คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์แซงปาดหน้าให้รถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมหยุดแล้วชิงทรัพย์และขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปนั้น เป็นพฤติการณ์ที่ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด พาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2543 เวลากลางวัน จำเลยลักเงินสด 1,000 บาท ของนายโพธิรัต ผู้เสียหาย โดยขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการใช้มือตบผู้เสียหาย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ การพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น หรือยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ และโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด พาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม เหตุเกิดที่ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340 ตรี และให้จำเลยคืนเงิน 1,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายโพธิรัต ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 5 ปี และให้จำเลยคืนเงิน 1,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 13 นาฬิกา โจทก์ร่วมขับรถจักรยานยนต์ออกจากวิทยาลัยเทคนิคยะลาไปตามถนนห่างออกไปประมาณ 100 เมตร จำเลยขับรถจักรยานยนต์ตามมาแล้วแซงปาดหน้าพร้อมกับบอกให้หยุดรถ โจทก์ร่วมหยุดรถ จำเลยพูดว่า มีเงินไหม โจทก์ร่วมบอกว่า ไม่มี จำเลยยกมือจะตบโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมกลัวจึงยื่นเงิน 1,000 บาท ให้จำเลย จำเลยรับเงินแล้วขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป ก่อนเกิดเหตุจำเลยเคยขอเงินโจทก์ร่วมโดยครั้งแรกได้เงินไป 50 บาท ครั้งที่สองได้เงินไป 100 บาท ต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2543 โจทก์ร่วมพบจำเลยที่สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา จึงร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจและชี้ให้จับจำเลย เห็นว่า พฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมเคยเห็นจำเลยมาก่อนและเหตุเกิดเวลากลางวันเชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมสามารถจดจำหน้าจำเลยได้แม่นยำเพราะต่อมาอีก 9 วัน ทันทีที่โจทก์ร่วมพบจำเลยที่สถานีตำรวจก็ร้องทุกข์และชี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยเหตุที่โจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ทันทีหลังเกิดเหตุหรือร้องทุกข์ล่าช้าอาจเป็นเพราะโจทก์ร่วมไม่รู้ชื่อจำเลยก็เป็นได้ และที่โจทก์ร่วมไม่ร้องให้บุคคลอื่นช่วยเหลืออาจเป็นเพราะจำเลยเป็นคนที่โจทก์ร่วมเคยเห็นหน้าและขอเงินโจทก์ร่วมมาก่อน ทั้งจำเลยยอมรับว่าไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ร่วม จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าโจทก์ร่วมจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย ส่วนโจทก์ร่วมจะสร้างเรื่องเท็จปรักปรำจำเลยเพราะเป็นเพื่อนสนิทกับนายธวัชชัยซึ่งเป็นผู้ต้องหาทำร้ายร่างกายจำเลยเพื่อเป็นเครื่องมือต่อรองการเจรจาเรื่องจะชดใช้ค่าเสียหาย 50,000 บาท แก่จำเลยนั้นก็ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ร่วมจะยอมเสี่ยงต่อการที่ตนเองจะได้รับโทษทางอาญา และที่โจทก์ร่วมว่าเกิดเหตุเวลาประมาณ 13 นาฬิกา พนักงานสอบสวนว่ารับแจ้งว่าเกิดเหตุเวลาประมาณ 13.40 นาฬิกา แต่บันทึกการจับกุมระบุว่าเหตุเกิดเวลาประมาณ 14.30 นาฬิกา เป็นเรื่องการกะประมาณมิใช่การแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ดังนั้น แม้มีโจทก์ร่วมเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวก็ตาม แต่พยานปากนี้ก็เบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประกอบด้วยเหตุผล และหามีพิรุธทำให้มีข้อน่าสงสัยแต่อย่างใดไม่ ตามที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงปราศจากสงสัยรับฟังได้ว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยลักเงิน 1,000 บาท ของโจทก์ร่วมโดยขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ การพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น หรือยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ส่วนที่จำเลยนำสืบปฏิเสธโดยอ้างฐานที่อยู่ว่า ในวันเกิดเหตุเวลา 11 นาฬิกา จำเลยกับนายธวัชชัยนัดเจรจากันที่สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา เรื่องนายธวัชชัยทำร้ายร่างกายจำเลย แต่นายธวัชชัยไม่ไปพบ เวลา 13 นาฬิกา จำเลยไปสถานีตำรวจอีกและแจ้งต่อพันตำรวจตรีเทวินทร์ว่า นายธวัชชัยหลบหนี แล้วจำเลยกลับไปที่โต๊ะสนุกเกอร์คิวทองพบสิบตำรวจเอกชัยวัฒน์ เพื่อขอให้จับนายธวัชชัยต่อมาสิบตำรวจโทวิบูลย์ เข้ามาแล้วพร้อมด้วยจำเลยพากันไปถึงบ้านนายธวัชชัยเวลา 14 นาฬิกา คงพบแต่ภริยานายธวัชชัย จึงฝากบอกนายธวัชชัยให้ไปสถานีตำรวจ จนเวลา 15 นาฬิกา นายธวัชชัยกับพวกอีก 3 ถึง 4 คน ไปที่สถานีตำรวจแต่พูดคุยคับจำเลยไม่รู้เรื่อง จึงแยกย้ายกันกลับ โดยมีสิบตำรวจโทวิบูลย์เป็นพยานเบิกความสนับสนุน เห็นว่า นายธวัชชัยใช้มีดฟันจำเลยจนได้รับอันตรายสาหัสซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดินในปี 2541 โดยไม่มีการร้องทุกข็ นายธวัชชัยเพิ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2543 แล้วจะให้เจ้าพนักงานตำรวจจัดให้มีการเจรจาเรื่องค่าเสียหายที่สถานีตำรวจได้อย่างไร การเจรจาเรื่องค่าเสียหายคงเกิดขึ้นหลังร้องทุกข์และจับกุมนายธวัชชัยมากกว่า ข้ออ้างเรื่องฐานที่อยู่ของจำเลยจึงไม่น่าเชื่อและไม่มีน้ำหนักสามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์แซงปาดหน้าให้รถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมหยุดแล้วชิงทรัพย์และขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปนั้น เป็นพฤติการณ์ที่ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิดพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี และเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่เป็น จำคุก 7 ปี 6 เดือน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่า จำเลยใช้รถจักรยานยนต์เป็นเพียงยานพาหนะในการขับไปและขับมายังที่เกิดเหตุ มิใช่ชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี จำคุก 7 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share