คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2472/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิด ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ก็ไม่มีเหตุที่จะสั่งคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจำนวน 9,700 บาท แก่โจทก์ เพราะศาลชั้นต้นยังคงต้องพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อยู่ เนื่องจากจำเลยที่ 2 มิได้ประนีประนอมยอมความด้วย การที่ศาลชั้นต้นสั่งคืนค่าขึ้นศาลดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำนวนทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 649,192.62 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) พร้อมสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยที่ 1 ยอมชำระหนี้โจทก์จำนวน 774,791.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 649,192.62 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ผ่อนชำระหนี้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 13,000 บาท ก่อนวันที่ 27 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกเดือนพฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปแต่ทั้งนี้จะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 18 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืน ส่วนค่าทนายความให้เป็นพับ หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 351 ตำบลศรีเมืองชุม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย รวมตลอดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2538 ขอให้ศาลพิพากษาตามยอม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2538 คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์จำนวน 9,700 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 774,791.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 649,192.62 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ก่อนศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากโจทก์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า วันที่ 19 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินธนาคารโจทก์สาขาแม่สาย 1,500,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปี เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 851 ตำบลศรีเมืองชุม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์เป็นเงิน 580,000 บาท จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์จึงนำเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 จำนวน 936,041.50 บาท หักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เมื่อคิดถึงวันฟ้อง จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระต้นเงิน 649,192.62 บาท และดอกเบี้ย 125,599.24 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 774,791.86 บาท จำเลยที่ 2 ได้ฟ้องโจทก์กับนายจักราเป็นคดีอาญาข้อหาฉ้อโกง ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ยกฟ้องตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3367-3368/2546 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2546 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 กับโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายอนุภาส พนักงานของโจทก์ซึ่งลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเป็นพยานเบิกความว่า ตามสัญญาค้ำประกันระบุว่า จำเลยที่ 2 มีเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย โดยจำเลยที่ 2 นำหลักฐานมาให้พยานกรอกข้อความ และจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อต้นปี 2536 นายจักราได้ชวนจำเลยที่ 2 ไปซื้อที่ดินตำบลศรีเมืองชุม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายโดยบอกให้จำเลยที่ 2 ลงทุนซื้อที่ดินในราคาตารางละ 900 บาท แล้วนำมาขายในราคาตารางละ 2,000 บาท นายจักราจะเป็นผู้ดำเนินการให้โดยขอค่าดำเนินการตารางละ 400 บาท ส่วนที่เหลือเป็นของจำเลยที่ 2 เงินที่ได้จากการขายที่ดินจะนำเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารโจทก์ เวลานั้นจำเลยที่ 2 เขียนหนังสือไทยไม่ได้ ได้แต่ลงลายมือชื่อ เดือนกรกฎาคม 2536 มีการขายที่ดินและนำเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยที่ 2 เห็นว่า เงินฝากครบ 3 เดือน จะไปเบิกเงินจากบัญชี เมื่อไปที่ธนาคารจึงทราบว่าไม่มีเงินอยู่ในบัญชีแล้ว เจ้าหน้าที่ธนาคารบอกจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ไปค้ำประกันลูกค้ารวม 13 ราย แล้วลูกค้าไม่ชำระหนี้ให้ธนาคาร ธนาคารจึงได้ตัดบัญชีของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกัน โดยไม่ทราบเรื่องว่าเป็นการค้ำประกันและจำนอง หลังจากทราบเรื่องแล้วจำเลยที่ 2 จึงไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์กับนายจักราในข้อหาฉ้อโกง ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล เห็นว่า คดีดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้ฟ้องโจทก์กับนายจักรา เป็นจำเลยและศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์กับนายจักราฉ้อโกงจำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างจำเลยที่ 2 ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกค้าซื้อที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 851 ตำบลศรีเมืองชุม จากจำเลยที่ 2 ให้ไปจดทะเบียนจำนองที่สำนักงานที่ดิน จังหวัดเชียงราย สาขาแม่สาย เพื่อเป็นประกันเงินกู้ 1,500,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจากโจทก์ตามสัญญาจำนอง โดยจดทะเบียนจำนองไว้เพียง 580,000 บาท ที่ดิน น.ส.3 ก. ซึ่งเป็นหลักประกันของจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ครอบคลุมวงเงินกู้ 1,500,000 บาท ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนขายที่ดินให้จำเลยที่ 1 จึงได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ และยินยอมให้โจทก์นำเงินฝากจากบัญชีของจำเลยที่ 2 หักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ เงินฝากดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยที่ 2 ได้รับชำระราคาที่ดินจากลูกค้า จำเลยที่ 2 จึงมีความเกี่ยวพันกับจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 จะต้องเข้าไปค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ หาใช่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการค้ำประกันดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ จำเลยที่ 2 ยอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ำประกันแต่พิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไปเพราะถูกหลอกลวงดังที่กล่าวอ้างพยานจำเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังมาหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้จริง จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิด จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ไม่มีเหตุที่จะสั่งคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจำนวน 9,700 บาท แก่โจทก์ เพราะศาลชั้นต้นยังคงต้องพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อยู่เนื่องจากจำเลยที่ 2 มิได้ประนีประนอมยอมความด้วย การที่ศาลชั้นต้นสั่งคืนค่าขึ้นศาลดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังไม่ได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน แต่ไม่คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจำนวน 9,700 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

Share