แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์และแขวงสีลม เขตบางรัก และแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2516 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์… ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้าย พ.ร.บ. นี้ ซึ่งปรากฏรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามบัญชีท้าย พ.ร.บ. นี้ ให้แก่กระทรวงมหาดไทย” ถ้อยคำตามตัวบทในมาตรานี้ ทำให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มุ่งประสงค์ให้ยึดถือแผนที่ท้าย พ.ร.บ. เวนคืนเป็นสำคัญในการกำหนดแนวทางเขตที่จะเวนคืนซึ่งในพื้นที่เวนคืนจะต้องมีการปักหลักเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนไว้เป็นระยะก่อนที่จะออก พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 8 วรรคสาม ของ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่มีการเวนคืนในคดีนี้ หาใช่ว่าให้ยึดถือตามจำนวนเนื้อที่ที่ดินที่ต้องเวนคืนในบัญชีท้าย พ.ร.บ. เป็นสำคัญมากกว่าแนวเขตตามแผนที่ท้าย พ.ร.บ. ดังกล่าว
แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะตั้งรูปคดีเป็นเรื่องละเมิดแต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าที่ดินพิพาทอันสืบเนื่องมาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์อันมีลักษณะเป็นคดีปกครองที่ผู้ถูกเวนคืนฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนรวมอยู่ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทถูกเวนคืนโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนในเนื้อที่ซึ่งเพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 26 วรรคสาม มาตรา 28 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ โดยดอกเบี้ยต้องไม่เกินจากคำขอของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยโดยให้จำเลยรื้อถอนทางเท้า ทางระบายน้ำ และถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ออกไปให้พ้นจากแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 5408 และเลขที่ 5409 ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา (พระโขนง) กรุงเทพมหานคร ที่เหลือจากการเวนคืนเป็นจำนวนเนื้อที่ดิน 39 ตารางวา และ 9 ตารางวา รวม 48 ตารางวา แล้วส่งมอบให้โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อย หากจำเลยไม่รื้อถอนทางเท้า ทางระบายน้ำ และถนนนราธิวาสราชนครินทร์ออกไปให้พ้นที่ดินทั้งสองแปลงไม่ว่าจะโดยเหตุสุดวิสัยหรือไม่ก็ตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยโดยให้โจทก์ทำการรื้อถอนได้เองโดยทันทีและให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด หากจำเลยไม่สามารถรื้อถอนได้ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าที่ดินจำนวน 48 ตารางวา ในราคาตารางวาละ 200,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินทำแผนที่วิวาทซึ่งคู่ความรับรองความถูกต้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนทางเท้า ทางระบายน้ำ และถนนนราธิวาสราชนครินทร์ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 5408 และเลขที่ 5409 ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา (พระโขนง) กรุงเทพมหานคร ในส่วนพิพาทที่เหลือจากการเวนคืนเป็นจำนวนเนื้อที่ 39 ตารางวา และ 9 ตารางวา ตามลำดับ ตามแนวเขตเส้นสีเขียวในแผนที่วิวาทแล้วส่งมอบให้โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 5408 และเลขที่ 5409 ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา (พระโขนง) กรุงเทพมหานคร ในส่วนพิพาทที่เหลือจากการเวนคืนเป็นจำนวน 39 ตารางวา และ 9 ตารางวา ตามลำดับ ตามแนวเขตเส้นสีเขียวในแผนที่วิวาทยังคงเป็นของโจทก์มิได้ถูกเวนคืนแต่หากจำเลยเห็นว่าเป็นการสุดวิสัยที่จะรื้อทางระบายน้ำ ทางเท้า และถนนนราธิวาสราชนครินทร์ออกไปจากที่ดินส่วนพิพาทของโจทก์ ก็ให้จำเลยชดใช้ค่าที่ดินให้แก่โจทก์แทนเป็นเงิน 8,640,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยจำนวน 199,900 บาท ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จำนวน 1,500 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายเรือง ผู้เป็นบิดาตามคำสั่งถึงที่สุดของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 10301/2534 และโจทก์มอบอำนาจให้นายรังสรรค์ เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน นายเรืองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5408 และเลขที่ 5409 ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา (พระโขนง) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวา และเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 54 ตารางวา ตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2499 ในปี 2506 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ ตำบลสีลม อำเภอบางรัก และตำบลยานนาวา ตำบลทุ่งมหาเมฆ ตำบลทุ่งวัดดอน ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร พ.ศ.2506 มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาอีกฉบับกำหนดแนวที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนดังกล่าวอีกจนถึงปี 2511 โดยกรมโยธาธิการได้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับเรื่อยมาจนกระทั่งได้มีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลม เขตบางรัก และแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอนและแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2516 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 12 ตุลาคม 2516 เพื่อก่อสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำในท้องที่ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งต่อมาได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2539 แล้วตั้งชื่อว่า ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ โดยบางส่วนของที่ดินของนายเรืองทั้งสองแปลงอยู่ในแนวเขตเวนคืนตามสำเนาพระราชบัญญัติฯ แผนที่และรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายท้ายพระราชบัญญัติฯ ซึ่งตามบัญชีรายชื่อเจ้าของที่ดินที่ต้องเวนคืนท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้กำหนดให้ที่ดินของนายเรืองโฉนดที่ดินเลขที่ 5408 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 3 งาน และโฉนดที่ดินเลขที่ 5409 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 3 งาน 59 ตารางวา ก่อนที่จะมีการจ่ายเงินค่าทดแทนการเวนคืน นายเรืองได้ดำเนินการยื่นคำขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง ในส่วนที่ไม่ถูกเวนคืนเพื่อจะขายที่ดินส่วนดังกล่าวให้แก่นายไพโรจน์ โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 5408 ถูกแยกออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 189839 เนื้อที่ 1 งาน 68 ตารางวา ทำให้มีเนื้อที่คงเหลือจำนวน 3 งาน 39 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 5409 ถูกแบ่งออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 189840 เนื้อที่ 1 งาน 86 ตารางวา ทำให้มีเนื้อที่คงเหลือจำนวน 3 งาน 68 ตารางวา และในวันที่ 11 สิงหาคม 2529 นายเรืองได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่แบ่งแยกออกมาใหม่ทั้งสองแปลงแก่นายไพโรจน์ตามสำเนาสัญญาจะซื้อจะขายแล้วโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2530 ต่อมากรมโยธาธิการได้โอนหน้าที่การเวนคืนและการก่อสร้างตามโครงการดังกล่าวให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยได้ตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์เพื่อกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนในปี 2531 โดยคณะกรรมการฯ ได้พิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโดยถือเอาเนื้อที่ที่ดินที่จะเวนคืนตามบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ต้องเวนคืนท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์… พ.ศ.2516 เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดิน แต่คณะกรรมการฯ มีมติไม่จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งสองแปลงให้แก่นายเรือง นายเรืองจึงฟ้องเรียกเก็บเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 5409 เนื้อที่ 3 งาน 59 ตารางวา จนคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539 ให้จำเลยชดใช้เงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่นายเรืองตามจำนวนเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนในอัตราตารางวาละ 8,500 บาท และนายเรืองชัย ผู้จัดการมรดกของนายเรืองฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 5408 เนื้อที่ 3 งาน จนคดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2538 ให้จำเลยชดใช้เงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่นายเรืองชัยตามจำนวนเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนในอัตราตารางวาละ 10,000 บาท แต่จากการรังวัดออกโฉนดที่ดินใหม่สำหรับที่ดินที่ไม่ถูกเวนคืนให้แก่นายเรืองโดยเจ้าพนักงานที่ดิน ปรากฏว่าเนื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินเดิมเลขที่ 548 และเลขที่ 5409 คงเหลือเนื้อที่จำนวน 3 งาน 39 ตารางวา มิใช่ 3 งาน และ 3 งาน 68 ตารางวา มิใช่ 3 งาน 59 ตารางวา ซึ่งมากกว่าเนื้อที่ที่ระบุไว้ในบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ต้องเวนคืนท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจำนวน 39 ตารางวา และ 9 ตารางวา ตามลำดับ ซึ่งเนื้อที่ดินทั้งสองแปลงรวมกัน 48 ตารางวา จะเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธงอยู่บนทางเท้า และบางส่วนของพื้นที่อันเป็นถนนนราธิวาสราชนครินทร์ซึ่งจำเลยได้ก่อสร้างขึ้นปรากฏตามแผนที่วิวาท สำหรับที่ดินซึ่งเพิ่มขึ้นจากการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินจำนวน 48 ตารางวานี้ จำเลยเห็นว่าเป็นที่ดินที่อยู่ในแนวเขตเวนคืน แต่ฝ่ายโจทก์อ้างว่าเป็นที่ดินของนายเรือง จำเลยจึงนำเงินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 โดยคิดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 5408 ในอัตราตารางวาละ 10,000 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 5409 ในอัตราตารางวาละ 8,500 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่ดิน 466,500 บาท โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานวางทรัพย์กลางได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว แต่โจทก์คัดค้านการวางทรัพย์และฟ้องขับไล่จำเลยให้จำเลยรื้อถอนทางเท้า ทางระบายน้ำ และถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ออกไปจากที่ดินพิพาท หากไม่รื้อถอนให้ใช้ค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเรืองและพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนทางเท้า ทางระบายน้ำและถนนนราธิวาสราชนครินทร์ออกไปจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยแต่ยกคำขอในเรื่องค่าเสียหาย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ แต่พิพากษาแก้เป็นว่า หากเป็นการสุดวิสัยที่จำเลยจะรื้อถอนทางเท้า ทางระบายน้ำและถนนนราธิวาสราชนครินทร์ออกไปจากที่ดินพิพาทก็ให้จำเลยชดใช้ค่าที่ดินให้แก่โจทก์เป็นเงิน 8,640,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 48 ตารางวา ตามรูปที่ดินในแผนที่วิวาทถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์… พ.ศ.2516 โดยชอบหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า เนื้อที่ดินที่ปรากฏในบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์… พ.ศ.2516 เป็นเพียงเนื้อที่ประมาณการ เนื่องจากเป็นการคำนวณค่าจากการวัดระยะในแผนที่แนบท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์… พ.ศ.2516 ขนาดมาตราส่วน 1 : 4,000 ซึ่งมีโอกาสที่จะคลาดเคลื่อนได้สูงจะต้องอาศัยการวัดระยะและคำนวณเนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืน และส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครโดยยึดแผนที่หรือแผนผังท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ง… พ.ศ.2516 และหลักหมายเขตที่ดินที่ปักไว้ก่อนออกพระราชบัญญัติมาประกอบจึงจะทราบเนื้อที่ที่ดินที่ถูกเวนคืนที่แท้จริงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินสองแปลงของโจทก์ใหม่ได้เนื้อที่ที่ดินเพิ่มขึ้นอีกรวม 48 ตารางวา ที่อยู่ในแนวเขตเวนคืนตามแผนที่ท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์… พ.ศ.2516 อันเป็นที่ดินพิพาท ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงถูกเวนคืนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์… พ.ศ.2516 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์… ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งปรากฏรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ให้แก่กระทรวงมหาดไทย” ถ้อยคำตามตัวบทในมาตรานี้ ทำให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มุ่งประสงค์ให้ยึดถือแผนที่ท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนเป็นสำคัญในการกำหนดแนวเขตทางที่จะเวนคืนซึ่งในพื้นที่เวนคืนจะต้องมีการปักหลักเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนไว้เป็นระยะก่อนที่จะออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 8 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะมีการเวนคืนในคดีนี้ หาใช่ว่าให้ยึดถือตามจำนวนเนื้อที่ที่ดินที่ต้องเวนคืนในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเป็นสำคัญมากกว่าแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในข้อนี้จำเลยมีว่าที่ร้อยตรีสุทัศน์ เจ้าหน้าที่เวนคืนโครงการช่องนนทรีเป็นพยานเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านเกี่ยวกับหลักปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวว่า ก่อนที่จะออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น จะต้องมีการสำรวจที่ดินก่อนว่ามีที่ดินกี่แปลงที่ถูกเวนคืน จากนั้นจะมีการคำนวณเนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนโดยพิจารณาจากแผนที่ระวางปูโฉนด ในแผนที่ระวางนั้นจะขีดแนวเขตเวนคืนให้ตรงกัน ซึ่งผลของการปฏิบัติดังกล่าวอาจจะทำให้เนื้อที่ตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนคลาดเคลื่อนได้ เพราะมาตราส่วนมีขนาดละเอียดมาก นอกจากนี้จำเลยยังมีนายบัญญัติ ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 4 สำนักงานการโยธากรุงเทพมหานคร เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยืนยันว่า การทำถนนยึดถือแนวเขตเวนคืนในรูปแผนที่ท้ายพระราชบัญญัติเป็นหลัก โดยดูจากหลักแนวเขตเวนคืนซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำไว้ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 ตามที่โจทก์นำสืบ ได้ความจากนายไพโรจน์ พยานจำเลยว่าต้นปี 2529 นายเรืองเสนอขายที่ดินโฉนดเลขที่ 189839 และเลขที่ 189840 ในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนให้แก่พยานโดยนายเรืองบอกพยานว่าที่ดินดังกล่าวจะติดถนนตัดใหม่ ทั้งพยานและนายเรืองทราบว่าในการเวนคืนที่ดินจำต้องมีที่ดินเวนคืนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงจึงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายโดยกำหนดข้อตกลงดังกล่าวไว้ด้วย ศาลฎีกาตรวจดูสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว เห็นว่า ในข้อ 8 ของหนังสือสัญญาดังกล่าว นายเรืองและนายไพโรจน์ตกลงกันว่า นายเรืองจะแบ่งขายที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนทั้งหมดในราคาตารางวาละ 8,500 บาท เป็นจำนวนเงินเท่าใดนั้น คิดกันเมื่อทราบเนื้อที่หลังจากทางราชการได้กำหนดเนื้อที่เวนคืนเรียบร้อยแล้ว จากถ้อยคำของนายไพโรจน์และหนังสือสัญญาดังกล่าว เชื่อได้ว่านายเรืองและนายไพโรจน์ทราบแล้วว่าจำนวนเนื้อที่ที่ดินทั้งสองแปลงของนายเรืองที่ถูกเวนคืนตามที่ระบุไว้ในบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ต้องเวนคืนท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์… พ.ศ.2516 เป็นเพียงเนื้อที่ประมาณการแนวเขตที่ดินที่ถูกเวนคืนจะอยู่ติดกับถนนที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่ ยิ่งกว่านั้นในการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5408 และเลขที่ 5409 ของนายเรืองส่วนที่ไม่ถูกเวนคืนเพื่อขายให้แก่นายไพโรจน์นั้น นายเรืองก็ได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือแจ้งให้กรมโยธาธิการสั่งเจ้าหน้าที่มาร่วมระวังแนวเขตที่ดินที่เวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์… พ.ศ.2516 ด้วยตามสำเนาบันทึกถ้อยคำ และได้ความจากนายโกวิท พยานจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน หัวหน้าฝ่ายรังวัด สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ในขณะนั้นเบิกความว่า เจ้าหน้าที่เวนคืนของกรมโยธาธิการจะไปชี้ระวังแนวเขตเวนคืนตามหลักเขตเวนคืนที่ปักไว้ โดยเจ้าหน้าที่เวนคืนของกรมโยธาธิการจะชี้แนวเขตเวนคืนตามหลักเขตเวนคืนที่ปักไว้ตามแผนที่ท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์… พ.ศ.2516 เป็นเหตุให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 5408 และเลขที่ 5409 ภายหลังการรังวัดแบ่งแยกที่ดินซึ่งไม่อยู่ในแนวเขตเวนคืนออกไปมีเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนมากกว่าเนื้อที่ที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้นโดยไม่ปรากฏว่านายเรืองได้คัดค้านการรังวัดว่าไม่ถูกต้อง แต่กลับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 189839 และเลขที่ 189840 ที่ได้จากรังวัดแบ่งแยกดังกล่าวให้แก่นายไพโรจน์อันเป็นข้อบ่งชี้ที่นายเรืองยอมรับว่า ที่ดินเนื้อที่ 48 ตารางวา อันเป็นที่พิพาทอยู่ภายในแนวเขตเวนคืนตามแผนที่ท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์… พ.ศ.2516 ด้วยเหตุนี้ พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 48 ตารางวาตามรูปที่ดินในแผนที่วิวาท ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์… พ.ศ.2516 โดยชอบแล้ว ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2516 อันเป็นวันใช้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าวตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 มาตรา 10 จำเลยซึ่งรับโอนหน้าที่การเวนคืนและการก่อสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำจากกรมโยธาธิการกระทรางมหาดไทยจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและให้จำเลยรื้อถอนทางเท้า ทางระบายน้ำ กับถนนนราธิวาสราชนครินทร์ออกไปจากที่ดินพิพาท ทั้งไม่มีสิทธิขอให้จำเลยชดใช้ค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยในกรณีที่การรื้อถอนเป็นอันพ้นวิสัยตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา โจทก์คงมีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายเท่านั้น ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทเนื้อที่ 48 ตารางวา เป็นจำนวนเท่าใด จึงจะเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมนั้น ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในข้อนี้ เห็นว่า ที่ดินของนายเรืองที่ถูกเวนคืนทั้งสองแปลงอยู่ติดคลองช่องนนทรีตามที่ปรากฏในสำเนารูปแผนที่ หลังจากมีการเวนคืนที่ดินดังกล่าวและคณะกรรมการมีมติไม่จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งสองแปลงโดยเห็นว่าที่ดินที่เหลือมีราคาสูงขึ้นและนายเรืองได้ฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 5409 ในเนื้อที่ 3 งาน 59 ตารางวา และนายเรืองชัยผู้จัดการมรดกของนายเรืองฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 5409 เนื้อที่ 3 งาน ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินค่าทดแทนที่ดินสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 5408 ให้แก่นายเรืองในราคาตารางวาละ 8,500 บาท และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำเลยชดใช้เงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 5408 ในราคาตารางวาละ 10,000 บาท แสดงว่าศาลในคดีดังกล่าวเห็นว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนในอัตราดังกล่าวเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว ซึ่งจำเลยก็ยอมรับและนำเงินค่าทดแทนที่ดินสำหรับจำนวนเนื้อที่ที่เพิ่มขึ้นไปวางให้แก่โจทก์ที่สำนักงานวางทรัพย์กลางแล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมในอัตราเท่ากันกับที่นายเรืองและนายเรืองชัยผู้จัดการมรดกของนายเรืองเคยได้รับในคดีก่อน โดยกำหนดให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 5408 ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 10,000 บาท ที่ดินส่วนที่เพิ่มขึ้นมีเนื้อที่ 39 ตารางวา คิดเป็นเงิน 390,000 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 5409 ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 8,500 บาท ที่ดินส่วนที่เพิ่มขึ้นมีเนื้อที่ 9 ตารางวา คิดเป็นเงิน 76,500 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงจำนวน 466,500 บาท ถึงแม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะตั้งรูปคดีเป็นเรื่องละเมิดแต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าที่ดินพิพาทอันสืบเนื่องมาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์อันมีลักษณะเป็นคดีปกครองที่ผู้ถูกเวนคืนฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดิ่นที่ถูกเวนคืนรวมอยู่ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทถูกเวนคืนโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนในเนื้อที่ซึ่งเพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคสาม มาตรา 28 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ได้ โดยดอกเบี้ยต้องไม่เกินจากคำขอของโจทก์ ปัญหาอื่นนอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 5408 และเลขที่ 5409 ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา (พระโขนง) กรุงเทพมหานคร ในส่วนพิพาทเนื้อที่ 39 ตารางวา และ 9 ตารางวา ตามลำดับ ตามแนวเขตเส้นสีเขียวในแผนที่วิวาท เอกสารหมาย จ.15 ถูกเวนคืนโดยชอบด้วยกฎหมาย ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ขอให้ขับไล่จำเลย แต่ให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 466,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องคือวันที่ 4 มีนาคม 2542 ตามที่โจทก์ขอจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้โจทก์ไปขอรับชำระจากเงินที่จำเลยวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีก่อน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์