากเดียวแต่เพียงลอย ๆ ว่า มีการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 1 เป็นนางบุรีรัตน์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2547 แต่ไม่มีหนังสือที่แสดงว่ามีการแปลงหนี้ใหม่ดังกล่าวมาแสดงสนับสนุน ทั้งได้ความจากหนังสือเรื่องขอส่งเอกสารของโจทก์ฉบับลงวันที่ 18 สิงหาคม 2548 ถึงศาลชั้นต้นยืนยันว่า หนังสือรับสภาพหนี้ระหว่างโจทก์กับนางบุรีรัตน์ ฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2547 ไม่มีอยู่ในระบบของธนาคารโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่ามีการทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ในวันที่ 15 มีนาคม 2547 จริงดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง ส่วนหนังสือรับชำระหนี้แทนลูกหนี้ของนางบุรีรัตน์ฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2548 ที่ทำให้ไว้แก่โจทก์นั้น เป็นกรณีนางบุรีรัตน์ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แทนต่อโจทก์ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์เจ้าหนี้ตกลงให้หนี้ของจำเลยที่ 1 ระงับไปจึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ หนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง ดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share