คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องด้วยข้อยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ที่โจทก์สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้ โจทก์ต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาตามยอมให้คู่ความฟัง คือภายในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ กลับยื่นคำร้องลงวันที่ 13 มกราคม 2549 ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะ ความมุ่งหมายของโจทก์ก็คือต้องการให้คำพิพากษาตามยอมเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ มีผลเป็นอย่างเดียวกับการขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอม ซึ่งไม่มีบทกฎหมายใดให้โจทก์กระทำเช่นนั้นได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของโจทก์จึงชอบแล้ว ส่วนคำพิพากษาตามยอมย่อมเป็นอันถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง โจทก์ไม่อาจอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้อีก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547
ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2549 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะ โดยอ้างว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง
จำเลยยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียม (ที่ถูกค่าคำร้อง) ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ที่โจทก์สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้ โจทก์ต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาตามยอมให้คู่ความฟัง คือภายในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ กลับยื่นคำร้องลงวันที่ 13 มกราคม 2549 ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะ ความมุ่งหมายของโจทก์ก็คือต้องการให้คำพิพากษาตามยอมเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ มีผลเป็นอย่างเดียวกับการขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอม ซึ่งไม่มีบทกฎหมายใดให้โจทก์กระทำเช่นนั้นได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของโจทก์จึงชอบแล้ว ส่วนคำพิพากษาตามยอมย่อมเป็นอันถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตา 147 วรรคสอง โจทก์ไม่อาจอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้อีก ฉะนั้น ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อย่างไร ก็ไม่อาจมีผลกระทบถึงคำพิพากษาตามยอมซึ่งถึงที่สุดแล้วได้ ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง”
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่โจทก์ ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share