แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาร้องทุกข์และฟ้องร้องไว้ จึงต้องกำหนดนับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 21 วรรค 2 เป็นบทบัญญัติในการคำนวณระยะเวลาจำคุกเท่านั้น
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนมีใจความเดียวกันว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันเขียนข้อความลงในกระดาษใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ว่าทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฉ้อราษฎร์บังหลวงขอให้ลงโทษและใช้ค่าสินไหมทดแทน ๑๐,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ จำคุกคนละ ๖ เดือน ปรับคนละ ๓๐๐ บาท ลดโทษให้ตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๔ เดือน ปรับ ๒๐๐ บาท โทษจำให้รอไว้ ๒ ปี และให้ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน ๑,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา ๓๒๘ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทราบว่าจำเลยใส่ความโจทก์เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๖ โจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือน และได้นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ ซึ่งเป็นวันพ้นกำหนดเวลา ๓ เดือนไปแล้ว คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๑ วรรค ๒
ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๑ วรรค ๒ นั้น ได้บัญญัติขึ้นเพื่อใช้ในการคำนวนระยะเวลาจำคุกเท่านั้น ส่วนคดีนี้เป็นการนับเวลาที่จะร้องทุกข์หรือฟ้องคดีในความผิดต่อส่วนตัว เมื่อไม่มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะในประมวลกฎหมายอาญาก็ต้องใช้กำหนดระยะเวลาดังที่ได้บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖ และมาตรา ๑๕๘ บัญญัติมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมคำนวณเข้าด้วย ฉะนั้น เมื่อผู้เสียหายรู้เรื่องกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตั้งแต่วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๖ และได้ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ จึงครบกำหนดเวลา ๓ เดือนพอดี คดีไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย